โรงแรมชี้ Q4 ลูกค้าจีน ‘ทรงตัว’ หนุนท่องเที่ยว 4 ด้าน ดึงทัวริสต์กระตุ้น ศก.

โรงแรมชี้ Q4 ลูกค้าจีน ‘ทรงตัว’ หนุนท่องเที่ยว 4 ด้าน ดึงทัวริสต์กระตุ้น ศก.

'ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน พ.ย. 2566' ระหว่าง 11-27 พ.ย. จากผู้ตอบแบบสำรวจ 95 แห่ง จัดทำโดยสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) และธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าโรงแรมกว่า 53% ประเมินว่าไตรมาส 4/2566 จะมี 'ลูกค้าต่างชาติ' (ไม่รวมชาวจีน) เพิ่มขึ้น เทียบกับไตรมาส 3/2566

โดยโรงแรมเกือบทุกภูมิภาคและโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ส่วนใหญ่คาดว่าลูกค้าจะเพิ่มขึ้น ยกเว้นโรงแรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่วนใหญ่ประเมินว่าลูกค้าต่างชาติจะใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2566

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ระบุว่า โรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาวและ 4 ดาวขึ้นไป ส่วนใหญ่ประเมินว่าในไตรมาส 4/2566 “ลูกค้าจีน” มีแนวโน้ม “ทรงตัว” จากไตรมาสก่อน ซึ่งการสำรวจเดือนก่อนโรงแรมส่วนใหญ่ในภาคเหนือประเมินว่าลูกค้าจีนจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ขณะที่โรงแรมในภาคตะวันออกส่วนใหญ่มองว่าลูกค้าจีนจะลดลง

ขณะที่ความขัดแย้งระหว่าง “อิสราเอล-ฮามาส” กระทบต่อการท่องเที่ยวของ “ลูกค้าตะวันออกกลาง” (ยกเว้นอิสราเอล) ไม่มากนัก โรงแรมกว่า 50% คาดไตรมาส 4/2566 ลูกค้ากลุ่มนี้จะยกเลิกการจองห้องพักไม่เกิน 15% ส่วนใหญ่เป็นโรงแรม 4 ดาวขึ้นไปและในเกือบทุกภูมิภาค ขณะที่โรงแรมราว 40% จะไม่ยกเลิกการจอง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมไม่เกิน 3 ดาว และอยู่ในภาคเหนือ

สำหรับ “อัตราการเข้าพัก” เดือน ธ.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 69.7% เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 66% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงไฮซีซัน โรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% คิดเป็น 73% ของผู้ตอบแบบสำรวจ และต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง (ไม่รวมจีน) และยุโรปตะวันตก

ในรายภูมิภาคเดือน พ.ย. ภาคเหนือ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 62.3% เพิ่มขึ้นจาก ต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 48.5% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43.3% ลดลงจากเดือนก่อน ที่มี 47.4% ภาคตะวันออก 64.6% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มี 58.2% ภาคกลาง 70.3% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มี 59.7% และภาคใต้ 69.7% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มี 52.6%

“สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นชัดเจนช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทง ถือเป็นเทศกาลที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก”

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มีสัดส่วนรายได้จากบริการที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น ทั้งจากธุรกิจในกลุ่มโรงแรม กลุ่มรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม รายได้ธุรกิจอื่น ลักษณะธุรกิจแบบผสมผสาน (Mixed-Use Hotels) และมีพันธมิตรทางการค้า โดยเฉพาะกับกลุ่มสถาบันการเงินที่ส่งผลให้ผู้พักแรมได้รับสิทธิประโยชน์เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่เร็วกว่าขนาดกลางและเล็ก

รวมถึง “การขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงเวลา 04.00 น.” ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตามกฎกระทรวงฉบับนี้จะขยายเวลาให้สถานบริการทุกท้องที่ทั่วประเทศเปิดบริการในคืนส่งท้ายปีเก่า (31 ธ.ค.) ไปจนถึงเวลา 06.00 น. ของวันปีใหม่ (1 ม.ค.) ในการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเข้ามาท่องเที่ยวดื่มกินและใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการรอโอกาสนี้มานานแล้ว!

อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ต้องการให้รัฐพิจารณาแนวทาง “ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน” โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าทั้งระบบ ทบทวนการปรับค่า FT งวดใหม่ด้วยความเหมาะสมอีกครั้ง การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าย่อมกระทบต่อต้นทุนทางตรงและทางอ้อม ผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ตมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ซึ่งภาคบริการที่มีการแข่งขันสูง มีสภาพคล่องต่ำ รายได้และผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัว ต้นทุนอื่นๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ และดอกเบี้ย

และตามนโยบายจากภาครัฐ “ส่งเสริมการท่องเที่ยว 4 ด้าน” ดึงศักยภาพทุกจังหวัดสู่สากล เพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ผลักดันรายได้จากการ 1.ส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง 2.ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นไฮซีซันตลอดทั้งปี 3.ขอให้ช่วยพัฒนาการบริการด้านข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น และ 4.โจทย์สำคัญกระตุ้นการท่องเที่ยว คือการเพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อทริป เพิ่มระยะเข้าพักเพื่อให้นักท่องเที่ยวพำนักนานขึ้น

“ภาคธุรกิจโรงแรมหวังว่าจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนตัวเลขที่สูงขึ้น สะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลสำเร็จของธุรกิจท่องเที่ยวไทย”

โรงแรมชี้ Q4 ลูกค้าจีน ‘ทรงตัว’ หนุนท่องเที่ยว 4 ด้าน ดึงทัวริสต์กระตุ้น ศก.