บิ๊กชาเลนจ์! ‘ไทยเที่ยวไทย’ 200 ล้านคนปี 67 ไฟลต์บิน ‘ในประเทศ’ ไม่ฟูเต็ม 100%

บิ๊กชาเลนจ์! ‘ไทยเที่ยวไทย’ 200 ล้านคนปี 67  ไฟลต์บิน ‘ในประเทศ’ ไม่ฟูเต็ม 100%

การปลุกตลาด 'ไทยเที่ยวไทย' ให้กลับมาคึกคักตามเป้าหมายปี 2567 เป็นเรื่องท้าทายยิ่ง! 'การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย' (ททท.) วางเป้าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยอยู่ที่ 200 ล้านคน-ครั้ง เติบโต 25% เทียบกับปี 2566 หรือกลับไปเท่ากับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด

สร้างรายได้ 1,088,000 ล้านบาท เติบโต 25% เช่นกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายในกรณีดีที่สุด (Best Case Scenario) และได้รับงบประมาณปี 2567 เต็มวงเงิน!

สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. เปิดเผยว่า “แม้เป้าหมายปี 2567 จะดูเหมือนง่าย เพราะได้แรงส่งจากปี 2566 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 185 ล้านคน-ครั้ง สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 135 ล้านคน-ครั้ง โดยสร้างรายได้ถึง 9 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8.8 แสนล้านบาท แต่จริงๆ ไม่ง่ายเลย จากปัจจัยท้าทายหลายเรื่อง”

หลังจากในปี 2566 คนไทยอัดอั้นเรื่องการเดินทาง ออกเที่ยวไปมากแล้ว รวมถึงการแข่งขันจากจุดหมายปลายทางต่างประเทศสูงมาก ดึงคนไทยไปเที่ยวเมืองนอกมากขึ้น ล่าสุดรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนมีข้อตกลง “ยกเว้นวีซ่า” ระหว่างไทย-จีนแบบถาวร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป เชื่อมสัมพันธไมตรีและการเดินทางระหว่างสองประเทศ ทำให้สายการบินกล้าฟื้นเที่ยวบินรองรับดีมานด์การเดินทางทั้งสองฝั่ง โดยมองว่าการแข่งขันนี้จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาด้านซัพพลายท่องเที่ยวดีขึ้น เพราะในช่วงโควิด-19 ระบาด จีนได้มีการพัฒนาด้านซัพพลายท่องเที่ยวดีมาก พร้อมดึงคนเดินทางเข้าจีน

“ประเทศไทยเองก็ต้องเร่งพัฒนาด้านซัพพลายท่องเที่ยว จูงใจให้คนเข้าไปเที่ยวแล้วอยากจ่ายเงิน เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องไปเที่ยวแล้วไม่เจอของที่อยากซื้อ ผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าเพื่อกระตุ้นการชอปปิง ไม่เช่นนั้นค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปจะดีดไม่ขึ้น”

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเรื่อง “งบประมาณปี 2567” ล่าช้า ต้องใช้งบปี 2566 ไปพลางก่อน ในช่วง 8 เดือนแรก (ต.ค. 2566 - พ.ค. 2567) ซึ่งได้รับจัดสรรเพียง 404 ล้านบาท จากงบบูรณาการปี 2567 ที่ขอไป 1,190 ล้านบาท ทำให้การทำตลาดสะดุด เพราะได้งบน้อยและไม่ต่อเนื่อง จึงยังไม่สามารถออกแคมเปญส่งเสริมการตลาดแบบเห็นแล้วร้อง WOW! ได้

บิ๊กชาเลนจ์! ‘ไทยเที่ยวไทย’ 200 ล้านคนปี 67  ไฟลต์บิน ‘ในประเทศ’ ไม่ฟูเต็ม 100%

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่อง “โลจิสติกส์” การขนส่งนักท่องเที่ยว เพราะแนวโน้ม “เที่ยวบินในประเทศ” ปี 2567 ยังไม่ฟูเต็ม 100% เมื่อเทียบกับปี 2562 หลัง “สายการบิน” ยังไม่สามารถฟื้นฟูตลาดเที่ยวบินในประเทศได้เท่าเดิม เนื่องจากต้องนำเครื่องบินไปทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศที่ทำกำไรมากกว่า ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักก่อน ส่วน “เที่ยวบินข้ามภูมิภาค” กลับมาแค่ 8 เส้นทางบิน คิดเป็น 18 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยสถานการณ์การบินในประเทศตลอดปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.) มีจำนวนที่นั่งโดยสาร 36.46 ล้านที่นั่ง ฟื้นตัว 78% ของจำนวนที่นั่งโดยสาร 46.48 ล้านที่นั่งเมื่อปี 2562

“พฤติกรรมการจองตั๋วเครื่องบินของคนไทย ส่วนใหญ่จองแบบกระชั้นชิด (Last Minute) ทำให้ได้ตั๋วบินราคาแพง จากปัจจัยราคาน้ำมันผันผวน ไม่ลดลงด้วย กระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของคนไทย ททท. จึงต้องปรับกลยุทธ์ โปรโมตขับรถเที่ยวมากขึ้น”

บิ๊กชาเลนจ์! ‘ไทยเที่ยวไทย’ 200 ล้านคนปี 67  ไฟลต์บิน ‘ในประเทศ’ ไม่ฟูเต็ม 100%

สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) ททท.ได้วางธีมการโปรโมตท่องเที่ยวแต่ละเดือนให้สอดรับกับเทศกาลและพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทย โดยเดือน ม.ค. จะโปรโมต “เส้นทางสายศรัทธา” เสริมสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ ส่วนเดือน ก.พ. โปรโมตเทศกาล “ตรุษจีน” และ “วาเลนไทน์” นำเสนอเส้นทางแห่งความรัก เดือน มี.ค. โปรโมต “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ซึ่ง ททท.จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย. 2567 เพื่อบอกเล่าพลัง “ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทย และต่อเนื่องเดือน เม.ย. กับเฟสติวัลระดับเรือธง “งานมหาสงกรานต์” ที่กำลังรอนโยบายของรัฐบาลว่าจะโปรโมตแบบไหน

สมฤดี เล่าเพิ่มเติมว่า ด้านโครงการ “ยกระดับเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” ของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ขอรัฐบาลว่าอยากจะพัฒนาการค้าและเศรษฐกิจการลงทุน  “10 จังหวัดนำร่อง” ประกอบด้วย 9 เมืองรอง และ 1 เมืองหลัก โดย ททท.จะร่วมกับหอการค้าไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ยกระดับการประชาสัมพันธ์ให้ลึกยิ่งขึ้น

ขณะที่การโปรโมต “55 เมืองรอง” ของ ททท. วางเป้าหมายปี 2567 เพิ่มนักท่องเที่ยวไทยเดินทางมากขึ้นเป็น 91 ล้านคน-ครั้ง ครองสัดส่วนเกือบ 50% ของเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทยไปทั้งเมืองหลักและเมืองรองรวม 200 ล้านคน-ครั้ง

“จากนโยบายของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ให้กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่ด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่เอื้อต่อการทำตลาดในประเทศ ทำให้ ททท.ต้องปรับแผนการตลาด เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ด้วยการใช้สื่อออนไลน์เป็นหลักและผนึกกับพันธมิตรต่างๆ เช่น การจับมือกับสายการบินหลังเทศกาลสงกรานต์ ออกโปรโมชันเที่ยวบินไปเมืองรอง”