ธุรกิจไทยตั้งรับความเสี่ยง 'เมียนมา' คุมเข้มต้นทุน-พึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น

ธุรกิจไทยตั้งรับความเสี่ยง 'เมียนมา'  คุมเข้มต้นทุน-พึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น

ธุรกิจไทยใน 'เมียนมา' รับมือความเสี่ยงจากสถานการณ์สู้รบ 'กลุ่มชาเทรียม' เจ้าของโรงแรมในย่างกุ้ง ปรับกลยุทธ์ ลดต้นทุน-พึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น ยันเดินหน้าธุรกิจต่อ ด้านเจ้าของร้านอาหารไทย 'ต้มยำกุ้ง' รวม 5 สาขาในเมียนมา เน้นสื่อสารลูกค้า ย้ำเมืองท่องเที่ยวยังเที่ยวได้

ธุรกิจไทยในประเทศเมียนมา เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และการค้า กำลังติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพเมียนมาอย่างใกล้ชิด พร้อมปรับแผนธุรกิจรับมือความเสี่ยงและผลกระทบต่างๆ เพื่อประคองธุรกิจให้ไปรอดได้

นางสาวิตรี รมยะรูปกรรมการผู้จัดการ ชาเทรียม ฮอสพิทอลลิตี้ กลุ่มโรงแรมและเรสซิเดนส์สัญชาติไทย ภายใต้การพัฒนาของซิตี้เรียลตี้ (City Realty) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือของตระกูลโสภณพนิช กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โรงแรมชาเทรียม รอยัล เลค ย่างกุ้ง ได้รับผลกระทบมานานมากตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อปี 2564 สถานการณ์การเข้าพักในช่วงที่ผ่านมาก็มีขึ้นๆ ลงๆ อัตราการเข้าพักไม่สูง ทำให้ในตอนนี้โรงแรมต้องพึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น (Local) และลูกค้ากลุ่มเอ็กซ์แพต (Expat) ชาวต่างชาติที่อาศัยในย่างกุ้งเข้ามาพำนักระยะยาว

หลังจากเกิดรัฐประหารและสถานการณ์ความตึงเครียดในเมียนมา ที่ผ่านมาโรงแรมชาเทรียม รอยัล เลค ย่างกุ้ง ได้ปรับแผนด้วยการลดต้นทุน พยายามหาลูกค้าท้องถิ่นมากขึ้น พึ่งพารายได้จากหมวดอาหารและเครื่องดื่มกับการจัดงานเลี้ยง โดยได้ให้นโยบายกับผู้บริหารโรงแรมฯ ว่าให้เร่งหาลูกค้าท้องถิ่นมากขึ้น และลูกค้าพำนักระยะยาวเข้ามาเป็นฐานลูกค้าหลัก รวมถึงการหาลูกค้ากลุ่ม B2B มากกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป (Leisure Market)

สำหรับ ลูกค้าคนไทย พบว่ากลุ่มที่มาเที่ยวน้อยลงไปมาก ส่วนใหญ่ที่ยังเดินทางมาเป็นกลุ่มมาทำงานและทำธุรกิจมากกว่า ไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่ลูกค้าคนไทยนิยมมาท่องเที่ยวเพื่อไหว้พระทำบุญ

“เราไม่ได้การันตีเรื่องความปลอดภัยกับลูกค้า เพราะมันขึ้นกับว่าลูกค้าจะเดินทางไปเที่ยวที่ไหน ประกอบกับไม่มีใครถามเพื่อให้เราการันตีด้วย โดยเราไม่แนะนำให้ออกไปข้างนอกโรงแรมช่วงกลางคืน เพราะบางที่ก็ยังมีประกาศเคอร์ฟิวอยู่”

นางสาวิตรี กล่าวย้ำว่า กลุ่มชาเทรียมยังคงยืนยันดำเนินธุรกิจโรงแรมแห่งนี้ในย่างกุ้งต่อไป เพราะว่ายังมีลูกค้าท้องถิ่นในการผลักดันรายได้

ธุรกิจไทยตั้งรับความเสี่ยง \'เมียนมา\'  คุมเข้มต้นทุน-พึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น

ทั้งนี้ ชาเทรียม ฮอสพิทอลลิตี้ ได้เปิดตัวแบรนด์ “ชาเทรียม” โรงแรมและเรสซิเดนส์ระดับหรู 5 ดาว ด้วยการปักหมุดแบรนด์นี้แห่งแรกที่ประเทศเมียนมา “ชาเทรียม รอยัล เลค ย่างกุ้ง” ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2541 แต่ได้รีแบรนด์จากชื่ออื่นมาสวมแบรนด์ชาเทรียมแทนเมื่อปี 2551 ก่อนจะเดินหน้าขยายโรงแรมในเครือเพิ่มเติม ปัจจุบันมีทั้งหมด 12 แห่งใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย 10 แห่ง เมียนมา 1 แห่ง และญี่ปุ่น 1 แห่ง ประกอบด้วยแบรนด์ “ชาเทรียม แกรนด์” (Chatrium Grand) 1 แห่ง “ชาเทรียม”(Chatrium) 6 แห่ง “มายเทรียณ์” (Maitria) 4 แห่ง และ “เอ็มโพเรียม สวีท” 1 แห่ง

