หลากนิยามธุรกิจและคัมภีร์รอดปี 67 จากซีอีโอ-แม่ทัพองค์กร

หลากนิยามธุรกิจและคัมภีร์รอดปี 67 จากซีอีโอ-แม่ทัพองค์กร

ก้าวสู่ปีมังกร 2567 ธุรกิจยังคงเผชิญทั้งปัจจัยบวกและลบเฉกเช่นทุกปี แต่ไม่ว่าจะต้องเจออะไร การทำมาค้าขาย ลุยกิจกรรมการทำตลาดยังต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโต

ทั้งนี้ ผ่านพ้นปีเก่า บรรดานักธุรกิจ ซีอีโอ แม่ทัพองค์กรในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) สื่อ การตลาด อีเวนต์ฯ มองอย่างไรติดตาม

  • อีเวนต์ใส่เกียร์ 5 รับปีมังกร

ธุรกิจอีเวนต์มูลค่ากว่า “หมื่นล้านบาท” ช่วงโควิด-19 ระบาดเจอโจทย์ยากยิ่งนัก ทว่า เมื่อก้าวผ่านมาได้ถือว่ามีภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองไม่น้อย แล้วปี 2565 ภาพรวมตลาดเป็นอย่างไร มุมมองจาก เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมจาก อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ให้นิยามว่าเป็นสเต็ปของการหลุดพ้นจากโรคระบาด 100% และจากนี้ไปจะเห็นอะไรใหม่ๆในวงการงานสร้างสรรค์หรือธุรกิจอีเวนต์มากขึ้น เพราะอินเด็กซ์ ครีเอทีฟฯ เองลุกขึ้นมาหา “โอกาส” ทางการตลาดมากกว่าจัดกิจกรรมต่างๆ แต่มาทำร้านอาหาร เดิมมี “หูกระจง” ให้บริการลูกค้า ล่าสุด นำการสร้างประสบการณ์ Immersive มาอยู่บนโต๊ะอาหารให้บริการลูกค้าผ่านร้านใหม่อย่าง “ARTLICIOUS” ที่มีบรรดานักธุรกิจชั้นนำไปชิมเรียบร้อย

ส่วนปี 2567 นิยามธุรกิจอีเวนต์ จะเป็นปีที่ผู้ประกอบการใส่เกียร์ 5 เดินหน้างานสร้างสรรค์เต็มที่ เพราะมีแรงส่งสำคัญอย่างนโยบายหนุน “ซอฟต์เพาเวอร์” ของภาครัฐมาเสริม

  • ทางรอด-รุ่ง “สื่อ” ต้องตื่นตัว ตระหนักรู้ ลงมือทำ อย่างปราดเปรียว

อีกธุรกิจที่เจอมรสุมลากยาวต้องยกให้ “อุตสาหกรรมสื่อ-โฆษณา” เพราะเป็นเซ็กเตอร์ที่ถูกดิสรัปใหญ่มาก จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ซึ่งมาจากอิทธิพลของโลกเทคโนโลยี ดิจิทัลที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว

พ้นปี 2567 ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ หรือเอ็มไอ กรุ๊ป(MI GROUP) จึงให้นิยามอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาเป็นปีที่ “เหนื่อย หนืด หน่วง”

หากวิเคราะห์สถานการณ์เหนื่อยกับการ “หารายได้” หนืด เพราะเม็ดเงินโฆษณายังชะลอตัว เลยหน่วงให้การเติบโตทั้งปีไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือโตต่ำกว่าเป้านั่นเอง

ส่วนนิยามอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2567 ภวัต ย้ำว่าเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้อง “Alert l Aware l Action...with Agility หรือ ตื่นตัว ตระหนักรู้ ลงมือทำ...อย่างปราดเปรียว ถึงจะมีโอกาสรอดและรุ่งในปี 2567"

  • ระวัง! กู้มาลงทุนเชิงรุก คุมต้นทุนให้ดี

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกประทับตราให้เป็น “ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ” กี่ปีผ่านไป ก็ยังเป็นเช่นนั้น แม้บรรดาผู้บริหารค่ายบะหมี่ฯ จะออกมาบอกว่า ไม่ใช่ ไม่ใช่! เพราะเศรษฐกิจดี บะหมี่ฯก็ขายดี เศรษฐกิจไม่ดี บะหมี่ฯก็ขายดีน้อยหน่อย

