ธุรกิจร้านอาหาร 'สู้ต้นทุน' ‘ซีอาร์จี’ ควง 'เคเอฟซี' ติดอาวุธดิจิทัล หนุนโต

ธุรกิจร้านอาหาร 'สู้ต้นทุน'  ‘ซีอาร์จี’ ควง 'เคเอฟซี' ติดอาวุธดิจิทัล หนุนโต

“เคเอฟซี” ภายใต้การนำทัพของฝั่ง “ซีอาร์จี” เดินหน้าสร้างการเติบโตต่อเนื่อง ขานรับตลาดอาหารบริการด่วน(QSR) ในหมวดหมู่ “ไก่ทอด” ที่กินตลาดสัดส่วน 50% และยังคงขยายตัวรับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยคุ้นชิน ถูกใจรสชาติ

ปี 2566 “ไก่ทอด” มีมูลค่าตลาดราว 2 หมื่นล้านบาท และเติบโต 12% แนวโน้มปี 2567 ตลาดจะเป็นอย่างไร และ “ซีอาร์จี” จะมีกลยุทธ์ใด ผลักดันการเติบโต ฟังมุมมองจาก ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดหรือซีอาร์จี

  • ภาพรวมร้านอาหาร 4 แสนล้านบาท โต 4-5%

ปิยะพงศ์ ฉายภาพธุรกิจร้านอาหารมีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท ปี 2566 การเติบโตอยู่ที่ 4-5% โดยเฉพาะการนั่งรับประทานที่ร้าน(Die-in) และการซื้อกลับบ้าน(takeaway) ส่วนเดลิเวอรี “ชะลอตัว” ตามสถานการณ์ที่ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น

ธุรกิจร้านอาหาร 4 แสนล้านบาท หากมองเฉพาะหมวด QSR มีมูลค่าราว 4-5 หมื่นล้านบาท ยังแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ พิซซ่า เบอร์เกอร์ และไก่ทอด ซึ่งอย่างหลังยังคงเป็นตลาดใหญ่ 50% เพราะคนไทยยังคุ้นชินการกินไก่ทอดมากกว่า อีกทั้งไก่ทอดยังเป็นอาหารโปรตีนที่มีราคาจับต้องได้ด้วย

ธุรกิจร้านอาหาร \'สู้ต้นทุน\'  ‘ซีอาร์จี’ ควง \'เคเอฟซี\' ติดอาวุธดิจิทัล หนุนโต ทั้งนี้ ภาพรวมร้านอาหารไก่ทอด แบรนด์ “เคเอฟซี” ยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาด 80-90% เบอร์ 1 อย่างเหนียวแน่นด้วย แม้จะมีผู้เล่นหลากแบรนด์ หลากสไตล์ไก่ทอดเข้ามาเขย่าตลาดก็ตาม แต่ก็เพิ่มสีสัน และการเติบโตพอหอมปากหอมคอ ยังไม่สามารถเบียดบัลลังก์แบรนด์ระดับโลก(Global Brand)ของผู้พันได้

  • เคเอฟซี ลุยสาขาดิจิทัล

“เคเอฟซี” ในประเทศไทย มีร้านให้บริการ 1,060 สาขาทั่วประเทศ ผ่าน 3 แฟรนไชส์ ได้แก่ กลุ่มไทยเบฟ, อาร์ดี และซีอาร์จี โดยซีอาร์จี สิ้นปี 2566 คาดว่าจะมีร้านให้บริการทั้งสิ้น 335 สาขา

“ซีอาร์จี” มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอจำนวนมาก ครอบคลุมประเภทอาหารไทย ญี่ปุ่น ตะวันตก QSR ฯ แต่ “เคเอฟซี” เป็นแบรนด์เรือธงที่ทำรายได้ให้บริษัทราว 50% ดังนั้น แผนปี 2567 จึงเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทเตรียมงบลงทุนราว 500 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านใหม่จะเห็น 15-20 สาขา

ธุรกิจร้านอาหาร \'สู้ต้นทุน\'  ‘ซีอาร์จี’ ควง \'เคเอฟซี\' ติดอาวุธดิจิทัล หนุนโต

แนวทางการเปิดร้านจะชูคอนเซปต์ “ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ ฮับ” ซึ่งจะเป็นทั้งการเปิดร้านใหม่ และปรับโฉมร้านเดิมรวมทั้งสิ้น 50 สาขา หลังจากรูปแบบร้านดิจิทัล เริ่มคิกออฟในปี 2566 แต่ร้านเรือธงหรือ แฟล็กชิป สโตร์ คือการใช้งบราว 15 ล้านบาท เนรมิตร้านเคเอฟซี สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เนื้อที่ 350 ตารางเมตร(ตร.ม.) เป็นแห่งแรก

สำหรับเคเอฟซี ดิจิทัล สโตร์ เป็นการเดินหมากรบตามนโยบายของ “ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)” ในฐานะเจ้าของแบรนด์ และยังสอดคล้องกับกลยุทธ์การทำตลาดทั่วโลก ที่ให้ความสนใจพลิกโฉมร้านเป็นดิจิทัล เพื่อรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งร้านดิจิทัล เป็นการปรับตัวตั้งแต่ช่วงโควิด และนำร่องในตลาดยุโรป เช่น ประเทศอังกฤษ เป็นต้น

