‘เจ้าสัว’ แตกซับแบรนด์ รุกมีทสแน็ค ชิงตลาดขนมขบเคี้ยว 4 หมื่นล้าน

‘เจ้าสัว’ แตกซับแบรนด์ รุกมีทสแน็ค ชิงตลาดขนมขบเคี้ยว 4 หมื่นล้าน

‘เจ้าสัวฟู้ดส์ อินดัสทรี’ เบอร์หนึ่งขนมและของฝากไทย แบรนด์เก่าแก่ของไทยกว่า 60 ปี แตกซับแบรนด์ 'เจ้าสัว สแนคซ์' รุกมีทสแน็ค ชิงตลาดขนมขบเคี้ยว 4 หมื่นล้านบาท พร้อมแผนรุกตลาดไทย-ตลาดส่งออก ปักหมุดประเทศจีน สร้างยอดโตแกร่ง 30% รวมถึงเป้าหมายระดมทุนในตลาดหุ้นระยะยาว

สำรวจตลาดขนมขบเคี้ยว (สแน็ค) ของประเทศไทยปี 2566 มีมูลค่า 40,000 ล้านบาท กลับมาขยายตัวได้ประมาณ 3-4% จากแรงหนุนของสถานการณ์โควิดคลี่คลายและตลาดในประเทศที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อกำลังซื้อโดยตลาดสแน็คในประเทศไทย แบ่งเป็น 9 กลุ่มหลักนำโดย มันฝรั่ง รองลงมา ขนมขึ้นรูป เป็นต้น ซึ่งในตลาดสแน็คจะขับเคลื่อนหลักโดยแบรนด์จากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะโกลบอลแบรนด์ และเป็นตลาดที่มุ่งเน้นการออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง

ตลาดที่มีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท มีแบรนด์ไทยที่สามารถช่วงชิงในตลาด สแน็คได้ อย่างแบรนด์เถ้าแก่น้อย สร้างแบรนด์ไทยแข่งขันและครองตลาดสู่ผู้นำสาหร่ายได้ รวมถึงล่าสุดกับ แบรนด์ เจ้าสัว สแน็คแบรนด์ของประเทศไทยที่อยู่ในตลาดมาเป็นเวลา 60 ปี ซึ่งเป็นแบรนด์ขนมและของฝากที่ทุกคนต่างคุ้นเคย โดยส่งแบรนด์ สแน็คเข้ามารุกตลาดเพื่อสร้างเช็กเมนต์ใหม่กับ สแน็คที่เป็นโปรตีน และสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 65% ภายใต้การขับเคลื่อนของทายาทรุ่น ที่  3

“ณภัทร โมรินทร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ สแน็ค ที่เป็นหมูแท่งอบกรอบ เข้ามารุกตลาดสแน็คอย่างจริงจังประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเปิดเช็กเมนต์ใหม่ให้แก่กลุ่มลูกค้าในตลาดสแน็ค ในกลุ่มที่เป็นตลาดขนมขบเคี้ยวประเภทเนื้อสัตว์ (มีท สแน็ค) สามารถขยายตลาดและเพิ่มทางเลือกให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในปัจจุบัน ตลาด มีท สแน็ค มีมูลค่าตลาดประมาณ 1,000 ล้านบาท และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ตลาดมีท สแน็ค ที่มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ในปัจจุบันมีแบรนด์ในตลาด 2-3 แบรนด์ แต่เจ้าสัว เป็นเจ้าตลาด ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 65% ซึ่งผลจากการเข้ามารุกตลาด บริษัทสร้างการเติบโต 40-50% ในช่วงที่ผ่านมา โดยบริษัทเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่าง มีนวัตกรรม และคุณภาพสู่กลุ่มลูกค้า จึงได้รับผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มเป้าหมาย ที่สนใจในเรื่องการดูแลสุขภาพ

