กระแสร้อน ‘ท่องเที่ยวไทย’ ปี 66 จีนฟื้นอืด-ยาแรงวีซ่าฟรี-บูมซอฟต์พาวเวอร์!

กระแสร้อน ‘ท่องเที่ยวไทย’ ปี 66 จีนฟื้นอืด-ยาแรงวีซ่าฟรี-บูมซอฟต์พาวเวอร์!

เกิดอะไรขึ้นบ้างกับอุตสาหกรรม 'ท่องเที่ยวไทย' ในปี 2566 ยุคฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุด 'กรุงเทพธุรกิจ' ประมวลเหตุการณ์สำคัญและความเคลื่อนไหวน่าสนใจตั้งแต่ต้นจนถึงปลายปีที่มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาท้าทายไม่หยุดหย่อน!

เริ่มต้นด้วย 1. จีนเปิดประเทศ ทันทีที่รัฐบาลจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการเดินทาง ยกเลิกการกักตัวขาเข้า มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ต่อด้วยประกาศนำร่องอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกท่องเที่ยวต่างประเทศแบบหมู่คณะ (กรุ๊ปทัวร์) ได้ใน 20 ประเทศแรก ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป ทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยกลับมามีความหวังอีกครั้งในรอบ 3 ปี!

หลังจาก “นักท่องเที่ยวจีน” เคยครองบัลลังก์อันดับ 1 ด้วยจำนวน 11,138,658 คน สร้างรายได้ 531,576 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 27% ของต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมดกว่า 39.8 ล้านคน สร้างรายได้เกือบ 2 ล้านล้านบาท

ช่วงต้นปี “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) เคยหมายมั่นดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาอย่างน้อย 5 ล้านคนในปี 2566 แต่ด้วยหลากปัจจัย ทั้งปริมาณเที่ยวบินเส้นทางไทย-จีนยังฟื้นได้ไม่เต็มที่ สถานการณ์เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ช้ำในจากการระบาดของโควิดที่กัดกินยาวนาน 3 ปี และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์จีน รวมถึงปัญหาภาพลักษณ์เชิงลบด้านความปลอดภัยในไทย ทำให้ ททท.ต้องปรับลดเป้าเหลือ 4 ล้านคน

สุดท้าย...ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนปี 2566 ไปได้ไกลสุดแค่ 3.5 ล้านคนเท่านั้น! ยังไม่สามารถกลับมาทวงแชมป์เที่ยวไทยได้ รั้งอันดับ 2 รองจาก “มาเลเซีย” ซึ่งน่าจะปิดที่ 4.5 ล้านคน แต่ในปี 2567 ททท. ตั้งเป้าดึง “จีนเที่ยวไทย” กลับมาครองแชมป์ด้วยจำนวนไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน เพื่ออุดช่องว่างที่หายไป

2. ปัญหาภาพลักษณ์เชิงลบด้านความปลอดภัยในสายตา “นักท่องเที่ยวจีน” เรื้อรังมาตั้งแต่ช่วงกลางปีขณะประเทศไทยกำลังรอโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ หลังกระแสข่าวลือเชิงลบต่างๆ แพร่หลายในโซเชียลมีเดียของจีน ทั้งประเด็นลักพาตัว ตัดขายอวัยวะ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหวั่นวิตกว่ามาเที่ยวไทยแล้วไม่ปลอดภัย!

นอกจากนี้ภาพยนตร์จีนทำเงิน 2 เรื่องดัง ได้แก่ No More Bets และ Lost in The Stars ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังส่งผลต่อทัศนคติของชาวจีนว่าจุดหมายปลายทางในภูมิภาคนี้อาจไม่ปลอดภัย ทำเอาผู้ประกอบการท่องเที่ยวปวดขมับ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งศูนย์บริหารข่าวสารเพื่อตอบโต้เฟคนิวส์ที่แพร่แรงและเร็วเกินต้าน

กระทั่งเกิดเหตุกราดยิงกลางห้างดังเมื่อเดือน ต.ค. โหมไฟกังขาต่อประเด็นความปลอดภัยในไทยมากยิ่งขึ้น โลกโซเชียลจีนวิจารณ์ยับสับเละ! ภาครัฐและเอกชนในไทยที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน พร้อมเยียวยาแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มกำลัง เมื่อความเชื่อมั่นอยู่ในสภาวะครึ่งๆ กลางๆ โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลหนีไม่พ้นการฟื้นความเชื่อมั่นอย่างเร่งด่วน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11-15 ธ.ค. ทาง ททท. ร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) จัดโรดโชว์ส่งเสริมการขายในประเทศจีน ขนทัพผู้ประกอบการไทยกว่า 70 ราย พบปะเจรจาธุรกิจกับเอเย่นต์ในจีนกว่า 800 รายจาก 2 เมืองใหญ่ เซี่ยงไฮ้และเฉิงตู ซึ่งต้องจับตาสัญญาณการฟื้นตัวของตลาด “กรุ๊ปทัวร์” ว่าจะกลับมามากน้อยแค่ไหนในช่วงโกลเด้นวีค “เทศกาลตรุษจีน 2567” หลังอะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) เป็นกลุ่มเล็กมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ททท. ได้จัดแฟมทริปดึงสื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนกว่า 120 ราย เดินทางมาไทยตั้งแต่วันที่ 21-28 ธ.ค. โดยนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ ทั้งเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย คุณภาพ และเสริมสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยว มุ่งนำเสนอ “ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงบวก” ของประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวและกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ต่อเนื่องตลอดปี 2567

