สินค้าจำเป็น ปี 67 ยังโตได้ อำนาจซื้อแผ่ว แต่ผู้บริโภคต้องกิน-ใช้

สินค้าจำเป็น ปี 67 ยังโตได้  อำนาจซื้อแผ่ว แต่ผู้บริโภคต้องกิน-ใช้

บรรดาแม่ทัพบิ๊กคอร์ปสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ฟันธงตลาดปี 2567 ยังขยายตัวได้ แม้มีปัจจัยเปราะบางรายล้อม

ทั้งหนี้ครัวเรือนสูง กำลังซื้อชะลอตัว หลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นไปตามคาด เพิ่มน้อยกว่าที่คิด หมวดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปีหน้าเข้าสู่โหมดโตปกติ ยาสีฟัน ยังมีแรงส่ง เครื่องดื่มชูกำลังโมเมนตัมเป็นบวก

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2567 คาดการณ์ไม่มีหมวดไหนหดตัวลงจนน่าใจหาย ท่ามกลางกำลังซื้อผู้บริโภคที่ไม่สูงนัก จะเห็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสลับสับเปลี่ยนหมวดหมู่สินค้าตามความจำเป็น หากเจาะเป็นรายกลุ่ม เช่น อาหาร เชื่อว่าตกหรือขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนสบู่ การบริโภคเท่าเดิม เพราะผู้บริโภคยังอาบน้ำเหมือนเดิม เป็นต้น

  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้าโหมดโตปกติ

สำหรับภาพรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่าประมาณ 2.35 หมื่นล้านบาท ปี 2566 มีอัตราการเติบโต 13% ในเชิงมูลค่า(Value) เนื่องจากเทียบกับปี 2565 ทั้งตลาดมีการปรับราคาสินค้าขึ้นจากซองละ 7 บาท เป็นซองละ 8 บาท ทำให้มูลค่าการเติบโตค่อนข้างสูง ส่วนแนวโน้มปี 2567 คาดการณ์จะเห็นอัตราการเติบโตเข้าสู่ภาวะปกติประมาณ 4-5%

สินค้าจำเป็น ปี 67 ยังโตได้  อำนาจซื้อแผ่ว แต่ผู้บริโภคต้องกิน-ใช้ “ปีหน้าตลาดบะหมี่ฯ อาจไม่หวือหวา ฐานมูลค่าตลาดจะเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ผ่านมาโรคโควิด-19 วิกฤติต้นทุน ทำให้มีการปรับราคาสินค้า มูลค่าจึงเพิ่มขึ้น”

ด้าน ยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่ฯ ไวไว กล่าวว่า แนวโน้มตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2567 คาดการณ์การบริโภคคงที่ ไม่มีการเติบโตในเชิงปริมาณ(Volume) แต่เชิงมูลค่าคาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะเห็นผู้เล่นให้น้ำหนักในการทำตลาดสินค้าพรีเมียมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทำตลาดบะหมี่ฯพรีเมียมไม่ง่าย โดยเฉพาะการตั้งราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างขยับตัวยาก แม้จะไม่ใช่สินค้าควบคุม แต่ผู้ประกอบการต้องแจกแจงต้นทุนให้กระทรวงพาณิชย์รับทราบก่อน 

  • ช็อก!นโยบายเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนไม่เป็นตามคาด

พันธ์ กล่าวอีกว่า ทิศทางกำลังซื้อของผู้บริโภคปี 2567 กลับไม่เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดคิด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินดิจิทัล การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฟสแรกค่อนข้างน้อย ซึ่งถือเป็นการให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว ส่วนถัดไปจะปรับให้ถึง 400 บาทต่อวันหรือไม่ ยังต้องจับตา แต่ปัจจัยดังกล่าวกระทบต่อเงินในกระเป๋าของประชาชน

ส่วนภาวะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง หากไม่ใช่หนี้เสีย(NPL) เมื่อผู้คนมีรายได้ก็จะนำไปโปะหนี้ และยังใช้จ่าย จึงมองไม่กระทบกำลังซื้อมากนัก แต่สิ่งที่ต้องจับตา คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงมาก เป็นหนี้จากการยินยอมใช้จ่าย เช่น วันนี้หาเงิน มีรายได้ พร้อมรับประทานอาหารนอกบ้าน ทั้งที่สามารถเก็บไว้ใช้ได้หลายวัน แต่พรุ่งเงินหมดก็รับประทานมาม่า เป็นต้น

สินค้าจำเป็น ปี 67 ยังโตได้  อำนาจซื้อแผ่ว แต่ผู้บริโภคต้องกิน-ใช้ พันธ์ พะเนียงเวทย์-ยศสรัล แต้มคงคา-สราวุฒิ อยู่วิทยา-เภสัชกร ดร.แสงสุข พิทยานุกุล

