ที่ 1 แล้ว ที่ 1 ต่อ ‘ไวไว’ รักษาแชมป์เส้นหมี่ขาว

ที่ 1 แล้ว ที่ 1 ต่อ  ‘ไวไว’ รักษาแชมป์เส้นหมี่ขาว

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่าหมื่นล้านบาท “มาม่า” อาจครองความเป็นหนึ่งยาวนาน 50 ปี ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด ขณะที่ตลาดเส้นหมี่ขาว “ไวไว” ก็ประกาศตัวเป็น “เบอร์ 1” ตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้กินเวลา 30 ปี

สำหรับตลาดเส้นหมี่ขาว “ไวไว” มีส่วนแบ่งทางการตลาด 80% ในช่องทางห้างค้าปลีกสมัยใหม่ที่ทำเงินหลัก "พันล้านบาท" แต่ยังไม่รวมกับร้านค้าทั่วไปทั่วไทย รวมถึงช่องทางจำหน่ายที่เป็นร้านค้าต่างๆ หรือลูกค้าประเภทธุรกิจ B2B 

นายยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นหมี่อบแห้งไวไว เปิดเผยว่า สิ่งที่ทำให้เส้นหมี่ไวไวเป็นที่ 1 ในตลาดนอกจากคุณภาพสินค้า คือความเหนียวนุ่มของเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ สินค้ามีให้เลือกหลากหลายขนาดต่างๆ ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เช่น ร้านอาหารจะเป็นขนาด 2,700 กรัม ในครัวเรือนรับประทานมากหน่อยใช้ขนาด 500 กรัม เป็นต้น

  • เพิ่มโอกาสรับประทานเส้นหมี่ฯในครัวเรือน

เมื่อเป็นผู้นำตลาด การรักษาแชมป์ที่ถูกมองว่ายาก ทำให้บริษัทต้องพัฒนาสินค้าใหม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ยิ่งกว่านั้นคือ การกระตุ้นให้ “ครัวเรือน” ที่มีเส้นหมี่อบแห้งไวไวในบ้านอยู่แล้ว กระตุ้นให้ประกอบอาหารมากขึ้น

ด้านสินค้าใหม่ได้เปิดตัว “เส้นหมี่ ไวไวไฟเบอร์สูง” ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายรักสุขภาพ และยังเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคโดยตรงด้วย ซึ่งนี่เป็นการบ้านใหญ่ ที่บริษัทจะกระตุ้นการเติบโต เพราะเดิมเชื่อว่าครัวเรือนไทยมีเส้นหมี่ไวไวอยู่แล้ว แต่ทำยังไงให้หยิบมาประกอบ ปรุงอาหาร

“โจทย์ปีหน้าทำยังไงให้มุมผู้บริโภคในครัวเรือนใช้สินค้าเส้นหมี่อบแห้งไวไว ต้อง Educate กระตุ้นให้คนทำอาหาร โดยเฉพาะคนที่ไม่ทำอาหารซึ่งท้าทายมาก”

ที่ 1 แล้ว ที่ 1 ต่อ  ‘ไวไว’ รักษาแชมป์เส้นหมี่ขาว

การทำให้คนเพิ่มการบริโภคเส้นหมี่ไวไว จะเห็นการออกแคมเปญ รังสรรค์เมนูอย่างง่าย ทำได้เองที่บ้านเพื่อจูงใจ การสื่อสารตลาดจะใช้บรรดาคนดังบนโลกออนไลน์หรือ Influencer สร้างกระแสให้เกิดการปรุงเมนูอาหารใหม่ๆ รวมถึงจะมีแคมเปญหวังสร้างไวรัล เช่น ช่วงวาเลนไทน์ ชวนคู่รักทำหมี่สีชมพู เป็นต้น

สินค้าใหม่ บริษัทวางงบ 20 ล้านบาท เพื่อทำการตลาด และแคมเปญต่างๆ และเน้นสื่อออนไลน์เจาะกลุ่มเป้าหมาย ด้านยอดขายวาดเป้าที่ 100 ล้านบาท ภายในปี 2567