3. ยาแรงมาตรการยกเว้นวีซ่า หรือ “วีซ่าฟรี” (Visa-free) ไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่า “ภาคท่องเที่ยว” เป็น “ลูกรัก” ของรัฐบาลเพื่อไทย ในฐานะเครื่องยนต์ที่กระตุ้นรายได้เข้าประเทศได้เร็ว นี่คือ “ควิกวิน” (Quick Win) ของเศรษฐกิจไทย ประเดิมด้วยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากการประชุมนัดแรก เห็นชอบมาตรการวีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานเป็นการชั่วคราว มีผลตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566 – 29 ก.พ. 2566 ก่อนจะเดินหน้าประกาศให้วีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน มีผลตั้งแต่ 10 พ.ย. 2566 – 10 พ.ค. 2567 รวมถึงประกาศขยายเวลาการพำนักให้นักท่องเที่ยวรัสเซีย จากเดิมไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 90 วัน มีผลตั้งแต่ 1 พ.ย. 2566 – 30 เม.ย. 2567

4. อำลา “เราเที่ยวด้วยกัน” นี่คือโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศที่ติดตลาดและรู้จักเป็นวงกว้าง หลังถือกำเนิดในรัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้โจทย์ฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวซึ่งจมวิกฤติโควิด-19 ขาดสภาพคล่องสาหัส เซ่นพิษล็อกดาวน์ ด้วยมาตรการรัฐบาลช่วยจ่ายส่วนลดค่าที่พัก 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้อง และให้อี-วอยเชอร์สูงสุด 600 บาทต่อวัน

โดยโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” จำนวน 560,000 สิทธิ์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.พ.-เม.ย. 2566 นับเป็นเฟสสุดท้ายก่อนอำลาอย่างเป็นทางการ คนแห่จองสิทธิ์หมดเกลี้ยงภายใน 4 วัน ถือเป็นโมเดลที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ “โรงแรม” เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาจัดทำโครงการลักษณะนี้ขึ้นมาอีก เพื่อกระตุ้นการพักค้างและกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวไทยซึ่งเผชิญสารพัดปัญหา เช่น “หนี้ครัวเรือน” แต่อาจเป็นไปได้ยากถึงยากมาก! เพราะภาพรวมสถานการณ์เข้าพักของธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว จากการคัมแบ็กของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

5. สงคราม “อิสราเอล - ฮามาส” ทันทีที่สงครามนี้ปะทุ ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากอิสราเอลและตะวันออกกลางบางส่วน รวมถึงตลาดในประเทศที่ได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากราคาต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์สู้รบ และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ท่ามกลางความกังวลว่าสงครามจะขยายวงหรือไม่

6. ประเด็นร้อน “#แบนเที่ยวเกาหลี” กลายเป็นดราม่าสนั่นโลกโซเชียลอีกระลอก เมื่อแฮชแท็กนี้ติดเทรนด์อันดับ 1 บน X เมื่อปลายเดือน ต.ค. หลังนักท่องเที่ยวไทยแชร์ประสบการณ์ติดด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของเกาหลีใต้ ทั้งถึงขั้นถูกส่งตัวกลับไทย ขณะที่บางรายเจอคำถามสุดแปลกของเจ้าหน้าที่ ตม. ขณะใช้ดุลยพินิจ พิจารณาว่าจะให้นักท่องเที่ยวไทยผ่านเข้าประเทศหรือไม่ ลุกลามไปถึงประเด็นเลือกปฏิบัติและเหยียดคนไทย ทำลายความตั้งใจของคนที่อยากไปเที่ยวจริงๆ ถูกเหมารวมว่าอาจเป็น “ผีน้อย” หรือ แรงงานผิดกฎหมาย ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้

และ 7. รัฐบาลกับโจทย์เข็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ให้ปัง! เมื่อคำคำนี้ถูกสปอตไลต์ฉาย สังคมถกเถียงว่าสรุปแล้วมีความหมายว่าอะไรกันแน่? แต่ถ้ามองในแง่อานิสงส์จาก ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์” ของรัฐบาลทั้ง 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ เฟสติวัล, ท่องเที่ยว, อาหาร, ศิลปะ, ออกแบบ, กีฬา, ดนตรี, หนังสือ, ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์, แฟชัน และเกม หากได้รับการพัฒนาและขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตได้จริง คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ!

และเฟสติวัลเรือธงน่าจับตาคือ “งานมหาสงกรานต์ 2567” ประกาศศักดาว่าประเทศไทยคือเจ้าแห่งสงกรานต์โลก เตรียมแผนการจัดงานและกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ตลอดเดือน เม.ย. 2567