ปิดปี 2566 พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA นิยามตลาดบะหมี่เป็นปีที่ไม่หวือหวา ฐานการเติบโตเข้าสู่โหมดปกติ ทว่าปี 2567 ปัจจัยที่เหนือการควบคุมมีมากเหลือหลาย ทั้งวิกฤติทะแดง สหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกไม่รู้จะขยายวงกว้างออกไปแค่ไหน เป็นต้น

ปี 2567 เลยเป็นปีที่ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการยังต้องคุมต้นทุนให้ดี ระวัง! อย่าเน้นเชิงรุกในการขยายการลงทุน โดยเฉพาะต้อง “กู้” มาเพื่อขยายการลงทุน เพราะไม่รู้การก่อหนี้จะกลายเป็นอะไรในอนาคต ภาวะดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง เศรษฐสหรัฐจะดีหรือแย่

“ปัจจัยเสี่ยงมาก ค่อยๆลงทุน อย่าขยายเร็วเกินตัว มีเงินทุนทำได้ แต่ถ้ากู้มาลงทุน ระวังไว้ปลอดภัยกว่า”

คัมภีร์รอดดังกล่าว ยังสะท้อน “ระเบิดเวลา” ที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจ การเงิน เพราะหลายองค์กรกำลังเผชิญการผิดนัดชำระหนี้สารพัดรูปแบบ

  • รอดจากปีเก่าต้องพร้อมสู้รับปีใหม่

การสำรวจรับฟังความเห็นผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทำให้เห็นความจริงหลากหลายมิติ ทั้งความกังวลใจเรื่องกินอยู่ ปากท้อง ข้าวของราคาแพง การบ้านการเมือง สังคมความเป็นอยู่ ฯ ซึ่ง อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด ให้มุมมองหนึ่งในเรื่องสำคัญที่คนไทยกังวล หนีไม่พ้น เศรษฐกิจ เงินเฟ้อสู่ ค่าครองชีพพุ่ง กระทบการซื้อขายสินค้าและบริการ

ผ่านพ้นปี 2566 เลยนิยามธุรกิจเป็นแห่งการเอาตัวรอด ส่วนปี 2567 จะเป็นปีที่ต้องเตรียมพร้อมและ “สู้ต่อไป” เพราะเมฆหมอกทางการค้าขายยังไม่จางหาย ฝั่งแบรนด์เองในการทำตลาด ทิ้งนิยามให้ว่า “ความภักดี” หรือ Loyalty สำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอย่างมาก

“ปี 2567 ไม่มีอะไรสดใสเลย อึมครึม ถ้าข้าวของ เศรษฐกิจไม่ดี เงินเฟ้อ เพิ่ม เราในฐานะผู้บริโภคต้องเก็บเงินไว้ไหม มีปัจจัยคิดเยอะ แต่เราต้องผ่านไปให้ได้”

  • สงครามเขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลก

หมวดธุรกิจอาหารยังขยายตัวได้ ไม่แค่อาหารของผู้คนที่บริโภค แต่อาหารสัตว์ก็เช่นกัน ในฐานะผู้เล่นในตลาดดังกล่าว แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ให้มุมมองธุรกิจปี 2567 ยังขยายตัวได้ ในส่วนของเอ็นอาร์เอฟ “ค้าปลีก” ที่บริษัทไปซื้อกิจการในประเทศอังกฤษเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ รวมถึงธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงโตร้อนแรงจนต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 3 เท่าตัว จาก 1,800 ตันต่อเดือนเป็น 4,000 ตันต่อเดือน

นิยามธุรกิจปีนี้ยังเติบโตแต่ที่ต้องจับตาคือภาวะสงคราม เพราะจะเขย่าภูมิรัฐศาสตร์โลกให้เดือดกว่ายิ่งขึ้น

“สงครามมีความน่ากลัวอยู่ และมีผลอย่างมากต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก”

ส่วนปัจจัยลบอื่นทั้งวิกฤติทะเลแดง ที่จะส่งผลต่อการขนส่งสินค้าข้ามโลก ต้นทุนการผลิตสินค้า มองว่ายังไม่กระทบธุรกิจ ส่วนภาวะ “เงินเฟ้อ” เริ่มอยู่ในอัตราถดถอย ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เฉลี่ยแล้วทุกอย่างมีผลกระทบ “ทรงตัว” สำหรับเอ็นอาร์เอฟ