  • เจ้าของร้านอาหาร “ต้มยำกุ้ง” ยัน “เที่ยวได้”

ด้านนางละมัย อู่ทอง เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร Tom Yam Koong (ต้มยำกุ้ง) ในประเทศเมียนมา กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ร้านต้มยำกุ้งเปิดให้บริการมานานกว่า 23 ปี สาขาแรกอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ปัจจุบันเปิดรวม 5 สาขา ลูกค้าส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นกรุ๊ปทัวร์คนไทย ส่วนอีก 30% เป็นคนท้องถิ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม ลาว และแถบตะวันตกที่เริ่มกลับมา เคล็ดลับการทำธุรกิจร้านอาหารในเมียนมาคือ เน้นดูแลแขกให้ดี ปรับเปลี่ยนอาหารให้ตรงความต้องการลูกค้า ซึ่งถือเป็นหัวใจของงานบริการอยู่แล้ว

หลังจากเกิดสถานการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพเมียนมา พบว่าร้านอาหาร 2 สาขาในย่างกุ้ง ได้รับผลกระทบน้อยมาก มีกรุ๊ปทัวร์คนไทยยกเลิกบ้างเล็กน้อย ขณะที่อีก 3 สาขาในมัณฑะเลย์ ได้รับผลกระทบน้อยมากเช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังมั่นใจออกเดินทางมาเที่ยวเมียนมา

“ธุรกิจร้านอาหารต้มยำกุ้งในตอนนี้หลังผ่านยุคการระบาดของโควิด-19 เรียกได้ว่าฟื้นกลับมาอยู่ตัว แต่ยังไม่กลับไปเท่าเดิมเหมือนยุคก่อนโควิดที่นับเงินแบบเละเทะ เพราะมีคนไทยเดินทางมาเที่ยวเมียนมาจำนวนมาก ส่วนแผนตั้งรับระยะสั้นของร้านในตอนนี้คือ ต้องคอยสื่อสารกับลูกค้าถึงสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยืนยันว่ามาเที่ยวได้ ถือว่าปลอดภัยสำหรับเมืองท่องเที่ยว แต่ถ้าแถบชายแดน ตรงนี้ไม่รับประกัน” นางละมัยกล่าว

 

  • “ทัวร์เมียนมา” เริ่มฟื้น ออกกรุ๊ป พ.ย.-ธ.ค.

นายสิทธิชัย อุดมกิจธนกุล อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ซึ่งเป็นสมาคมของบริษัททัวร์พาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในช่วงแรกที่มีข่าวการสู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพเมียนมาในพื้นที่ตะเข็บชายแดนเมียนมา-จีน ตลอดจนข่าวการรุกคืบเข้าใกล้เมืองหลวงเนปิดอว์นั้น ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่กำลังวางแผนไปเที่ยวเมียนมาเกิดความหวั่นวิตกต่อความปลอดภัย จึงพากันยกเลิกการเดินทางทุกกรุ๊ป

“ผลกระทบดังกล่าวทำให้ลูกค้ายกเลิกการเดินทางทั้งหมด จนกระทั่งข่าวเริ่มแน่ชัดว่าเป็นการสู้รบกัน เหมือนที่ผ่านมา เพียงแต่ครั้งนี้เกิดการสู้รบกันหลายจุด แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ห่างจากจุดท่องเที่ยวมาก ลูกค้าจึงเริ่มวางแผนเที่ยวเมียนมาใหม่ โดยเริ่มมีลูกค้าเดินทางในเดือน พ.ย. และมีการจองการเดินทางไปถึงเดือน ธ.ค. แล้ว”

สำหรับแผนตั้งรับระยะสั้นของบริษัททัวร์ จะวางแผนการจำหน่ายทัวร์เป็นกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) เป็นคณะเล็ก โดยทางบริษัททัวร์จะจัดหาตั๋วเครื่องบินในลักษณะตั๋วเดี่ยว และจัดรายการท่องเที่ยวตามที่ลูกค้าต้องการ ส่วนแผนตั้งรับระยะยาว คงต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร

ธุรกิจไทยตั้งรับความเสี่ยง \'เมียนมา\'  คุมเข้มต้นทุน-พึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น

 

  • ร่วมแฟมทริปสำรวจเส้นทาง “เที่ยวสายมู”

นายสิทธิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 24 - 28 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้ประกอบการบริษัททัวร์สมาชิก TTAA และสื่อมวลชนรวม 30 ราย ได้ร่วมเดินทางศึกษาเส้นทางสำรวจแหล่งท่องเที่ยว (FAM Trip) ในประเทศเมียนมา พร้อมพบปะผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมจากเมียนมา เพื่ออัปเดตข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหารในย่างกุ้ง อินแขวน หงสาวดี และเมืองสำคัญอื่นๆ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนการเดินทางจากสมาคมท่องเที่ยวสหภาพเมียนมา (Union Myanmar Travel Association: UMTA)

ธุรกิจไทยตั้งรับความเสี่ยง \'เมียนมา\'  คุมเข้มต้นทุน-พึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น

“จากการไปสำรวจเส้นทางและอัปเดตข้อมูลด้านการท่องเที่ยวในเมียนมาครั้งนี้ เห็นว่าสถานการณ์ในเมืองท่องเที่ยวของเมียนมา ทุกอย่างเป็นปกติดี อีกทั้งเมียนมาได้มีการเปิดโรงแรมระดับ 5 ดาวใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดย สถานการณ์ต่างๆ น่าจะดีขึ้น เพราะได้มีการเซ็นสัญญาหยุดการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์”

สำหรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยที่เลือกเดินทางไปเมียนมา ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์มากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น มาขอพรจากเทพทันใจและเทพกระซิบ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักท่องเที่ยวสายมู อีกจุดหมายที่สนใจมาคือ ต้องมากราบไหว้สักการะและชมความงามของเจดีย์ชเวดากอง พระธาตุอินทร์แขวน และ ต้องการสัมผัสวัฒนธรรม อาหารการกิน ความเป็นอยู่ของชาวเมียนมา

ธุรกิจไทยตั้งรับความเสี่ยง \'เมียนมา\'  คุมเข้มต้นทุน-พึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น

ธุรกิจไทยตั้งรับความเสี่ยง \'เมียนมา\'  คุมเข้มต้นทุน-พึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น

 

  • “อินฟอร์มาฯ” ชี้คัมแบ็กทำธุรกิจเอ็กซิบิชันยาก

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อก่อนบริษัทมีสำนักงานที่ประเทศเมียนมา ตอนปี 2562 มีการจัดงานแสดงสินค้า (Exhibition) รวม 4 งาน ก่อนจะถอนตัวออกมาในช่วงโควิด-19 ระบาด ซึ่งเจอผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในเมียนมาด้วย แต่ยังคงสภาพความเป็นบริษัทไว้ในเมียนมา จ้างพนักงานไว้ 1 อัตราเพื่อคอยอัปเดตสถานการณ์และข้อมูล ส่วนการจะกลับเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาอีกครั้ง ยอมรับว่าอาจจะยาก เพราะยังไม่เห็นความชัดเจนในการกลับไป

“จากสถานการณ์การเมืองในเมียนมาตอนนี้ เรามองว่าทำธุรกิจที่ประเทศไทยดีกว่า ซึ่งตลาดงานแสดงสินค้ากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 มาได้”

ธุรกิจไทยตั้งรับความเสี่ยง \'เมียนมา\'  คุมเข้มต้นทุน-พึ่งพาลูกค้าท้องถิ่น

 

  • สู้รบในเมียนมายังไม่กระทบธุรกิจ “มาม่า”

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า กล่าวว่า สถานการณ์สู้รบในเมียนมาขณะนี้ธุรกิจของบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การค้าขายยังดำเนินการ ตลอดจนผู้คนในเมืองยังใช้ชีวิตกันตามปกติ ขณะที่การรายงานข่าวยอมรับมีความรุนแรง และแสดงพื้นที่การสู้รบเป็นสีแดงค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ความเสี่ยงทางธุรกิจจากการสู้รบครั้งนี้ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับการประท้วงใหญ่ในประเทศเมียนมาหลายปีก่อน สำหรับโรงงานผลิตบะหมี่ฯ ของมาม่า ในเมียนมา ตั้งอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ มีพนักงานกว่า 100 คน ซึ่งบริษัทเข้าไปลงทุนสร้างฐานผลิต ตลอดจนทำตลาดเป็นเวลานานนับสิบปีแล้ว

“ธุรกิจบะหมี่ฯ ของมาม่า ไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบที่เกิดขึ้น โดยพื้นที่ใจกลางเมืองทั้งการทำธุรกิจ ค้าขาย และชีวิตผู้คนยังคงดำเนินไปตามปกติ ซึ่งการรายงานสถานการณ์โดยรวมอาจส่งผลต่อความรู้สึก แต่เหตุการณ์ยังไม่เหมือนกับการสู้รบระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ แต่ยอมรับว่าผู้คนมีการตื่นตัวในสิ่งที่ต้องทำตามคำแนะนำของภาครัฐ"