ผ่ากลยุทธ์ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี-เวียดนาม-ไทย’ ชิงมหาอำนาจท่องเที่ยว ‘เอเชีย’

ผ่ากลยุทธ์ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี-เวียดนาม-ไทย’ ชิงมหาอำนาจท่องเที่ยว ‘เอเชีย’

นับถอยหลังสู่ปี 2567 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาค 'เอเชียแปซิฟิก' มีแนวโน้มฟื้นตัวดีสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศล้วนน่าจับตายิ่ง ต่างหวังช่วงชิงฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติคืนเต็มกำลัง!

หลังปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ถือเป็น “ปีทอง” ของภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก! กระแสการเดินทางหลั่งไหลสู่ภูมิภาค “เอเชียแปซิฟิก” ไม่ขาดสาย จากข้อมูลขององค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือนมากถึง 360.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.1% เทียบกับปี 2561

สำหรับ 10 อันดับแรกของจุดหมายปลายทางในเอเชียแปซิฟิก ที่มีจำนวนคนเดินทางไปเยือนสูงสุดในปี 2562 ได้แก่

อันดับ 1          จีน                 65.7 ล้านคน

อันดับ 2          ไทย               39.8 ล้านคน

อันดับ 3          ญี่ปุ่น              32.2 ล้านคน

อันดับ 4          มาเลเซีย          26.1 ล้านคน

อันดับ 5          ฮ่องกง            23.8 ล้านคน

อันดับ 6          มาเก๊า             18.6 ล้านคน

อันดับ 7          เวียดนาม         18 ล้านคน

อันดับ 8          อินเดีย            17.9 ล้านคน

อันดับ 9          เกาหลีใต้          17.5 ล้านคน

อันดับ 10         อินโดนีเซีย        15.5 ล้านคน

“กรุงเทพธุรกิจ” ชวนสำรวจยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและจุดเด่นของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย ในศึกชิงเจ้ามหาอำนาจด้านการท่องเที่ยวแห่งเอเชียยุคหลังโควิด

'ญี่ปุ่น' เยนอ่อนค่าหนัก โครงสร้างพื้นฐานพร้อม กระตุ้นเที่ยวเมืองรอง

เริ่มกันที่ “ญี่ปุ่น” หลังจากต้องผิดหวังในฐานะเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โดนวิกฤติโรคระบาดคร่าโอกาส ดับฝันการดึงเม็ดเงินจากเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ก่อนจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565

กระทั่งเข้าสู่ปี 2566 ซึ่งมีปัจจัย "เงินเยนอ่อนค่า" ช่วยกระตุ้นการเดินทางจับจ่าย สถิติช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปีนี้ พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นสะสม 17,374,300 คน ฟื้นตัว 71.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตามรายงานขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO)

โดยมีนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้มากเป็นอันดับ 1 จำนวน 4,894,800 คน ฟื้นตัว 99% เทียบกับปี 2562 ส่วนอันดับ 2 ไต้หวัน 2,974,600 คน ฟื้นตัว 80% ด้านอันดับ 3 จีน 1,597,800 คน ฟื้นตัวเพียง 22% อันดับ 4 ฮ่องกง 1,483,600 คน ฟื้นตัว 90% อันดับ 5 สหรัฐ 1,466,100 คน เติบโต 15% และอันดับ 6 ไทย 631,100 คน ฟื้นตัว 73% ยังคงครองแชมป์ตลาดนักท่องเที่ยวจาก “อาเซียน” ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นสูงสุด!

