บิ๊กดีล! ‘DIL’ ควง ‘เทมาเส็ก’ พันธมิตรการเงิน ลงทุนร้าน 'เคเอฟซี' ในไทย

บิ๊กดีล! ‘DIL’ ควง ‘เทมาเส็ก’ พันธมิตรการเงิน ลงทุนร้าน 'เคเอฟซี' ในไทย

เจาะเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงบนสังเวียนไก่ทอดหมื่นล้านบาท! เมื่อทุนอินเดีย DIL ควง "เทมาเส็ก" มาเซ็นสัญญาลงทุนในอาร์ดี" แฟรนไชส์ซีขั้วที่ 3 ซึ่งโอกาสตลาดร้านอาหาร QSR ไก่ทอดในไทยอีก 10 ปี ยังขยายร้านได้อีก 2 เท่าตัว!

“เคเอฟซี”(KFC)ร้านอาหารบริการด่วนหรือ QSR ประเภทไก่ทอดเบอร์ 1 ของโลก ที่ทำตลาดในประเทศไทย กำลังจะมีแฟรนไชส์ซีรายที่ 3 อย่าง Devyani International DMCC บริษัทในเครือ Devyani International Limited (DIL) ที่ได้ดำเนินการ “เซ็นสัญญาลงทุนในบริษัทอาร์ดี” พร้อมเคลื่อนทัพธุรกิจร้านไก่ทอด จากที่มี “ซีอาร์จี” และ “ไทยเบฟ” 2 รายใหญ่รุกตลาดอยู่

ทว่า เบื้องหลังบิ๊กดีล มีความน่าสนใจมากมาย กรุงเทพธุรกิจ ชวนเกาะติดการเปลี่ยนแปลงบนสังเวียนไก่ทอดหมื่นล้านบาท! ครั้งนี้

บริษัท DIL ในประเทศอินเดีย เป็นกลุ่มบริหารจัดการขนาดใหญ่ในสายธุรกิจ QSR หรือ Limited Service Restaurants : LSR ในประเทศอินเดีย เนปาล และไนจีเรีย โดยมีร้านกว่า 1,350 สาขา ใน 240 เมือง ทั่วโลก ส่วนแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ โดยเฉพาะฐานทัพตลาดอินเดีย คือเป็นผู้บริหารร้านเคเอฟซี พิซซ่า ฮัท ของ “ยัม” ยักษ์ใหญ่อาหารระดับโลกอยู่แล้ว รวมถึงบริหารร้าน “คอสต้า คอฟฟี่”(Costa Coffee) ด้วย

บิ๊กดีล! ‘DIL’ ควง ‘เทมาเส็ก’ พันธมิตรการเงิน ลงทุนร้าน \'เคเอฟซี\' ในไทย

  • ไม่มาเดี่ยว ‘DIL’ ควง “เทมาเส็ก โฮลดิงส์” ลงทุน

ขณะที่ DIL ดำเนินการเซ็นสัญญาลงทุนใน “อาร์ดี” หรือ Restaurants Development Co., Ltd.(RD) ในประเทศไทย ไม่ได้ลุยเดี่ยว แต่มีการควงพันธมิตรอย่าง “เทมาเส็ก โฮลดิงส์”(CAMAS) กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์มาเป็น “พันธมิตรทางการเงิน”(Financial Partner)ด้วย

สำหรับโครงสร้างธุรกรรม หรือดีลครั้งนี้ DIL(อินเดีย) จะถือหุ้น 51% และ “เทมาเส็ก โฮลดิงส์” ถือหุ้น 49% ผ่านบริษัท Devyani International DMCC(ดูไบ) เพื่อไป “ซื้อกิจการ”หรือถือสิทธิ์ในกิจการ( Acquiring) โดยผ่านบริษัทต่างๆในประเทศไทย ที่มีทั้งรูปแบบ “โฮลดิง” หรือบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่การเงิน ได้แก่ White Snow Company Limited(ไทย) ซึ่งมีชื่อของ “นายอานุช โลเฮีย” เป็นกรรมการ บริษัทมีทุนจดทะเบียน 100,000 บาท และจัดตั้งบริษัทเมื่อเดือนมิถุนายน 2566, Blackbriar Co., Ltd.(ไทย) บริษัทมีทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท , Yellow Palm Co., Ltd.(ไทย) ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และบริษัทที่รับบททำงานหรือ Operating คือ Resturuants Development Co., Ltd(RD) ที่เป็นผู้บริหารร้านเคเอฟซี 274 สาขา ในฐานะ 1 ใน 3 แฟรนไชส์ซีนั่นเอง