  • ปี 2567 รุกตลาดพรีเมียม

แม้เส้นหมี่อบแห้งหรือเส้นหมี่ขาวไวไวเป็นพระเอก แต่พอร์ตโฟลิโอใหญ่ยังเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “เส้นเหลือง” ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ แต่ช่วงที่ผ่านมา “ต้นทุนพุ่ง” กระทบธุรกิจหนักหนาสาหัส จนผู้ประกอบการต้องอ้อนกระทรวงพาณิชย์ให้ไฟเขียวปรับขึ้นราคาจากซอง 6 บาท เป็น 7 บาท จากผู้ผลิตขอขึ้นเป็น 8 บาทต่อซอง

“ต้นทุนวัตถุดิบทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์มปรับตัวสูงขึ้นมากในรอบหลายสิบปีที่ผู้ผลิตบะหมี่ฯ เผชิญ”

ทั้งนี้ เพื่อปรับตัวรับโจทย์ “ต้นทุน” ทำให้ปี 2567 บริษัทวางแผนจะเปิดตัวสินค้าใหม่ “บะหมี่พรีเมียม” เช่น เส้นมีความพรีเมียมมากขึ้น เหนียวนุ่มเหมือนเส้นบะหมี่ ญี่ปุ่น เป็นต้น ด้านการวางแผนกลยุทธ์สินค้า และ “ราคา” ยังขยับตัวยาก แม้จะไม่ใช่สินค้าควบคุม แต่บริษัทต้องแจกแจงต้นทุนให้กระทรวงพาณิชย์รับทราบก่อนตั้งราคาขาย สำหรับแบรนด์ที่จะเจาะตลาดบะหมี่ฯ พรีเมียมจะต่อยอด “ไวไว” แต่สินค้าจะต้องมีหลากหลาย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ

ที่ 1 แล้ว ที่ 1 ต่อ  ‘ไวไว’ รักษาแชมป์เส้นหมี่ขาว

“ตอนนี้จะทำสินค้าบะหมี่พรีเมียมยากขึ้น เพราะการขอตั้งราคาขายไม่ง่าย ก่อนวิกฤติเราจะพัฒนาสินค้าขาย 15 บาท แต่ต้องเช็กต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ทำให้เรายังไม่ไฟนอลเรื่องราคาจะเป็น 10 บาท 12 บาท หรือ 15 บาท แต่ 10 บาทไม่น่าทำราคาได้ด้วยต้นทุนในขณะนี้ ส่วนบะหมี่นำเข้าจากต่างประเทศสามารถขายในราคา 40 บาทได้”

  • ปีหน้าการบริโภคบะหมี่ไม่โต

สำหรับภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2567 มีแนวโน้มการบริโภคคงที่ ไม่มีการเติบโตในเชิงปริมาณ(Volume) แต่เชิงมูลค่าคาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะเห็นผู้เล่นให้น้ำหนักในการทำตลาดพรีเมียมมากขึ้น

“คนไทยไม่บริโภคบะหมี่ไปมากกว่านี้ ซึ่งการบริโภคเชิงปริมาณของคนไทยถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเวียดนาม แต่ถ้าภาพรวมทั้งประเทศ จีนยังเป็นอันดับ 1”

รายงาน World Instant Noodles Association (WINA) ปี 2566 ประเทศไทยมีการบริโภคบะหมี่ 3,870 ล้านหน่วยต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2564 อยู่ที่ 3,630 ต่อปี โดยยังคงเป็นอันดับ 9 ของโลก ขณะที่จีน และฮ่องกงอันดับ 1 การบริโภค 45,070 ล้านหน่วยต่อปี อันดับ 2 อินโดนีเซีย 14,260 ล้านหน่วยต่อปี อันดับ 3 เวียดนาม 8,480 ล้านหน่วยต่อปี อันดับ 4 อินเดีย 7,580 ล้านหน่วยต่อปี อันดับ 5 ญี่ปุ่น 5,980 ล้านหน่วยต่อปี อันดับ 6 สหรัฐ 5,150 ล้านหน่วยต่อปี อันดับ 7 ฟิลิปปินส์ 4,290 ล้านหน่วยต่อปี และอันดับ 8 เกาหลี 3,950 ล้านหน่วยต่อปี

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์