“กำลังซื้อปีหน้าอาจไม่ดีอย่างที่คิด กลับช็อกด้วยซ้ำ เพราะเดิมประชาชนคิดว่าจะมีเงินเพิ่มในกระเป๋าทำให้มั่นใจในการใช้จ่าย ตอนนี้อาจต้องคิดและมีผลทำให้การใช้จ่ายน้อยลง ส่วนหนี้ครัวเรือน หากมองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีห้วงเวลาไหนที่คนไทยหนี้น้อยแต่อย่างใด”

  • สินค้าจำเป็นโตดีมาก

เภสัชกร ดร.แสงสุข พิทยานุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม เฮลท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดยาสีฟันเดนทิสเต้ สมูทอี กล่าวว่า แนวโน้มตลาดสินค้าจำเป็นปีหน้ายังมีแนวโน้มดีมาก พฤติกรรมผู้บริโภคยังต้องกินและใช้สินค้า เช่น แปรงฟันทุกวัน ประกอบกับทิศทางประเทศไทยยังไม่มีปัญหาหรือปัจจัยลบมากนัก ส่วนนักการตลาดยังต้องวางกลยุทธ์อย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างการเติบโตให้กับสินค้า

ขณะที่ปี 2566 สินค้าจำเป็นโดยรวมขยายตัวดี ซึ่งรายงานจากนีลเส็น เดนทิสเต้ มีการเติบโตถึง 19.8% เทียบกับแบรนด์อื่นในตลาดยาสีฟันเติบโตเพียง 8-10% เท่านั้น และการเติบโตยังเกิดในทุกช่องทางจำหน่ายด้วย

“แนวโน้มตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปีหน้ามันดีมากเลย โตจากอะไร..จากผู้บริโภคต้องกินต้องใช้ แปรงฟันทุกวัน ทำให้ยังมองบวกตลาดจะดี ส่วนปีนี้ยาสีฟันเดนทิสเต้เติบโตมากกว่าแบรนด์อื่น ซึ่งยอมรับว่าพลังของลิซ่า ลลิษา มโนบาลสร้างพาวเวอร์ฟูลให้แบรนด์อย่างมาก”

สินค้าจำเป็น ปี 67 ยังโตได้  อำนาจซื้อแผ่ว แต่ผู้บริโภคต้องกิน-ใช้

  • เครื่องดื่มชูกำลังโมเมนตัมบวกรับคนใช้ชีวิตนอกบ้าน

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP) กล่าวว่า ภาพรวมปีหน้าจะมีความสดใส ตื่นตัวมากขึ้น จากแรงส่งด้านเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ที่หลายหน่วยงานกลางคาดการณ์ปี 2567 จะเติบโต 3% เนื่องจากมีการลงทุนของภาครัฐ การบริโภคภายในประเทศ การส่งออกที่ขยายตัว รวมถึงแรงขับเคลื่อนของภาคเอกชน

ขณะที่ปัจจัยต้องเฝ้าระวังคือภูมิรัฐศาสตร์โลก ปัญหาด้านความยั่งยืน รวมถึงห่วงโซ่การผลิต(ซัพพลายเชน) ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ต้องสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ เพิ่มศักยภาพจุดแข็งด้านการเกษตรของไทย เปิดโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมบริการอื่นๆ นอกเหนือจากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น

ส่วนกำลังซื้อผู้บริโภคปีหน้า มองว่าจะเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวเต็มรูปแบบของธุรกิจต่างๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรง สถานบันเทิงทั้งผับ บาร์ การขยายตัวของเมือง ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ เอื้อให้ผู้บริโภคเข้าถึงการบริโภคสินค้าได้ง่ายมากขึ้น

สินค้าจำเป็น ปี 67 ยังโตได้  อำนาจซื้อแผ่ว แต่ผู้บริโภคต้องกิน-ใช้ ด้านแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มชูกำลังปี 2567 คาดการณ์ทิศทางเป็นบวก จากแรงส่งของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ออกมาทำกิจกรรมปกติ ใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำให้ต้องใช้พลังงานระหว่างวันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ

“กำลังซื้อผู้บริโภคในปีหน้าจะเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ส่วนตลาดเครื่องดื่มชูกำลังปีหน้า คาดว่าจะเป็นหมวดที่เติบโตไม่น้อย ทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP ซึ่งมีแบรนด์เรือธงทั้งกระทิงแดง และเรดบูล(Red Bull)เตรียมแผนการตลาดไว้เต็มที่ ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนหลังยุคโควิด-19 ที่ต้องการสินค้าที่ดูแลสุขภาพ มีคุณภาพดี บริษัทจึงพัฒนาเครื่องดื่มวิตามินแบรนด์ ไฮ่! X DHC เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายด้วย”