ส่องพฤติกรรมคนไทยกับการรับมือภัยไซเบอร์ในปี 2566

ส่องพฤติกรรมคนไทยกับการรับมือภัยไซเบอร์ในปี 2566

ส่องพฤติกรรมคนไทยกับการรับมือภัยไซเบอร์ในปี 2566 ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER เพื่อร่วมสร้างความตระหนักรู้ เสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับลูกค้าและคนไทย

จากข้อมูลของ ตำรวจไซเบอร์ พบว่า ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก ภัยไซเบอร์ รวมมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญสะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์กำลังเผชิญอยู่ในทุกๆ วัน

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า จากภารกิจสำคัญของ AIS ในการเสริมสร้างทักษะและความปลอดภัยในทุกการใช้งานบนดิจิทัลผ่าน โครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ที่เป็นแกนกลางสร้างเครือข่าย ร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกให้กับสังคมดิจิทัลของไทย ทำให้เราเห็นถึงพฤติกรรมและข้อมูลที่น่าสนใจในการนำไปต่อยอด เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ เสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับลูกค้าและคนไทย เพราะนอกเหนือจากมูลค่าความเสียหายจากภัยไซเบอร์แล้ว สถิติจากตำรวจไซเบอร์ยังชี้ให้เห็นว่ารูปแบบของปัญหาที่คนส่วนใหญ่ยังคงโดนหลอกลวงจาก มิจฉาชีพ  เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราคุ้นเคยกันอย่างมากในชีวิตประจำวันคือ การหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ถือเป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้คนสูญเสียเงินไปกว่า 2,306 ล้านบาท ตามมาด้วยหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริม และหลอกให้กู้เงิน ประกอบกับข้อมูลจากสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center พบว่า มีลูกค้าแจ้งเบอร์โทร และ SMS ที่คาดว่าจะเป็นมิจฉาชีพกว่า 1.6 ล้านครั้ง ตั้งแต่เปิดให้บริการ ซึ่งได้มีการตรวจสอบและนำไปสู่การจับกุมมิจฉาชีพได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา

นางสายชล กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลล่าสุดที่วัดระดับทักษะด้านดิจิทัลของคนไทย อย่าง Thailand Cyber Wellness Index ของปี 2023 ที่ริเริ่มจัดทำโดย AIS ว่า เป็นอีกหนึ่งชุดข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งทำให้เห็นถึงพฤติกรรมและความเข้าใจการใช้งานและรู้เท่าทัน ภัยไซเบอร์ ในมิติต่างๆ ดังนี้

  • กลุ่มผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ และทักษะการใช้งานด้านดิจิทัล
  • คนไทยภาคเหนือ และภาคตะวันตก มีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์มากกว่าภาคอื่นๆ จากผลการศึกษาถึงระดับทักษะดิจิทัล
  • คนไทยส่วนใหญ่กว่า 87.97% มีความเข้าใจ และรู้ทันปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ หรือ ไซเบอร์บูลลี่
  • ในขณะที่ยังมีทักษะสำคัญต่อการรับมือกับภัยไซเบอร์ที่คนไทยยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนว่าการมีทักษะดิจิทัลเหล่านี้ จะทำให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันและสามารถรับมือกับภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานได้ 1.) 48.60% ด้านความเข้าใจในสิทธิทางดิจิทัล 2.) 49.83% ด้านการแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล และ 3.) 51.80% ด้านการสื่อสาร และการทำงานร่วมกับบนดิจิทัล 

ส่องพฤติกรรมคนไทยกับการรับมือภัยไซเบอร์ในปี 2566

"จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัด สุขภาวะดิจิทัล ประกอบกับตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงจากการโดนหลอกลวง ทำให้ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเสริมสร้าง พัฒนาทักษะดิจิทัล เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในทุกมิติ ทั้งทักษะการใช้ดิจิทัล, ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล, ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล, ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล, ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์, ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล เพื่อยกระดับสุขภาวะและทักษะดิจิทัลของคนไทยให้สามารถใช้งานบนออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์" นางสายชล กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย เพิ่มเติมได้ ที่นี่ หรือองค์กรใดสนใจนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เพื่อใช้วัดผลและขับเคลื่อนองค์กร สามารถติดต่อมาได้ที่ E-mail นี้