อินไซต์ 'คนไทย' เจนนาว-นิว เสพหลากสื่อ ออมเงินเก่ง 'แบรนด์' ชี้วัดการซื้อ
ในวันที่สื่อหลากหลาย สื่อเก่า-ใหม่ มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคแตกต่างกันไป ในการวางแผนสื่อสารการตลาด การเข้าใจพฤติกรรม “ผู้บริโภค” การเสพสื่อแต่ละแพลตฟอร์ม ยังเป็นการบ้านที่เหล่านักการตลาด เอเยนซี ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
นีลเส็น มองอนาคตสื่อโฆษณา “ทีวี” ยังมีบทบาทในการสื่อสารตลาด สร้างแบรนด์เจาะกลุ่มเป้าหมาย แต่อีกด้าน ยังพาไปทำความรู้จัก เข้าใจผู้บริโภคต่างเจนเนอเรชันผ่านหัวข้อ “Generational Consumer Insight : Understanding Diverse Perspectives” กับ 2 กลุ่ม คือ เจนเนอเรชันนาว(Now) และเจนเนอเรชันนิว(New)
- ใครคือเจน Now-New
นางสาวรัญชิตา ศรีวรวิไล (คุณโอ) ตำแหน่ง ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย ฝ่ายโฆษณาและเอเจนซี่ นีลเส็นประเทศไทย ฉายภาพผู้บริโภคเจนนาว คือบรรดาเจนฯเอ็กซ์(X)อายุ 40-54 ปี หรือราว 15.8 ล้านคน และเบบี้บูมเมอร์(Baby Boomer) อายุ 55 ปีขึ้นไป มีประมาณ 17.3 ล้านคน โดย 2 กลุ่มนี้เป็นสัดส่วนใหญ่ 57% ขณะที่เจนนิว คือเจนซี(Z)อายุ 12-24 ปี มีประมาณ 10.9 ล้านคน และเจนวาย(Y)อายุ 25-39 ปี มีประมาณ 14.6 ล้านคน
ด้านการเสพสื่อ หรือแบรนด์ต้องการสื่อสารตลาดกับกลุ่ม “เจนนาว” สื่อ “ทีวี” ยังเข้าถึงได้ดี และยังใช้สื่อข้ามแพลตฟอร์ม(Cross Platform)การเลือกซื้อสินค้า “คุณภาพ” ต้องมาก่อน และเลือกซื้อแบรนด์ที่มีความไว้วางใจ ขณะที่ “เจนนิว” เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี ดิจิทัล และบางกลุ่มอย่าง “เจนซี” อยู่ไม่ได้ หากไม่มีอินเตอร์เน็ต
เมื่อดูการใช้สื่อข้ามแพลตฟอร์ม เป็นดังนี้
-ทีวี
เจนนาวเข้าถึง 85% เจนนิว 77%
-อินเตอร์เน็ต
เจนนาวเข้าถึง 83% เจนนิว 99%
-ออดิโอ สตรีมมิง
เจนนาวเข้าถึง 55% เจนนิว 89%
-ข่าวออนไลน์
เจนนาวเข้าถึง 47% เจนนิว 72%
-สื่อโฆษณานอกบ้าน(OOH)
เจนนาวเข้าถึง 53% เจนนิว 68%
-วิดีโอ สตรีมมิง
เจนนาวเข้าถึง 41% เจนนิว 64%
-อินฟลูเอนเซอร์
เจนนาวเข้าถึง 26% เจนนิว 54%
-สื่อโฆษณาในห้าง
เจนนาวเข้าถึง 26% เจนนิว 39%
“การบริโภคสื่อเจนนิวเข้าถึงทุกสื่อ สะท้อนว่าไม่เสพสื่อประเภทเดียว ไม่ได้เข้าถึงสื่อผ่านแค่หน้าจอเดียว แต่ explore สื่อหลากหลาย ข้ามแพลตฟอร์ม ส่วนเจนนาว ยังเน้นและเชื่อสื่อทีวี สื่อนอกบ้าน”
- สุขภาพ เทรนด์ความยั่งยืนตอบโจทย์
เทรนด์ที่น่าสนใจของ 2 เจนนาว-นิว คือ ให้ความใส่ใจกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะเจนนาว สัดส่วน 68% และเจนนิวสัดส่วน 61% นอกจากนี้ “ความยั่งยืน” รักธรรมชาติยังเข้ามายู่ในไลฟ์สไตล์ ต้องการใช้ “สินค้าที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม”
เจาะลึกผู้บริโภคคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ต้องกรซื้อสินค้าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2566 มีสัดส่วน 72% จากปี 2565และ 2564 สัดส่วน 68% ปี 2563 สัดส่วน 60% และปี 2562 สัดส่วน 56% กลุ่มเจนนิว( ZและY) 82% ยังบอกด้วยว่ามีการเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทนพลาสติก เป็นต้น
นอกจากนี้ 2 เจนยังเปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายทางเพศ โดยเจนนิวสัดส่วนถึง 67% เจนนาว 54% ด้านความเท่าเทียม การกลั่นแกล้งเจนนิวให้ความสำคัญถึง 55% ส่วนเจนนาวอยู่ที่ 39%
- คนไทย “ออมเงินประจำ-วินัยการเงิน” ดีขึ้น
