‘แปลนครีเอชั่น’เข้าตา‘ดิสนีย์’ ลุ้นผลิตของเล่นเด็กตอบยุคยั่งยืน

‘แปลนครีเอชั่น’เข้าตา‘ดิสนีย์’  ลุ้นผลิตของเล่นเด็กตอบยุคยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทำให้องค์กรธุรกิจโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่หรือบิ๊กคอร์ป ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนธุรกิจควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

ในยุโรปยังได้มีบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM(Carbon Border Adjustment Mechanism) ภายในสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในยุโรปยังได้มีบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM(Carbon Border Adjustment Mechanism) ภายในสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในงาน Thailand Marketing Day โดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย(MAT) ชูการทำตลาดด้วย “Meta” ที่ตรงกับคำไทยคือ “เมตา” พร้อมหยิบเรื่องความยั่งยืนมาเล่า และกรณีศึกษาของ “แปลนครีเอชั่น” ผู้ผลิตของเล่นจากไม้ยางพารารายแรกของโลก

โกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลนครีเอชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ คู่ค้ารายใหญ่ของบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น การผลิตสินค้าที่ต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้บริโภคที่ตระหนักในเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แปลนครีเอชั่น เป็นผู้ผลิตของเล่นจากไม้ยางพารารายแรกของโลก ทำตลาดมา 40 ปี  ตลาดหลักคือการส่งออกไปยังต่างประเทศสัดส่วน 98% และจำหน่ายในประเทศไทยน้อยมากเพียง 2% เท่านั้น

สหรัฐ ถือเป็นตลาดสำคัญของบริษัท ปัจจุบันพฤติกรรมลูกค้าในหลายพื้นที่ใส่ใจการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สร้างความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ

“เรามีบริษัทลูกอยู่ในสหรัฐ ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องยั่งยืนมีอยู่จริง หน้าที่ของแบรนด์ผู้ผลิตสินค้าต้องหาให้เจอว่าลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ตรงไหน ชื่นชอบสินค้าอะไร เพื่อตอบสนองความต้องการให้ตรงใจ”

บริษัทยังได้รับการติดต่อจากบริษัทสื่อและบันเทิงยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “ดิสนีย์” เพื่อหาผู้ผลิตของเล่นในการผลิตสินค้าให้ หลังจากที่ผ่านมาได้บินไปดูโรงงานผลิตกว่า 30 แห่งในประเทศจีนและเวียดนาม

การที่บริษัทไทยอย่างแปลนครีเอชั่นเข้าตา "ดิสนีย์" เบื้องต้นคือการดำเนินธุรกิจควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยบริษัทอยู่ระหว่างการบริการจัดการคาร์บอนฟุตปริ้นท์ วางเป้าหมายเฟส 1-3 ว่าจะดำเนินการอะไรบ้าง เช่น การให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นที่ปรึกษาในการทำโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่า ดึงชาวสวนยางพารา สวนปาล์มทั้งของชุมชนและพนักงานนำร่อง ที่ผ่านมายังมีการผลิตของเล่นเพื่อเด็กพิการ ชวนคุณแม่มาออกแบบของเล่นให้เด็กๆ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้คู่ค้าที่เป็นเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายสินค้ากว่า 3,000 รายทั่วประเทศ นำไปสู่สินค้าที่สร้างการเติบโตให้บริษัทจนถึงปัจจุบัน

จากแผนความยั่งยืน บริษัทมีเป้าหมายสำคัญในปี 2568 จะผลักดันองค์กรสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon neutrality และทำให้ “แปลนครีเอเชั่น” เป็นผู้ผลิตของเล่นเจ้าแรกของโลกที่บรรลุเป้าดังกล่าว

“เราทำธุรกิจเจาะลูกค้าธุรกิจ หรือ B2B ลูกค้าถามถึงความยั่งยืนอย่างมาก เรายังได้รับการติดต่อจากดิสนีย์ ที่กำลังหาผู้ผลิตของเล่นด้วย หลังจากบินไปดูกว่า 30 โรงงานในจีนและเวียดนาม แต่มาจบที่ไทย และบอกว่าเราเป็นเจ้าแรกที่ไม่ต้องอธิบายเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability ว่าเป็นอย่างไร”

แปลนครีเอชั่น ไม่ได้เพิ่งดำเนินการความยั่งยืน แต่ย้อนไป 40 ปีก่อน การเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งอยู่บนหลักการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และอยากทำให้ “โลกดีขึ้น” ซึ่งยุคนั้นคำว่า “ยั่งยืน” ยังไม่เป็นที่รู้จัก มีความหมายว่าอะไร กระทั่งยุคหลังนี้ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แม้ธุรกิจผลิตของเล่นจากไม้ยางพาราแบรนด์ “Plantoys” จะสร้างการเติบโตให้บริษัท แต่ธุรกิจแรกที่จับคือ “โรงเรียนอนุบาล” เพราะมองการมอบการศึกษาที่ดีให้เด็ก อีกทั้งฝั่งเอเชีย ประเทศไทยเน้นการเรียนการสอนให้อ่านออกเขียนได้ตั้งแต่เด็ก ต่างจากชาติตะวันตกที่มีแนวคิด “การเรียนรู้จากการเล่น”

เมื่อเข้าสู่ธุรกิจการผลิตของเล่น เจตนารมย์คือไม่ต้องการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อดีตพื้นที่ภาคใต้มีทรัพยากรธรรมชาติ และพืชเศรษฐกิจสำคัญ ปลูกยางพาราจำนวนมาก ทว่าสิ้นวงจรต้นยาง 25 ปี จะตัดโค่นเผาทิ้ง เกษตรกรในพื้นที่ยังไม่เห็นคุณค่ามากนัก เมื่อบริษัทมีแผนผลิตของเล่นเด็กจึงมองวัตถุดิบจากไม้น่าจะดีสุด

“เรานำคอนเซปต์การรีไซเคิลมาใช้เมื่อ 40 ปีก่อน เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด แทนที่ชาวสวนจะตัดต้นยางพาราทิ้งเมื่อครบ 25 ปี จึงนำมาทำของเล่น แปลนครีเอชั่น จึงเป็นเจ้าแรกของโลกที่ผลิตของเล่นจากยางพารา หากระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากสุดเท่าที่จะทำได้ เป้าหมายการทำธุรกิจคืออยากทำให้โลกดีขึ้น ไม่เบียดเบียนกัน”