ผ่ากลยุทธ์ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี-เวียดนาม-ไทย’ ชิงมหาอำนาจท่องเที่ยว ‘เอเชีย’

เจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ภาคการท่องเที่ยวญี่ปุ่นฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากปัจจัยเงินเยนอ่อนค่า (ข้อมูล ณ พ.ย. 2566 อัตราแลกเปลี่ยน 100 เยน อยู่ที่ระดับ 23-24 บาท) ประกอบกับญี่ปุ่นมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย “เที่ยวได้หมดทุกจังหวัด” การโปรโมตท่องเที่ยว “เมืองรอง” ก็ทำได้ง่ายกว่าของไทย เพราะมีรถไฟไปถึงทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังเป็นประเทศที่มี “ความปลอดภัยสูง” นักท่องเที่ยวต่างชาติเชื่อมั่นในการเดินทาง

รวมถึงหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นวางยุทธศาสตร์แม่นยำ ที่ผ่านมาชัดเจนว่าอยากได้นักท่องเที่ยวตลาด “อาเซียน” ก็ออกมาตรการ “วีซ่า-ฟรี” เดินทางเข้าญี่ปุ่นโดยไม่ต้องขอวีซ่า เช่น เวียดนาม จากสถิติช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีนักท่องเที่ยวเวียดนามเดินทางไปญี่ปุ่นกว่า 4.39 แสนคน เติบโต 17% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ผ่ากลยุทธ์ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี-เวียดนาม-ไทย’ ชิงมหาอำนาจท่องเที่ยว ‘เอเชีย’

 

'เกาหลี' ยึดแกนหลัก K-Culture ซอฟต์พาวเวอร์โปรโมตท่องเที่ยว

ด้าน “เกาหลีใต้” ทาง เจมส์ ลี รองประธานองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) กล่าวว่า มีแผนดึงนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเกาหลีมากที่สุด โดยกำหนดให้ปี 2566-2567 เป็น “ปีแห่งการมาเยือนเกาหลี” และได้จัดแคมเปญ “100 กิจกรรมการท่องเที่ยวเกาหลี” ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเกาหลี โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือการขยายฐานนักท่องเที่ยวจากตลาดอาเซียน

นอกจากนี้ จะมุ่งโปรโมตการท่องเที่ยวแบบ “สมาร์ต ทัวริสซึ่ม” (Smart Tourism) ซึ่งเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวมิติใหม่ที่เกาหลีพัฒนาขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้บริการด้านการท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ

“เราตั้งเป้าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเกาหลี 10 ล้านคน ส่วนในปี 2567 คาดว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวเต็มที่ กลับไปสู่สภาวะก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งมีนักเที่ยวอยู่ที่ 17.5 ล้านคนต่อปี” รองประธานลี กล่าว

และแน่นอนว่าอีกยุทธศาสตร์สำคัญคือ “ซอฟต์พาวเวอร์” ของเกาหลีที่ทรงอิทธิพลระดับโลก! ใช้วัฒนธรรมของ “K - Culture” เป็นแกนหลักกระตุ้นนักท่องเที่ยว ทำแคมเปญส่งเสริมการขายกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลาย

ผ่ากลยุทธ์ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี-เวียดนาม-ไทย’ ชิงมหาอำนาจท่องเที่ยว ‘เอเชีย’

 

'เวียดนาม' ดาวรุ่งมาแรง แหล่งท่องเที่ยวแมนเมดดึงดูดทัวริสต์

อีกหนึ่งประเทศดาวรุ่งด้านการท่องเที่ยวอย่าง "เวียดนาม" ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ในยุคก่อนโควิดมีพัฒนาการเติบโตโดดเด่น ปัจจุบันชูจุดขายทรัพยากรธรรมชาติ และมี "แหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง" (Man-made Attraction) ดึงดูดความสนใจได้ดี ค่าครองชีพไม่แรง เป็นคู่แข่งที่พร้อมช่วงชิงฐานนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย ในปี 2566 ทาง Vietnam Tourism Advisory Board” ประเมินแนวโน้มว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 12-13 ล้านคน

“การท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม” (VNAT) รายงานสถิติช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 พบว่าเวียดนามต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9,997,928 คน โดยอันดับ 1 เกาหลีใต้ มีจำนวนสะสม 2,906,011 คน อันดับ 2 จีน 1,306,942 คน อันดับ 3 ไต้หวัน 666,629 คน อันดับ 4 สหรัฐ 598,933 คน อันดับ 5 ญี่ปุ่น 468,732 คน และอันดับ 6 ไทย 391,822 คน