ทั้งนี้ บริษัท White Snow Company Limited(ไทย) ยังมีบริษัท นีร์วาน (ประเทศไทย) จำกัดหรือ Nirwan(Thailand)Limited(ไทย) ถือหุ้น 51% โดยบริษัท นีร์วานฯ มีทุนจดทะเบียน 2.5 ล้านบาท เข้ามาอยู่ในฐานะพันธมิตรท้องถิ่นและมีบทบาทเป็นบริษัท Acquiring

  • ตระกูล “โลเฮีย” อภิมหาเศรษฐีหมื่นล้าน!!!

ที่น่าสนใจคือบริษัท นีร์วานฯ มีนายอานุช โลเฮีย เป็นกรรมการ ร่วมกับนางอาราธนา โลเฮีย ชาร์มา และนายสยามกุมาร ซิงห์

ตระกูล “โลเฮีย” ถือเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้าน ผู้ครองอาณาจักรปิโตรเคมี มีธุรกิจในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหากผู้อ่านติดตามข่าวสังคม จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมามีการแต่งงานของมหาเศรษฐีอินเดียสุดอลังการ มีนักแสดง เซเลบริตีชั้นนำของเมืองไทยบินไประเทศอินเดียเพื่อร่วมงานกันไม่น้อย

นอกจากนี้ ชื่อของนางอาราธนา โลเฮีย ชาร์มา แวดวงธุรกิจย่อมรู้จัก เพราะเธอเป็นรองประธาน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกเช่นกัน

  • ส่องแหล่งเงินทุนบิ๊กดีล

สำหรับการพิจารณาและการให้ทุนในครั้งนี้เป็นวงเงิน 4,580 ล้านบาท หรือประมาณ 128.9 ล้านดอลลาร์(คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 35.5 บาทต่อดอลลาร์) หรือ 1.066 หมื่นล้านรูปีอินเดีย(อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาทต่อ 2.33 รูปีอินเดีย)

โดยในส่วนของผู้ถือหุ้นจาก DIL วงเงิน 1,470 ล้านบาท และส่วนของเทมาเส็ก 1,410 ล้านบาท พันธมิตรท้องถิ่นไทย 50 ล้านบาท และเป็นการกู้ยืมธนาคารในประเทศ 1,650 ล้านบาท

บิ๊กดีล! ‘DIL’ ควง ‘เทมาเส็ก’ พันธมิตรการเงิน ลงทุนร้าน \'เคเอฟซี\' ในไทย

  • ทุนอินเดียมองไทยมีโอกาสทองธุรกิจ

สำหรับการดำเนินการเซ็นสัญญาลงครั้งนี้ “ทุนอินเดีย” มองศักยภาพ และโอกาสในประเทศไทยดังนี้ ไทยเป็นประเทศแกร่งในภูมิภาคอาเซียน ชนชั้นกลางมีรายได้ ค่าเงินมีเสถียรภาพ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)แข็งแกร่งจากทุกเสาหลักเศรษฐกิจ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การบริโภคสัตว์ปีกมีขนาดใหญ่สุดจากประเภทเนื้อสัตว์ทั้งหมด “เคเอฟซี” เป็นผู้นำตลาด SQR มีร้านมากกว่า 1,000 สาขา

