โจทย์หิน ‘ท่องเที่ยวชลบุรี’ กู้เรตติ้ง ล้างภาพลักษณ์ ‘พัทยา’ เมืองขายเซ็กส์

โจทย์หิน ‘ท่องเที่ยวชลบุรี’ กู้เรตติ้ง ล้างภาพลักษณ์ ‘พัทยา’ เมืองขายเซ็กส์

โจทย์การยกระดับภาพลักษณ์ 'พัทยา' ถูกพูดถึงมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หวังลบล้างภาพ 'เมืองขายเซ็กซ์' ปรับเปลี่ยนทัศนคตินักท่องเที่ยวที่มีต่อเมืองชายทะเลชื่อดังระดับโลก ว่าไม่ได้มีแค่ทะเล สถานบันเทิง กับบริการขายเซ็กส์เท่านั้น

สู่การเป็น “จุดหมายปลายทางคุณภาพ” เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งกลุ่มครอบครัว กลุ่มประชุมสัมมนา และอื่นๆ ด้วยการเติมแม่เหล็ก “อีเวนต์” ทั้งกีฬา ดนตรี การแสดงแสงสีเสียง ล่าสุดอย่างบิ๊กอีเวนต์ “งานพลุพัทยา” เมื่อวันที่ 24-25 พ.ย. คนแห่ชมความงดงามแน่นชายหาด เรียกความคึกคักแก่เมืองพัทยา

ธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี กล่าวว่า จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ผนึกกำลังปรับเปลี่ยน “ภาพลักษณ์” ของพัทยา เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมใน จ.ชลบุรี เพื่อล้างภาพเมืองขายเซ็กส์ บาร์เบียร์ ซึ่งฝังอยู่ในใจคนทั่วโลก! เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนไป ไม่เช่นนั้นนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ๆ เช่น กลุ่มครอบครัว จะเปลี่ยนไปเที่ยวจุดหมายอื่นแทน

“ถ้าพัทยาไม่เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ในตอนนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวของพัทยามีแต่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ”

นี่คือภารกิจแรกของ ธเนศ หลังได้รับเลือกตั้งเป็นนายกของ “สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี” คนแรกเมื่อปลายเดือน พ.ย. 2566 โดยสมาคมฯ จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 7 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก, สมาคมท่องเที่ยวและบริการศรีราชา เกาะสีชัง, สมาคมแหล่งท่องเที่ยวชลบุรี, สมาคมผู้บริหารสนามกอล์ฟภาคตะวันออก, สมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก, สมาคมผู้บริหารงานอาหารและเครื่องดื่มภาคตะวันออกแห่งประเทศไทย, สมาคมเชฟภาคตะวันออก และ 3 ชมรม ประกอบด้วย ชมรม FB, ชมรม FOMA และชมรมสปาพัทยา

“ย้อนไปสมัยก่อน นักท่องเที่ยวจากฝั่งยุโรป เช่น อังกฤษ และเยอรมนี กว่า 80% เดินทางมาพัทยาเพื่อเที่ยวบาร์เบียร์ กลุ่มนี้ล้มหายตายจากไปพอสมควร ขณะที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ไม่เที่ยวบาร์เบียร์แล้ว โดยในยุคหลังโควิด-19 ระบาด พบว่าธุรกิจบาร์เบียร์เจ๊งไปมาก ตัดภาพมาปัจจุบัน พื้นที่ชายหาดพัทยาถือเป็นทำเลทอง มีการขึ้นค่าเช่า ทำให้ธุรกิจบาร์เบียร์อยู่กันลำบาก”

ขณะที่ภาพรวมนักท่องเที่ยว “รัสเซีย” ซึ่งเป็นตลาดหลักของพัทยาในตอนนี้ นิยมเดินทางเป็นครอบครัว หลังจากได้พูดคุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวของรัสเซีย ระบุว่าปัญหาภาพลักษณ์ของพัทยาไม่ค่อยตอบสนองลูกค้า เนื่องจากติดภาพการเป็น “แหล่งเที่ยวกลางคืน” และผู้ชายต้องมาคนเดียว ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวปรับเส้นทางไปเที่ยวภูเก็ตแทน ทั้งที่พัทยาเปลี่ยนไปมากแล้ว

ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่จะขยายเวลาเปิด “สถานบริการ” ถึงเวลา 04.00 น. หลังจากล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว นำร่อง 5 พื้นที่ท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี มองว่า “พัทยา” ควรกำหนด “โซนนิ่ง” ของสถานบันเทิงที่จะขยายเวลาเปิดถึงตี 4 ใหม่ “เพื่อให้ทุกคนยอมรับได้” เนื่องจากพื้นที่ที่พูดคุยกันในปัจจุบันคือถนนติดชายหาดยาวไปจนถึงวอล์กกิงสตรีท (Walking Street) ให้เหลือเฉพาะพื้นที่ “วอล์กกิงสตรีท” ซึ่งผู้ประกอบการสถานบริการหลักๆ อยู่ตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนพื้นที่ถนนติดชายหาดจะปะปนกับโรงแรม คอนโดมิเนียม และบ้านเรือน อาจได้รับผลกระทบเรื่องเสียงดังรบกวน หรือถ้าให้ดี ควรจัดโซนนิ่งพื้นที่ใหม่ออกไปนอกตัวเมืองไปเลย เพื่อให้เป็นแหล่งรวมสถานบันเทิงที่ให้บริการได้จนถึงตี 4

สมาคมฯ มองว่าพัทยามาถึงจุดที่ต้องเร่งแก้ไขภาพลักษณ์ ต้องมาคุยกัน ตั้งใจให้มีการจัดเวิร์กช็อป ดึงเอเย่นต์ทัวร์รายใหญ่ 5-6 ราย มาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองว่าชลบุรีและพัทยาเป็นอย่างไร ปัญหาคืออะไร ได้รับความนิยมน้อยลงเพราะอะไร และต้องการให้ภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยวในพัทยาแก้ปัญหาอย่างไรเพิ่มเติม โดยจะเจาะลึกความต้องการเป็นรายประเทศ ทั้งจีน เกาหลีใต้ รัสเซีย อินเดีย อังกฤษ และเยอรมนี เป็นต้น

ตอนนี้คนทั่วโลกยังติดภาพลักษณ์เดิมๆ แม้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พัทยาจะเปลี่ยนไปมากก็ตาม มีสิ่งอำนวยความสะดวก และแหล่งท่องเที่ยวรองรับหลากหลายกลุ่มมากขึ้น รวมถึงอีเวนต์ใหญ่ การแข่งขันกีฬา ขณะที่โรงแรมหลายแห่งมีแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า เช่น สวนน้ำ และสปา มารองรับกลุ่มครอบครัว นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนน่าสนใจ เช่น ชุมชนชากแง้ว และชุมชนตะเคียนเตี้ย”

นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวของพัทยาในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด-19 ระบาด ถือว่าฟื้นกลับมาแล้ว 70% ในกลุ่มโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ส่วนโรงแรมที่เคยรับกรุ๊ปทัวร์จีน 100% ยังไม่กลับมาเปิด

“ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ออกมาตรการยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) เป็นการชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน รวมถึงขยายเวลาพำนักแก่นักท่องเที่ยวรัสเซีย แต่ถ้าดูเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนแล้ว พบว่ายังมีหลายปัจจัยลบที่ทำให้ยังไม่ฟื้นกลับมา ทั้งเรื่องความไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัย เป็นปัญหาภาพลักษณ์ที่ต้องเร่งแก้ไข ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนเองก็ยังมีปัญหาอีกด้วย”