‘เจ้าสัว’ แตกซับแบรนด์ รุกมีทสแน็ค ชิงตลาดขนมขบเคี้ยว 4 หมื่นล้าน

ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี

แผนการตลาดนับจากนี้ บริษัทจะเร่งเกมรุกตลาด มีท สแน็ค อย่างเข้มข้น โดยได้เปิดตัวแบรนด์ย่อย หรือ ซับแบรนด์ กับ “เจ้าสัว สแนคซ์” เข้ามาสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ พร้อมสร้างความแตกต่างด้วยนำเสนอสร้างสินค้าที่มีนวัตกรรม มีผลิตภัณฑ์แรกคือ พอร์ค ครั้นชี่ หมูกรอบ เป็นหมู่กรอบแท่ง มากับ 2 รสชาติกับอัลมอนด์ และพริกคั่วกรอบ พร้อมโปรตีน 9 กรัม เพื่อร่วมเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ให้ความชื่นชอบตลาด สแน็คเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้วางแผนทำตลาดอย่างครบวงจร ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมได้ดึง “เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข” มาร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์ ในการตัวแทน “คนรุ่นใหม่ที่สนใจดูแลสุขภาพ” และเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน

เจ้าสัว ประเมินว่าการเข้ามารุกตลาดในครั้งนี้ จะทำให้ตลาดมีท สแน็ค ขยายตัว 50% และมีขนาดที่ใหญ่มากขึ้นในอนาคต พร้อมทำให้แบรนด์ สามารถครองผู้นำในตลาดได้ต่อไป โดยมุ่งนำเสนอเน้นแนวคิดของแบรนด์ “นำสูตรลับ ความอร่อยตำรับเจ้าสัวสู่คุณ” รวมถึงเดินหน้าสร้างแบรนด์ให้เป็น Top of mind ในใจของกลุ่มลูกค้า ภายใต้งบการตลาดตลอดปีที่ 80 ล้านบาท

กลยุทธ์รุกตลาดจะอยู่ภายใต้ 5 ด้านที่สำคัญทั้ง การมุ่งสร้างแบรนด์สู่กลุ่มลูกค้า การขยายพอร์ตโฟลิโอของสินค้า การสร้างนวัตกรรมของสินค้าสู่ตลาด การสร้างองค์กรให้มีการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว การนำเสนอสินค้าเข้าไปมีส่วนร่วมนำเสนอและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า 

อีกแนวทาง บริษัทจะเร่งเครื่องขยายตลาดส่งออก ควบคู่กัน จากในปัจจุบันมีตลาดส่งออกหลักในประเทศจีนเป็นหลัก และตลาดสหรัฐ มีสัดส่วน 25% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งตลาดจีน บริษัทมีตัวแทนการจำหน่ายสินค้าและมีการทำตลาดรวมกับกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้จากการประเมินตลาดจีนมีโอกาสอย่างมาก จากขนาดตลาดสแน็คในจีนที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท รวมถึงแบรนด์เจ้าสัว ขึ้นชื่อเป็นแบรนด์ของฝากติดอับดับหนึ่งในห้าของกลุ่มลูกค้าต่างชาติเมื่อมาไทย โดยเฉพาะในชาวจีนด้วย และผ่านมา ตลาดส่งออกมีการขยายตัว 30% มาต่อเนื่อง 

แม่ทัพเจ้าสัว ยังวางเป้าระยะยาวของบริษัท ในการนำพาบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น เพื่อนำพาบริษัทเติบโตไปอีกขั้นและสร้างโอกาสขยายลงทุนใหม่ๆ ในอนาคต โดยอยู่ระหว่างการศึกษาแผนทั้งหมด

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและตลาดในปีนี้ บริษัทประเมินว่า แม้ในช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิมยังไม่ขยายตัวมากนัก แต่ช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ยังเติบโตดี รวมถึงการมีช่องทางขายหลักผ่านบริษัท ที่มี 4 จุดจำหน่ายหลัก และผ่านร้านค้าแฟรนไชส์ จำนวน 50 จุด และบริษัทได้รุกตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้น สร้างยอดขายเติบโตต่อเนื่อง 

โดยประเมินว่า ภาพรวมยอดขายในสิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน สัดส่วนยอดขายมาจาก ช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ 40% ช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิม 20% ส่งออก 25% ผ่านร้านค้าในประเทศ 10% และออนไลน์ 5% มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมา มีสัดส่วน 1% เท่านั้น

‘เจ้าสัว’ แตกซับแบรนด์ รุกมีทสแน็ค ชิงตลาดขนมขบเคี้ยว 4 หมื่นล้าน