ปัจจุบันร้านเคเอฟซี มีหลายรูปแบบให้บริการลูกค้า เช่น ไดรฟ์ ทรู, ร้านในสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) ซึ่งเป็นไซส์เล็ก ลงทุนไม่มากนัก ร้านตอบโจทย์บริการเดลิเวอรี เป็นต้น ขณะที่ร้านแฟล็กชิปของเคเอฟซี ภายใต้ซีอาร์จี มี 2 แบบ ได้แก่ ร้านสีเขียวหรือกรีน สโตร์ ที่บรรยากาศ ของในร้านจะมุ่งรักษ์โลก ตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยมีต้นแบบที่สาขา โรบินสัน ราชพฤกษ์ และดิจิทัล สโตร์ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ธุรกิจร้านอาหาร \'สู้ต้นทุน\'  ‘ซีอาร์จี’ ควง \'เคเอฟซี\' ติดอาวุธดิจิทัล หนุนโต

  • เจาะเทรนด์ร้านอาหาร QSR

ปิยะพงศ์ กล่าวอีกว่า เทรนด์ร้านอาหาร QSR จากนี้ไป “ดิจิทัล” จะมีบทบาทมากขึ้น เพราะจะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับผู้บริโภคตลอดทุก Journey ลูกค้าอ่านเมนู เห็นสินค้าเด่นง่ายขึ้น ด้านโอเปอเรชั่นของร้าน ทำให้เห็นรูป เมนูอาหารชัด ออกสินค้าใหม่ ไม่ต้องเปลี่ยนเมนูให้ยุ่งยาก การจ่ายเงินสะดวกมากขึ้น ระยะยาวยังช่วย “ประหยัดกำลังคน” ด้วย หากแพลฟตอร์มสร้างประสบการณ์ที่ดี(UXIUI)ยังเอื้อให้การบริการเร็วขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจร้านอาหาร QSR จะดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย ยุคนี้ต้องเข้าถึง “ไลฟ์สไตล์” ของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย การมีสินค้าใหม่ เช่น หนังไก่ทอดเคเอฟซี ที่สร้างกระแสปังมาก ขายดิบขายดีและเป็นไวรัลบนโลกการตลาดโดยเฉพาะออนไลน์ การมีอีเวนต์ เช่น สงกรานต์ การปูเสื่อทำกิจกรรมในร้าน เป็นต้น

“หลังจากเปิดร้านเคเอฟซี ดิจิทัล สโตร์ ลูกค้าเข้ามาใช้บริการผ่านดิจิทัลสัดส่วน 75% แล้ว”

  • เกมสู้ต้นทุน  และ “เคเอฟซี” มุ่งทำรายได้ 1 หมื่นล้านบาท

ปี 2566 ซีอาร์จี คาดการณ์ยอดขายประมาณ 7,000 ล้านบาท เติบโต 11-12% จากปีก่อนยอดขายรวมกว่า 6,500 ล้านบาท โดยผ่านไปไตรมาส 3 บริษัทยังสร้างการเติบโตยอดขายเคเอฟซีได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ธุรกิจร้านอาหาร \'สู้ต้นทุน\'  ‘ซีอาร์จี’ ควง \'เคเอฟซี\' ติดอาวุธดิจิทัล หนุนโต

ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์

อย่างไรก็ตาม จากการขยายสาขาและเคลื่อนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง บริษัทมองเป้ายอดขายปี 2567 อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท และคาดหวังภายในปี 2569 จะมียอดขายทะยานสู่ 1 หมื่นล้านบาท

สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารปี 2566 ต่อเนื่องถึงปีหน้า ความท้าทายใหญ่เป็นเรื่องของ “ต้นทุน” โดยเฉพาะวัตถุดิบ ค่าไฟ ตลอดจนค่าแรง ทั้งนี้ ต้นปี 2566 ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งแรงมาก เฉลี่ยอยู่ระดับ 10% และเริ่มอ่อนตัวลงไตรมาส 3-4 ส่วนปีหน้า “ค่าแรงขั้นต่ำ” จะเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการร้านอาหาร ทำให้บริษัทต้องหาทางบริหารจัดการต้นทุน เพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจและ “ราคาสินค้า”

“เฉพาะเคเอฟซี ภายใต้ซีอาร์จี เรามีพนักงานกว่า 6,000 คน การทำร้านอาหารปีนี้และปีหน้า เป็นปีที่ต่อสู้กับต้นทุนที่สูงขึ้น เราต้องดูแลต้นทุนทุกมิติ อีกมุมคืออำนาจการซื้อของผู้บริโภค ที่ท้าทายตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้เราต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยเคลื่อนธุรกิจ สร้างแบรนด์ให้เติบโต และเป็นการวางรากฐานให้แกร่งรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนด้วย”