ส่องความสำเร็จ 45 ปี ปตท. ผ่านหนังสือ 'PTT Ignite Life Potential'

ส่องความสำเร็จ 45 ปี ปตท. ผ่านหนังสือ 'PTT Ignite Life Potential'

ปตท. ไม่ใช่แค่ผู้นำด้าน "ปิโตรเลียม" เท่านั้น แต่ยังดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน ชวนส่องความสำเร็จ 45 ปี ปตท. ผ่านหนังสือ "PTT Ignite Life Potential"

ชื่อของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะบริษัทที่ดำเนินการด้าน ปิโตรเลียมรายใหญ่ที่อยู่คู่ประเทศไทยมานานถึง 45 ปี ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีแค่กิจการ ปั๊มน้ำมัน เพียงอย่างเดียว แต่ยังมี "คาเฟ่ อเมซอน" ร้านกาแฟที่ใครหลายคนเคยใช้บริการ ไปจนถึงโครงการเพื่อสังคมต่างๆ เช่น การปลูกป่า การสร้างอาชีพให้ชุมชน ไปจนถึงโอกาสด้านการศึกษา แต่กว่า "ปตท." จะเดินมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลานานหลายปี แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จุดเริ่มต้นที่มาจากวิกฤติด้านน้ำมันและวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยเรื่องราวทั้งหมดได้ถูกบันทึกและถ่ายทอดเอาไว้ในหนังสือ "PTT Ignite Life Potential" ที่ไม่ได้เล่าถึงความเป็นมาเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้อ่านได้เห็นวิสัยทัศน์จากผู้บริหาร เรื่องราวที่มาจากคนในองค์กร และที่สำคัญก็คือ "เคล็ดลับความสำเร็จ"

จากวิกฤติด้านพลังงาน สู่จุดเริ่มต้นของ "ปตท."

เรื่องที่บางคนอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของ "ปตท." ก็คือ "วิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2" ซึ่งต้องย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2521 ที่ทำให้ "น้ำมัน" ทั่วโลกขาดแคลน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากบริษัทข้ามชาติ ทำให้เกิดแนวคิดเพื่อดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในชื่อ "การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย" หรือปตท. เมื่อ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2521 โดยเกิดจากการรวมตัวขององค์กรรัฐสองแห่ง ได้แก่ องค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งมี ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ เป็นผู้ว่าการฯ ถึง 2 สมัย

หลังจากนั้นมีการวาง "ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ" เส้นแรกในจังหวัดระยอง และเริ่มใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2524 ซึ่งจุดนี้นี่เองที่ทำให้มีการสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติและตั้งบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ขึ้นมา สอดรับกับช่วงเปลี่ยนผ่านจากการใช้เตาฟืนมาเป็นก๊าซหุงต้ม จนเกิดการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างแพร่หลาย และที่สำคัญได้มีการตั้งคลังก๊าซหุงต้ม 6 คลังทั่วประเทศ เพื่อกำหนดราคาก๊าซหุงต้มให้เท่ากัน และยังช่วยให้เกิดการกระจายก๊าซหุงต้มสู่ชุมชนอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม ส่งให้ ปตท. มียอดจำหน่ายเชื้อเพลิงเป็นอันดับ 1 ของประเทศทั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้น

"อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ผู้พลิกโฉมให้ปั๊มน้ำมันกลายเป็น "PTT Life Station"

นอกจากความสำเร็จในฐานะปั๊มน้ำมันยืนหนึ่งในไทยแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ของปตท. ก็คือ "PTT Life Station" เพื่อเปลี่ยนรูปแบบปั๊มน้ำมันให้เป็นมากกว่าที่เติมน้ำมัน แต่ยังกลายเป็นสถานที่ที่เรียกว่า "Living Community" โดยสิ่งที่เป็นภาพจำมากที่สุดคงหนีไม่พ้น "คาเฟ่ อเมซอน" ร้านกาแฟสไตล์ป่าดงดิบที่มีรสชาติถูกปากคนไทยในราคาที่เอื้อมถึง

แนวคิดการพัฒนาให้ปตท. เป็นมากกว่าปั๊มน้ำมันทั่วไปนั้นเริ่มมาจาก อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มองว่าในอดีตปั๊มน้ำมันมักแข่งกันที่การมีหัวจ่ายจำนวนมากหรือพื้นที่กว้างขวาง แต่ทางปตท. อยากให้เป็นพื้นที่ที่เป็นจุดแวะพักมากขึ้น และทุกคนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ ทำให้ต้องมาคิดว่าควรเพิ่มอะไรในพื้นที่บ้าง และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คาเฟ่ อเมซอน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ พื้นที่สีเขียว ภายในปั๊ม และขยายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมารวมตัวกัน ทั้งดื่มกาแฟ นัดพบปะ หรือแม้แต่การพักผ่อนภายในคาเฟ่

"ถ้ามาทีหลัง แล้วคิดเหมือนคนอื่นก็คงประสบความสำเร็จยาก" เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ที่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ อธิบายไว้ถึงการพัฒนา ปั๊มน้ำมัน ให้เป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน และพร้อมที่จะก้าวต่อไปให้มีความครบวงจรมากขึ้น

คืนพื้นที่ป่า พร้อมมุ่งสู่ "Net Zero Emissions"

แม้ว่า ปตท. จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ก็ย่อมเผชิญปัญหาจาการดำเนินกิจการเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" สู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานมีความสัมพันธ์กับ "ภาวะโลกร้อน" ทางปตท. จึงประกาศตั้งเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน 2050 ที่แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ถือว่ายากจนเกินไป

ประเทศไทยมีแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมพัฒนาประเทศ ในพ.ศ. 2562 ประมาณ 370 - 380 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ส่วนปตท. เองก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติที่เลี่ยงไม่ได้แม้จะมีการปรับปรุงกระบวนการแล้วก็ตาม ทำให้ปตท. มุ่งมั่นจะเป็นองค์กร Net Zero Emissions ภายใน พ.ศ. 2593 ด้วยกลยุทธ์ "ปรับ เปลี่ยน ปลูก" โดยเฉพาะเป้าหมายปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ภายใน พ.ศ. 2573 จากเดิมที่ประสบความสำเร็จในการปลูกป่า 1 ล้านไร่ครั้งแรกไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2545

เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของหนังสือ "PTT Ignite Life Potential" เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนหรือว่าคาดไม่ถึง สามารถติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่