เจาะลึกปัจจัยเสี่ยง-ความท้าทาย 'ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม' ในไทย

เจาะลึกปัจจัยเสี่ยง-ความท้าทาย 'ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม' ในไทย

เจาะลึกปัจจัยเสี่ยง-ความท้าทายของ "ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม" ในประเทศไทย รวมถึงภาพรวมธุรกิจและมิติความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน

หากพูดถึงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็น "ต้นน้ำ" ของ อุตสาหกรรมพลังงาน นั้น ยุคบุกเบิก ปิโตรเลียม ในไทย ปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม เพื่อให้เอกชนทำการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น หลังจากนั้นได้ก้าวเข้าสู่ยุคโชติช่วงของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 

โดยเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2524 จากแหล่งก๊าซเอราวัณในอ่าวไทย และเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ในปี 2526 จากแหล่งสิริกิติ์ จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิต ก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมันดิบ ในเชิงพาณิชย์ได้นับแต่นั้นมา

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีทั้งแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำมันดิบ กระจายอยู่หลายแห่งก็ตาม แต่อัตราการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องอาศัยการนำเข้า ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยมีสัดส่วนของน้ำมันดิบผลิตได้เพียง 10-15% จากความต้องการใช้ทั้งประเทศ และปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ 50-60% จากความต้องการใช้ทั้งประเทศ

เจาะลึกปัจจัยเสี่ยง-ความท้าทาย \'ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม\' ในไทย

ประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมที่เป็น น้ำมันดิบ และ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งแหล่งในทะเลอ่าวไทย และแหล่งบนบก โดยก๊าซธรรมชาติมีแหล่งผลิตในทะเล เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ เป็นต้น และมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบนบก เช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม จังหวัดอุดรธานี และแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

สำหรับน้ำมันดิบมีแหล่งผลิตในทะเล เช่น แหล่งเบญจมาศ แหล่งบัวหลวง เป็นต้น และมีแหล่งผลิตน้ำมันดิบบนบก แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จังหวัดกำแพงเพชร แหล่งน้ำมันดิบวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น

สำหรับภาพรวมการประกอบกิจการ ปิโตรเลียม ในไทย จากการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสํารวจและผลิตปิโตรเลียมในระบบสัมปทาน ระบบ PSC และพื้นที่ MTJDA ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ถึงพ.ศ. 2566 ซึ่งอาจเปรียบธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมว่าเป็น "ต้นน้ำ" (Upstream) เนื่องจากภายหลังที่ได้รับสัมปทานหรือสัญญาแล้ว จะมีขั้นตอนการดำเนินการหลักๆ 4 ขั้นตอน ดังนี้ 

  1. การสำรวจ (Exploration) เพื่อวิเคราะห์โอกาสค้นพบแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมและเจาะหลุมสำรวจเพื่อพิสูจน์ว่ามีน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งต้นทุนการเจาะหลุมสำรวจมีราคาตั้งแต่ 100 ล้านบาท จนถึงหลักพันล้านบาทต่อหลุม โดยขึ้นกับสภาพของพื้นที่และสภาพทางธรณีวิทยา ซึ่งกระบวนการสำรวจมักจะใช้เวลารวมกันประมาณ 5 ปี อีกทั้ง หากไม่พบปิโตรเลียมก็จะต้องคืนพื้นที่ให้กับรัฐ
  2. การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม (Field Development) ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ หากพบว่า "ไม่คุ้มค่า" ก็จะดำเนินการคืนแปลงสำรวจให้แก่รัฐ แต่หากมีความคุ้มค่าก็จะได้รับการอนุมัติงบลงทุนดำเนินการก่อสร้าง ประกอบด้วย สร้างแท่นกระบวนการผลิต แท่นหลุมผลิต และอุปกรณ์การผลิตต่างๆ รวมถึงการเจาะหลุมผลิต ซึ่งขั้นตอนการพัฒนาแหล่งนี้จะใช้เวลาอีก 3-5 ปี และใช้เงินลงทุนสูงมากอาจสูงถึงหลักหมื่นล้านบาทขึ้นอยู่กับขนาดของแหล่ง
  3. การผลิต (Production) โดยปกติจะใช้เวลา 20-30 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ได้รับสัมปทานหรือสัญญา โดยผู้ผลิตจะต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้รับสิทธิ์เพื่อรักษากำลังการผลิต โดยลักษณะทางธรณีวิทยาของไทย ที่เป็นกระเปาะเล็กๆ ซึ่งหลุมผลิตที่ผลิตจากกระเปาะเล็กๆ เหล่านี้ จะมีระยะเวลาผลิตสั้น ต้องมีการลงทุนเจาะหลุมผลิตเพื่อหาปิโตรเลียมในกระเปาะอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก จึงทำให้แหล่งในประเทศไทยมีต้นทุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อหน่วยสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นกระเปาะใหญ่ เช่น พม่า และมาเลเซีย เป็นต้น
  4. การรื้อถอน (Abandonment) หลังจากที่ผลิตปิโตรเลียมจนหมดอายุสัมปทาน/สัญญา หรือกำลังการผลิตลดลงจนถึงจุดไม่คุ้มทุนแล้ว จะต้องทำการรื้อถอนแท่นและอุปกรณ์การผลิตทั้งหมด และจะต้องปิดหลุมทุกหลุม ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-5 ปี

ทั้งนี้ ภาพรวม ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ถือเป็นที่ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง (Capital intensive) บริษัทผู้ลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงทั้งโอกาสในการค้นพบ ปิโตรเลียม ความเสี่ยงที่ผลผลิตอาจจะต่ำกว่าคาดการณ์ และความเสี่ยงจากการชำระหนี้ ถ้าระบบไม่เอื้อต่อการลงทุนและไม่เหมาะสมกับศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมก็จะไม่ดึงดูดการลงทุน กรณีรัฐจะลงทุนสำรวจเองก็จะเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนพบกับความเสี่ยงไปด้วย

แม้เป้าหมายหลักของธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ แต่ในมิติของความรับผิดชอบต่อสังคม ยังได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ "ขับเคลื่อนชุมชนให้ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำทางสังคม" เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

เจาะลึกปัจจัยเสี่ยง-ความท้าทาย \'ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม\' ในไทย