จับทิศสินค้าจำเป็นปี 67 ยังเติบโต ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’วางหมากรบดันยอดขาย

จับทิศสินค้าจำเป็นปี 67 ยังเติบโต  ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’วางหมากรบดันยอดขาย

“อายิโนะโมะโต๊ะ” หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค มีผงชูรสแกร่งครองส่วนแบ่งกว่า 94% มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ยำยำ” ผลิตภัณฑ์ผงปรุงรส “รสดี” ตอบสนองลูกค้า มีกาแฟพร้อมดื่ม “เบอร์ดี้” ที่ 1 ในหมวดหมู่ และเป็นธุรกิจหลัก(Core Business)ทำเงินให้บริษัทกว่า 90%

ปี 2567 ตลาดสินค้าจำเป็นยังมีแนวโน้มเติบโตมากน้อยอย่างไร แคโรไลน่า ซานเชส กรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมอง

“คาดว่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้จะมีการเติบโต โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่มีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนกลับมาเยือนจุดหมายปลายทาง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีการปรับประมาณการณ์ลดลงจากปีก่อน”

เมื่อมีสัญญาณบวกที่ดี แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจของอายิโนะโมะโต๊ะในปี 2567 ยังมองผลิตภัณฑ์หลักจะเติบโตได้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อายิโนะโมะโต๊ะ รสดี และเบอร์ดี้ โดยจะอัดงบการตลาดเต็มที่ สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้โดนใจ ที่สำคัญจะมีการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

ที่ผ่านมา อายิโนะโมะโต๊ะ มีการเปิดตัวแบรนด์ “อายิโนะโมะโต๊ะ อะมิโน” พร้อมนำเสนอสินค้าอะมิโนไวทัล(Amino Vital Shot) วุ้นสำเร็จรูปให้พลังงานและกรดอะมิโนตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบการออกกำลังกายและนักกีฬา และผลิตภัณฑ์อะมิโนมอฟ( AminoMOF) ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อและข้อต่อ ตอบรับความต้องการของผู้สูงวัยและสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทย

ส่วนเบอร์ดี้ มีการออกสินค้าใหม่ “เบอร์ดี้ คาเฟ่” เข้าทำตลาด เสริมพอร์ตโฟลิโอกาแฟพร้อมดื่ม รวมถึง “รสดี” มีน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวจับกลุ่มเป้าหมายร้านอาหารขนาดเล็ก เป็นต้น

“อายิโนะโมะโต๊ะฯ มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจในปี 2567 โดยมีปัจจัยบวกจากเทรนด์การเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กหรือ Food Vendor sector ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสทั้งอายิโนะโมะโต๊ะ และรสดี ส่วนเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เป็นอีกเทรนด์มาแรง บริษัทมีกาแฟเบอร์ดี้ แบล็ค ซีโร่ หรือกาแฟเบอร์ดี้ สูตรน้ำตาลน้อย ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย และตลาดโภชนาการการกีฬาหรือ Sport Nutrition Market) ที่มีการเติบโต จะช่วยหนุนไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรดอะมิโน ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญหลักของบริษัทด้วย”

สำหรับภาพรวมตลาดผงชูรสมีมูลค่าราว 3,956 ล้านบาท โดยอายิโนะโมะโต๊ะมีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 94% และเมื่อดูตลาดผงชูรสในกลุ่มผู้กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กมีการ เติบโตกว่า 5% ขณะที่ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม ลงลึกหมวดกาแฟเพื่อสุขภาพมีการเติบโตกว่า 50% (ที่มา : Nielsen Data) ส่วนมูลค่าตลาดโภชนาการการกีฬาโดยรวมคาดว่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 13% จากปีก่อนหน้า โดยแนวโน้มปี 2562-2568 การเติบโตเฉลี่ย(CAGR)อยู่ที่ 5% จากปัจจัยกิจกรรม กีฬาต่างๆ เช่น งานแข่งวิ่งในประเทศไทยมีการเติบโตในไทยมากถึง 117% จากปีก่อน เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้อมูลจากคันทาร์ ระบุว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีการใช้ผลิตภัณฑ์อายิโนะโมะโต๊ะในครัวเรือนมากกว่า 64% ส่วนการใช้รสดีในครัวเรือนมากกว่า 67% ด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยบวก ยังมีความเปราะบาง เช่น ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง แต่ “แคโรไลน่า” มองว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยังคงซื้อสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะอาหารเช่นเดิมทั้งไลฟ์สไตล์การออกไปทานอาหารนอกบ้าน และการสั่งเดลิเวอรี ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการใช้สินค้าของบริษัทอย่างเครื่องปรุงรส

“เครื่องปรุงรส เป็นสินค้าที่อยู่ในรายการใช้จ่ายที่จำเป็นของผู้บริโภคในแต่ละเดือน ภายใต้กำลังซื้อครัวเรือนที่มีจำกัด ทำให้บริษัทมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพ รสชาตออร่ย เพื่อตอบทุกการทำอาหารของคนไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมีกาแฟเบอร์ดี้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่ต้องการพลังงานและความแอ็กทีฟในการทำงาน เป็นต้น”

สำหรับความท้าทายในการขับเคลื่อนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2567 บริษัทมองความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นของผู้บริโภคชาวไทย ทั้งความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ไลฟ์สไตล์ แรงจูงใจ และปัจจัยทางจิตวิทยาที่ไม่เหมือนกัน ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องมีความรวดเร็วและพัฒนานวัตกรรมที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มากขึ้น ทั้งนี้ อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ได้เพิ่มการลงทุนในการวิจัยผู้บริโภค การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอาหาร การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital transformation) และการใช้ข้อมูลผู้บริโภค มาจัดกิจกรรมทางการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน

"ปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทฯ ในปี 2567 นี้ คือการทำความเข้าใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายด้วยโซลูชั่นนวัตกรรมประสิทธิภาพสูง โดยอิงหลักตามวิทยาศาสตร์ ข้อมูลผู้บริโภค และความรวดเร็ว”