‘แอร์เอเชีย’ ดัน ‘กรุงเทพฯ’ ฮับบินโลก เทียบชั้นดูไบ ลุยขยายฝูงบินในไทย 150 ลำ

‘แอร์เอเชีย’ ดัน ‘กรุงเทพฯ’ ฮับบินโลก เทียบชั้นดูไบ ลุยขยายฝูงบินในไทย 150 ลำ

เจ้าพ่อสายการบินโลว์คอสต์ 'โทนี่ เฟอร์นานเดส' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แคปิตอล เอ (Capital A) ผู้ก่อตั้ง 'กลุ่มแอร์เอเชีย' เข้าพบ 'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ 10 ม.ค. เพื่อยืนยันว่าถึงเวลาแล้วที่ 'กรุงเทพฯ' จะเป็นฮับการบินของโลก

หรือ “Next Dubai” เปรียบเหมือนมีนครดูไบตั้งอยู่ในอาเซียน เพื่อเชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังทุกที่ในโลก!

จากปัจจุบันกลุ่มแอร์เอเชีย มีธุรกิจสายการบินใน 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นตลาดที่มี “ยอดขายดีที่สุด” (Best Performance) ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และล่าสุดกำลังจะเปิดสายการบินในกัมพูชาเป็นประเทศที่ 5 ภายใต้ชื่อ “แอร์เอเชีย กัมพูชา” จะเปิดเดือน มี.ค. 2567

“เราอยากปั้นกรุงเทพฯ เป็นฮับการบินใหญ่ของโลกเทียบเท่านครดูไบ หรือ Next Dubai จากศักยภาพด้านจำนวนประชากรในอาเซียนที่มีกว่า 700 ล้านคน แต่สนามบินของไทยคงไม่โตข้ามคืน ถ้ามีการขยายสนามบินในอนาคต เราอยากให้ออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ความต้องการของสายการบินโลว์คอสต์ด้วย”

ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ออกมาตรการอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า ภายใต้การนำของรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ โดยหลังจากการหารือร่วมกันครั้งนี้ กลุ่มแอร์เอเชียจะยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการถึงนายกฯ เศรษฐา ใน 3 ประเด็นหลัก

‘แอร์เอเชีย’ ดัน ‘กรุงเทพฯ’ ฮับบินโลก เทียบชั้นดูไบ ลุยขยายฝูงบินในไทย 150 ลำ

เรื่องแรกคือ “ขอลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับเครื่องบินไอพ่น 40%” จากปัจจุบันจัดเก็บอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดใน 4 ประเทศที่กลุ่มแอร์เอเชียให้บริการ โดยมาเลเซียและอินโดนีเซียไม่มีการจัดเก็บภาษีนี้ ส่วนฟิลิปปินส์จัดเก็บในอัตรา 2.48 บาทต่อลิตร ด้านเวียดนาม แม้กลุ่มแอร์เอเชียจะไม่มีการตั้งสายการบินในเวียดนาม แต่ทราบมาว่าจัดเก็บที่อัตรา 1.4 บาทต่อลิตร

“การลดอัตราภาษีสรรพสามิตฯ จะช่วยกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ไม่ใช่แค่เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถกระจายการเดินทางไปยังเมืองใหม่ๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯและภูเก็ต”

นอกจากนี้ “ขอคงอัตราค่าบริการการเดินอากาศ” ของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (วบท.) ไว้เท่าเดิม เพื่อช่วยผู้ประกอบการสายการบินลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสายการบินและผู้โดยสารโดยตรง ขณะเดียวกันต้องการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เร่งเจรจา “ขอเพิ่มสิทธิการบิน” ในเส้นทางบินระหว่าง “ไทย-อินเดีย” ด้วย

‘แอร์เอเชีย’ ดัน ‘กรุงเทพฯ’ ฮับบินโลก เทียบชั้นดูไบ ลุยขยายฝูงบินในไทย 150 ลำ

ธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ระบุว่า จากจำนวนเครื่องบินที่กลุ่มแอร์เอเชียสั่งเพิ่มกว่า 412 ลำ ซึ่งจะทยอยรับมอบในระยะยาว โดยกว่า 25% ของจำนวนเครื่องบินทั้งหมดที่สั่งไปนั้น หรือประมาณ 100-150 ลำ จะนำมาปฏิบัติการบินในประเทศไทย

จากปัจจุบันสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” (รหัสเที่ยวบิน FD) มีฝูงบินรวม 57 ลำ นำไปทำการบินจริง 51 ลำ ส่วนอีก 6 ลำอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง เฉพาะในปี 2567 จะรับมอบแอร์บัส A321 อีก 3 ลำ ทำให้ไทยแอร์เอเชียมีฝูงบินทั้งหมด 60 ลำ ตั้งเป้าสิ้นปี 2567 มีจำนวนผู้โดยสาร 20-21 ล้านคน ยังน้อยกว่าจำนวนเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดซึ่งปิดที่ตัวเลข 22 ล้านคน แต่ก็ถือว่าดีกว่าปี 2566 ที่มีจำนวน 18 ล้านคน

ด้านสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” (รหัสเที่ยวบิน XJ) จะเพิ่มขนาดฝูงบินเป็น 10 ลำ จากปัจจุบันมี 6 ลำ โดยในปี 2567 จะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A330-300 อีก 4 ลำใหม่ เพื่อนำไปทำการบินเส้นทางใหม่สู่เอเชียกลาง เช่น เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตทำการบิน ส่วนประเทศจอร์เจีย ที่เคยทำการบินก่อนหน้านี้ แต่หยุดบินไปชั่วคราว เมื่อเครื่องบินพร้อม ก็จะกลับไปทำการบินอีกครั้ง

ขณะเดียวกันจะนำเครื่องบินไปเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ของประเทศจีน และกลับไปเปิดเส้นทางบินสู่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ในปลายปี 2567 ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ไป “ยุโรป” เป็นครั้งแรก! ขณะนี้กำลังศึกษาหลายเส้นทางสู่ยุโรปตะวันออก ได้แก่ ปราก บูดาเปสต์ โรม มิลาน และเวียนนา

“สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าดึงเข้ามาเที่ยวไทย 8 ล้านคน ส่วนตัวคาดว่าน่าจะได้ 5 ล้านคน โดยในช่วง 2 เดือนแรก ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ. มียอดจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าเส้นทางไทย-จีน อยู่ที่ 37% ถือว่าดี”

‘แอร์เอเชีย’ ดัน ‘กรุงเทพฯ’ ฮับบินโลก เทียบชั้นดูไบ ลุยขยายฝูงบินในไทย 150 ลำ

ธรรศพลฐ์ กล่าวด้วยว่า ตามที่กลุ่มแอร์เอเชียประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจสายการบินเมื่อวันที่ 8 ม.ค. เรื่องการควบรวมสายการบินแอร์เอเชีย และสายการบินแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ของทางมาเลเซีย สำหรับฝั่งประเทศไทย มองว่ายังต้องรออีก 2-3 ปี หลังสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ออกจากแผนฟื้นฟูเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันทยอยชำระหนี้ หลังจากแฮร์คัตได้ 70% คาดว่าในปลายปี 2568 น่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้

“ยังต้องรอไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ออกจากแผนฟื้นฟูก่อน ถึงค่อยมาคิดเรื่องการปรับโครงสร้าง ซึ่งจริงๆ มีศักยภาพในการสร้างประสิทธิภาพจากตารางเวลาบิน (สลอต) ที่มีอยู่จากการบริหารฝูงบินอนาคตในประเทศไทย สามารถยืดหยุ่นเรื่องการใช้เครื่องบินได้ และมีโอกาสในการบินไปเดสติเนชันใหม่ๆ ให้สอดรับกับดีมานด์และการใช้เครื่องบินอย่างเหมาะสม เพื่อเจาะเมืองรองใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปมากขึ้น”

‘แอร์เอเชีย’ ดัน ‘กรุงเทพฯ’ ฮับบินโลก เทียบชั้นดูไบ ลุยขยายฝูงบินในไทย 150 ลำ