ทั้งนี้ ในตลาดร้านอาหาร QSR ไก่ทอดมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 50% ของ QSR ทั้งหมด และเคเอฟซีมีส่วนแบ่งตลาด 89-90% ในตลาดไก่ทอด นอกจากนี้ “อาร์ดี” มีการดำเนินธุรกิจและทีมงานที่แข็งแกร่ง มีร้านอยู่ในทำเลที่ดี เป็นสินทรัพย์ที่ดี คนไทยมีไลฟ์สไตล์บริโภคอาหารนอกบ้านสูง ตลาดร้านอาหารมีการพัฒนาที่ดี และการเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ

บิ๊กดีล! ‘DIL’ ควง ‘เทมาเส็ก’ พันธมิตรการเงิน ลงทุนร้าน \'เคเอฟซี\' ในไทย ยิ่งดูลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย พบว่า 45% ของประชากรไทย อาศัยไม่ห่างจากร้านเคเอฟซี หรืออยู่ในระยะ 5 กิโลเมตร(กม.) ซึ่งถือเป็น catchment area ของธุรกิจร้านอาหาร เมื่อมองขุมทองแห่งโอกาส ใน 10 ปีข้างหน้า สามารถเพิ่มจำนวนร้านหรือสาขาได้อีก “2 เท่าตัว” การเปลี่ยนพฤติกรรมสั่งอาหารออนไลน์ การเพิ่มขึ้นของสาขาไดรฟ์ทรู สาขาในสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) ล้วนดึงดูดการลงทุน เป็นต้น

  • เคเอฟซี มีร้านมากกว่า QSR เบอร์ 1 โลก “แมคโดนัลด์” 4 เท่า!

นอกจาก “เคเอฟซี” เป็นผู้นำธุรกิจร้านไก่ทอดรวมถึงร้าน QSR ในไทยแล้ว ที่น่าสนใจคือการเปิดร้านหรือมีจำนวนสาขาเหนือกว่า “คู่แข่ง” รายสำคัญอย่าง “แมคโดนัลด์”​ ซึ่งเป็นฟาสต์ฟู้ดเบอร์ 1 ของโลก โดยจำนวนร้านต่างกันถึง 4 เท่าตัว ซึ่งในปี 2566 เคเอฟซี มีร้านให้บริการลูกค้า 1,009 สาขา และแมคโดนัลด์มี 245 สาขา

ระยะเวลา 7 ปี (2559-2565)เคเอฟซีเปิดร้านเพิ่มรวม 443 สาขา แมคโดนัลด์เปิดร้านเพิ่มขึ้น 7 สาขา เชสเตอร์มี 202 สาขา เปิดร้านเพิ่ม 4 สาขา เบอร์เกอร์คิงมีร้าน 116 สาขา เปิดร้านเพิ่ม 50 สาขา บอนชอน มีร้าน 99 สาขา เปิดร้านเพิ่ม 74 สาขา และเท็กซัส ชิคเก้นมีร้าน 98 สาขา เปิดร้านเพิ่ม 89 สาขา(ที่มา : Euromonitor, RDCL)

บิ๊กดีล! ‘DIL’ ควง ‘เทมาเส็ก’ พันธมิตรการเงิน ลงทุนร้าน \'เคเอฟซี\' ในไทย ด้าน “อาร์ดี” บริษัทมีร้านเคเอฟซี ณ 30 กันยายน 2566 จำนวน 274 สาขา โดย 7 ปีที่ดำเนินธุรกิจ มีการเปิดร้านใหม่ 147 สาขา ในส่วนของร้านให้บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 113 สาขา ภาคใต้ 94 สาขา ภาคอีสาน 47 สาขา และภาคตะวันตก 20 สาขา ปี 2566 ทำผลงานรายได้แข็งแกร่งที่ 5,176 ล้านบาท และแบรนด์ทำกำไร 14-15% หากไปดูข้อมูลทางการเงินของบริษัทยังพบการ “ขาดทุน” ลดลงอย่างมาก ปี 2565 ขาดทุนกว่า 37 ล้านบาท จากปี 2564 ขาดทุนกว่า 230 ล้านบาท

ใดๆก็ตาม ดีลนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2567