ปั้นธุรกิจรับเมกะเทรนด์โลก สร้างดอกผลแห่งความยั่งยืน

ปั้นธุรกิจรับเมกะเทรนด์โลก สร้างดอกผลแห่งความยั่งยืน

แนวคิดการสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่แค่เทรนด์โลกเท่านั้น แต่ยังเป็นวาระสำคัญระดับโลก เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนควรเห็นความสำคัญของแนวคิดนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME เพื่อโอกาสที่เปิดกว้างในการสร้างเม็ดเงินทางด้านธุรกิจ

ข่าวการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่นลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อไม่นานมานี้ สร้างความกังวลไปทั่วโลก จนเกิดกระแสต่อต้านอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่างจีนและอีกหลายประเทศสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในจีนประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ บ้างก็ติดประกาศว่าอาหารที่ร้านไม่มีส่วนประกอบจากการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า 

ข่าวที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพที่ชัดเจนแล้วว่า ประเด็นเรื่อง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) คือวาระสำคัญของโลก ที่ภาครัฐและเอกชนทั่วโลกต้องขานรับเรื่องการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้เป็นเมกะเทรนด์ ที่มวลมนุษยชาติทุกระดับชั้นต้องให้ความสำคัญและนำมาปรับใช้ให้เป็นวิถีปกติของชีวิตและการทำงาน 

ปั้นธุรกิจรับเมกะเทรนด์โลก สร้างดอกผลแห่งความยั่งยืน

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP) ที่จัดมาแล้ว 27 ครั้ง มีตัวแทนจากทั่วโลกมาหารือร่วมกันอย่างจริงจังในการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างเร่งด่วน การประชุมนี้เป็นหนึ่งในเข็มทิศสากลที่ชี้ให้ทั่วโลกมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals : SDGs ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดเป็น 17 เป้าหมายหลักร่วมกัน

หลายประเทศประกาศเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เช่นเดียวกับไทยที่ตั้งเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และจะพัฒนาสู่ Net Zero Carbon ภายในปี 2065 บริษัทเอกชนรายใหญ่หลายรายก็เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายการสร้างความยั่งยืนและมีเป้าหมายไปสู่ Net Zero Carbon เช่นเดียวกัน 

นอกจากเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก การดูแลระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมทั้งน้ำ ป่า อากาศหรือการกำจัดขยะและของเสียแล้ว เป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติยังครอบคลุมไปถึงเรื่องความยากจน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และความเท่าเทียม

มาถึงจุดนี้ภาคธุรกิจควรตระหนักถึงความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีแรงกดดันรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบที่ภาครัฐจะนำมาบังคับใช้ให้ SME สร้างมาตรฐานในกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจ (Supply Chain) ของบริษัทข้ามชาติรายใหญ่และหน่วยงานต่างๆ มีการกำหนดให้ SME ดำเนินตามแนวปฏิบัติและกฎระเบียบด้านสภาพอากาศ สิทธิมนุษยชน แรงงาน และการต่อต้านการทุจริตให้เป็นมาตรฐาน ESG หาก SME ไม่ปรับตัวหรือไม่เท่าทัน ก็อาจจะหลุดวงโคจรจากห่วงโซ่การผลิตไปอย่างน่าเสียดาย

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกให้ผู้ประกอบการ SME ที่สามารถดำเนินการตามหลักความยั่งยืนได้ นั่นก็คือเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือที่เรียกว่า Green Finance ที่เราจะเห็นว่าในโลกของการลงทุนทุกวันนี้ ธีมการลงทุนด้าน ESG เป็นหนึ่งใน Thematic Investment ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของนักลงทุนทั่วโลก เม็ดเงินทั่วโลกพร้อมจะไหลเข้าลงทุน และรู้หรือไม่ว่า มีกองทุนมากกว่า 400 กองทุน ที่พร้อมจะลงทุนในธุรกิจหน้าใหม่หรือสตาร์ทอัพด้าน ESG มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อราย บางรายลงทุนสูงถึง 30-75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อรายด้วยซ้ำ

ปั้นธุรกิจรับเมกะเทรนด์โลก สร้างดอกผลแห่งความยั่งยืน

หากผู้ประกอบการบางรายยังรู้สึกว่าเรื่อง Green Finance ยังไกลตัวและไม่ค่อยจะจูงใจ อาจเพราะขนาดธุรกิจยังไปไม่ถึงขั้นต้องการเงินทุนเพื่อขยายกิจการ หรือไม่เห็นกำไรที่ชัดเจนเทียบกับการทุ่มเงินลงทุนปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อให้สอดรับกับกระแสความยั่งยืน ในขณะที่ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand หรือ UNGCNT) ระบุว่า การนำแนวคิดการสร้างความยั่งยืนมาอยู่ในการดำเนินกิจการจะช่วยผู้ประกอบการได้จริงใน 4 เรื่องหลักๆ ดังนี้

  1. ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานและต้นทุนของเงินลงทุน (Cost of Capital) โดยบริษัทที่มีนโยบายมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน แต่ยังทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถลดต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) ได้ ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนที่มองหา SME ที่มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนโดดเด่น ทั้งการจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ แรงงาน และสิทธิมนุษยชนได้อีกด้วย 
  2. ช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะการคำนึงถึงความยั่งยืนหมายถึงความใส่ใจไม่ให้การดำเนินกิจการใดๆ ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นการลดความเสี่ยงไปในตัว สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยง แต่ยังช่วย SME รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ทเนอร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจอีกด้วย
  3. ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น แผนดำเนินการด้านความยั่งยืนที่แข็งแกร่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ นักลงทุน และชุมชนในวงกว้าง ช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถระดับสูง ที่มีค่านิยมเดียวกันในการมุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมและสิ่งแวดล้อม
  4. ช่วยสร้างโอกาสใหม่สำหรับรายได้ที่เติบโต การผนวกความยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจช่วยสร้างช่องทางใหม่ๆ ในการเติบโต เช่น ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกหรือ ธุรกิจสีเขียว (Green) ที่เป็นกระแสความนิยมของลูกค้ายุคใหม่มากขึ้น หรือการนำเทคโนโลยีมาลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ 

สถาบันการเงินชั้นนำระดับภูมิภาคอย่าง ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย พร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมต่อธุรกิจ SME สู่ความยั่งยืน สร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถปรับใช้แนวคิดดังกล่าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจได้ ด้วยการนำปัจจัยด้านความยั่งยืนมารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางดำเนินธุรกิจ นำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ยั่งยืน พร้อมคงไว้ซึ่งความรับผิดชอบขององค์กร UOB จึงได้พัฒนากรอบแนวคิด Green Umbrella Frameworks ขึ้น เพื่อนำเสนอโซลูชันสินเชื่อครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ปลดล็อกการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะมุ่งไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันในการสร้างความยั่งยืน ยังต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ยูโอบี จึงมุ่งสร้างเครือข่ายพันธมิตร ควบคู่ไปกับการอบรมให้ความรู้ รวมถึงเทคนิคการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการสร้างความยั่งยืน ยกตัวอย่างโครงการ Sustainability Innovation ที่ธนาคารฯ เพิ่งจัดให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยการสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกและองค์ความรู้ต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน การปรับกระบวนการปฏิบัติงานแบบดิจิทัลเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจให้รับกระแสการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนต่อไป 

ยังไม่ช้าเกินไปที่ภาคธุรกิจจะเริ่มให้ความ "ใส่ใจ" ในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม สิ่งแวดล้อม หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบตัว และสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันเดินทางไปสู่ถนนสายความยั่งยืนที่เรามุ่งหวัง