“เงิน” นอกจากจะบันดาลสุขแล้ว ปัจจุบันยังเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จด้วย โดยเฉพาะกับเจนนิวสัดส่วนถึง 80% ขณะที่เจนนาวมองเงินบ่งชี้ความสำเร็จ 69%
เมื่อมีเงิน “คนไทยเจนนิว” ยังเก็บออมเงินเป็นประจำมากขึ้นสัดส่วน 53% ซึ่งเทียบกับปี 2562 มีเพียง 30% เท่านั้นที่ออมเงินประจำ ภาพดังกล่าวสะท้อนการมีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น นอกจากนี้ 31% ยังมีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ไม่ใ่ช่แค่ฝากเงินในบัญชีธนาคารแบบออมทรัพย์
- ส่องพฤติกรรมชอปปิง
มีเงินมากหรือน้อย สิ่งที่นักการตลาด เจ้าของแบรนด์อยากรู้คือพฤติกรรมซื้อสินค้าหรือการชอปปิง เป็นดังนี้
เจนนาว
-79% เลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG)จากแบรนด์ที่คุ้นเคย
-68% เลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ชอบ
-28% ค้นหาสินค้าจากการรีวิวจากอินเตอร์เน็ตก่อนชอปปิง
-23% ชอบชอปปิงออนไลน์
-31% ลองสิ่งใหม่ก่อนคนอื่น
-33% ซื้อสินค้าที่ได้รับการแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ
-27% ชอบทดลองสินค้าจำเป็น(FMCG)ใหม่ๆ
เจนนิว
-76% เลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG)จากแบรนด์ที่คุ้นเคย
-68% เลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ชอบ
-52% ค้นหาสินค้าจากการรีวิวจากอินเตอร์เน็ตก่อนชอปปิง
-50% ชอบชอปปิงออนไลน์
-46% ลองสิ่งใหม่ก่อนคนอื่น
-44% ซื้อสินค้าที่ได้รับการแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ
-44% ชอบทดลองสินค้าจำเป็น(FMCG)ใหม่ๆ
นอกจากนี้ เจาะลึก “อินฟลูเอนเซอร์” ที่ทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของเจนนิว(Z และ Y) มีสัดส่วนถึง 60% เป็นต้น
“เจนนาวให้ความสำคัญเรื่องแบรนด์ค่อนข้างมากในการซื้อสินค้า FMCG ส่วนเจนนาวต้องการลองอะไรใหม่ๆ สินค้าใหม่ มีการค้นหารีวิวจากอินเตอร์เน็ตก่อนชอปปอง เชื่อผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ เจนนิวยังซื้อบนออนไลน์จะเป็นกลุ่มแฟชั่น สินค้าโกรเซอรี่ เครื่องสำอาง ฯมากกว่าเจนนาว”
เนื่องจากพฤติกรรมนักช้อปจะไม่แยกโลกออฟไลน์-ออนไลน์ แต่จะผสานทุกช่องทางให้อยู่ในชีวิต “ออมนิ แชนแนล” จึงมีความสำคัญมากขึ้น แต่ก่อนซื้อ “คนไทย” สัดส่วน 59% ต้องหาข้อมูลสินค้าในโลกอินเตอร์ก่อนซื้อในร้านค้า และ 53% ที่ช้อปออนไลน์ แต่ก่อนซื้อขอไปส่องสินค้าโดนใจในร้านค้าก่อนด้วย ภาพดังกล่าว เลยทำให้ปี 2565 ที่ผ่านมา “แบรนด์มีการโยกงบ” สื่อสารการตลาดมายังสื่อโฆษณาในห้าง(In-store Media) 902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากปี 2564
- “แบรนด์” สำคัญกว่า “ราคา”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า 2 อันดับแรกของ “เจนนาว-นิว” คือ คุณภาพ และแบรนด์ที่คุ้นเคย ขณะที่อันดับ 3 เจน Y และ X ให้ความสำคัญด้าน “ราคา” ส่วนเจน Z และ Baby Boomer ให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ชอบ
“เมื่อลงลึกจะพบว่าแบรนด์มีความสำคัญกว่าราคาสินค้า”
ทั้งนี้ นักการตลาดเอเชียแปซิฟิก(APAC) จึงให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้แบรนด์(Brand Awareness) เพื่อจุดประสงค์ดังนี้ สร้างการรับรู้แบรนด์ 61% เกณฑ์ลูกค้าใหม่ 57% สื่อสารเป้าประสงค์แบรนด์(Brand Purpose) 47% นำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลาย 42% ขยายสู่ตลาดโลก 42% และเอนเกจเมนต์กับเจนซี 37%
ที่สำคัญการวัดผลของการสร้างแบรนด์ผ่านสื่อ พบว่า 1 point ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 1%