สาเหตุ ‘เบียร์’ ไทยเบฟ ‘กำไร’ หดหาย 2,602 ล้านบาท

สาเหตุ ‘เบียร์’ ไทยเบฟ  ‘กำไร’ หดหาย 2,602 ล้านบาท

รายงานผลประกอบการบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ปี 2565-2566 แม้ยอดขายยังอู้ฟู่กว่า 2.79 แสนล้านบาท แต่ภาพรวม “กำไรสุทธิ” ปรับตัวลดลง โดย 2 หมวดที่ผลงานไม่ดีนักคือกลุ่มธุรกิจ “เบียร์” และธุรกิจ “อาหาร”

อาหารทำกำไรทั้งปี 65 ล้านบาท ลดลง 82.7% ทว่า “เบียร์” นั้นมีกำไรสุทธิ 4,995 ล้านบาท ลดลง 34.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 2,602 ล้านบาท

ด้าน "ยอดขายเชิงปริมาณ” ยังมีความน่าสนใจ เพราะสะท้อนการบริโภคของนักดื่ม คอทองแดงทั้งหลาย โดยปิดปี บริษัทสร้างยอดขายรวม 2,240.4 ล้านลิตร ในจำนวนนี้เป็นการรวมยอดขายของ “ไทยเบฟ” ที่มี เบียร์ช้าง เฟเดอร์บรอย อาชาฯ ในพอร์ตโฟลิโอ ที่ทำตลาดในประเทศไทย รวมถึงเบียร์ของ SABECO หรือ ไซง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่นด้วย ที่มีแบรนด์ดัง เช่น เบียร์ 333 และ Saigon Beer เป็นต้น

ยอดขายรวม 2,240.4 ล้านลิตร ขายลดลงถึง 6.6% จากปีก่อน และปริมาณการขายเมื่อแยก SABECO ออกไป จะอยู่ที่ 774.5 ล้านลิตร ลดลง 2% สะท้อนให้เห็นว่าตลาดเบียร์ในประเทศไทยของ “ไทยเบฟ” หดตัวลงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับสถานการณ์ของตลาดเบียร์ในประเทศเวียดนาม

กรุงเทพธุรกิจสอบถามแหล่งข่าวจากบริษัท ไทยเบฟฯ ถึงสถานการณ์ตลาดเบียร์ ได้รับคำตอบว่า

“ภาพรวมยอดขายเบียร์ในประเทศเวียดนามหดตัวลงเยอะกว่าในประเทศไทย”

สอดคล้องกับรายงานไทยเบฟที่ระบุ ยอดขายเบียร์ SABECO ในเวียดนาม หดตัวลง 5.7% เพราะโมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ

ส่วนในประเทศไทยยอดขายเบียร์ที่หดตัว 2% ในเชิงปริมาณ ไทยเบฟได้ให้เหตุผลภาพรวมธุรกิจเครื่องดื่ม ทั้งประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปี 2566 มีสัญญาณการฟื้นตัว จากนักท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการเติบโตตลาดเครื่องดื่ม แต่อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อ รายได้ครัวเรือนที่มีความเปราะบาง หนี้ครัวเรือนสูง กระตุ้นทุนค่าครองชีพ ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมระมัดระวังการใช้จ่าย ท้าทายและส่งผลให้การบริโภค “เชิงปริมาณ” ลดลง

นอกจากนี้ มิติด้าน เศรษฐกิจไทยปี 2566 แม้จะมีการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว แต่ตัวเลขนักเดินทางมาเยือนไทย “ต่ำกว่าที่คาดการณ์” ด้านการเมืองก็มีผลต่อธุรกิจ เพราะหลังจากการเลือกตั้งใหญ่ กว่าจะหานายกรัฐมนตรีและ “รัฐบาล” มาบริหารประเทศ ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้เกิดการระมัดระวังการใช้จ่าย การตั้งรัฐบาลที่ล่าช้ายังมีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบาย หรือการออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” และการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยท้าทาย คือภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ต้นทุนด้านพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึง “ภาวะหนี้ครัวเรือน” ที่มีผลต่อการเติบโตของภาคการบริโภค และการเติบโตของธุรกิจภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ “เบียร์น้องใหม่” มีการระบุสถานการณ์ตลาดเบียร์ในประเทศไทยว่า “ไทยเบฟ” มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่หดตัวลง โดยเบอร์ 1 ค่ายต่างขั้วมีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น ประเด็นดังกล่าว แหล่งข่าวได้เพียงแต่รับฟัง ไม่แสดงความเห็นใดๆ