 

'ไทย' รุกเจาะทุกตลาด กวาดรายได้ 3.5 ล้านล้านบาท เป้าใหม่ปี 67

ส่วน “ประเทศไทย” รัฐบาลยกให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก ปั้นรายได้แบบ “ควิกวิน” แก่เศรษฐกิจไทย ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ขอปรับเพิ่มรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2567 เป็น “3.5 ล้านล้านบาท” จากเป้าหมายปัจจุบัน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการฟื้นตัว 100% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ด้วยการเพิ่มรายได้จากตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น

เมื่อ ททท.พิจารณาสัดส่วนรายได้ระหว่างตลาดในประเทศและต่างประเทศแล้ว เท่ากับว่าในปี 2567 จะต้องสร้างรายได้ตลาดต่างประเทศ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 5 แสนล้านบาท จากเป้าหมายปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างน้อย 35 ล้านคน ปูทางสู่เป้าหมายรายได้ตลาดต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาทในปี 2568 ตามนโยบายของ “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนรายได้ตลาดในประเทศ ยังคงเป้าเท่าเดิมที่ 1 ล้านล้านบาท

ส่วนปี 2566 ททท.ยังคงเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวที่ 2.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25-28 ล้านคน ซึ่งวางเป้ารายได้ไว้ที่ 1.6 ล้านล้านบาท และผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (รวมนักท่องเที่ยวและนักทัศนาจร) 200 ล้านคน-ครั้ง ตั้งเป้ารายได้ 8 แสนล้านบาท

สำหรับ "สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติ" ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (1 ม.ค. - 31 ต.ค.) มีจำนวนสะสม 21,882,227 คน สร้างรายได้ 963,142 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกของชาติที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด อันดับ 1 มาเลเซีย 3,342,819 คน อันดับ 2 จีน 2,778,595 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ 1,313,781 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,283,340 คน และอันดับ 5 รัสเซีย 1,097,361 คน

ผ่ากลยุทธ์ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี-เวียดนาม-ไทย’ ชิงมหาอำนาจท่องเที่ยว ‘เอเชีย’

ฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับยุทธศาสตร์ “PASS” ส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท. ในปี 2567 จะประกอบด้วย 1.Partnership 360 ผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2.Accelerate Access to Digital World พัฒนาองค์กรบนพื้นฐานการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล

3.Sub-Culture Movement การลงลึกถึงระดับความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย แม้ประเทศไทยจะเป็น “มหาอำนาจการท่องเที่ยว” แต่การแข่งขันช่วงชิงนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นทั่วโลก! ดังนั้นสิ่งที่เคยทำอย่างการทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มกระแสหลักและกลุ่มความสนใจเฉพาะยังต้องเดินหน้า แต่ต้องเจาะกลุ่มความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมย่อย ลงลึกถึงระดับดีเอ็นเอความชอบของนักท่องเที่ยวด้วย และ 4.Sustainably NOW มุ่งสู่ความยั่งยืนแบบทันที

ผ่ากลยุทธ์ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี-เวียดนาม-ไทย’ ชิงมหาอำนาจท่องเที่ยว ‘เอเชีย’

สำหรับมุมมองของภาคเอกชน ก่อนหน้านี้ ธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย ให้ความเห็นว่า หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลส่งเสริมคือ เร่งดึงการลงทุน Man-made Attraction” เข้ามาในประเทศไทย เช่น สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ หรือยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ เข้าไปในภาคอีสาน 

เมื่อมีครบทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ต้องรักษาไว้ให้ดี รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวแบบแมน-เมด และมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยวเพิ่ม จะช่วยติดปีกตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากยิ่งขึ้น!

ผ่ากลยุทธ์ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี-เวียดนาม-ไทย’ ชิงมหาอำนาจท่องเที่ยว ‘เอเชีย’