โครงสร้างพื้นฐาน ‘ภูเก็ต’ ล้าหลัง 20 ปี! ท่องเที่ยวโตล้ำหน้า จี้รัฐอุดรูรั่ว

โครงสร้างพื้นฐาน ‘ภูเก็ต’ ล้าหลัง 20 ปี! ท่องเที่ยวโตล้ำหน้า จี้รัฐอุดรูรั่ว

'ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์' (C9 Hotelworks) บริษัทผู้นำด้านการวิจัยธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ เปิดเผยถึงรายงานธุรกิจท่องเที่ยวของ 'ภูเก็ต' ในปี 2566 ว่า แม้จะบูมถึงขีดสุดในยุคหลังโควิด-19 ระบาด แต่ยังต้องเผชิญปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ

บิล บาร์เน็ตต์ กรรมการผู้บริหาร ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ เปิดเผยข้อมูลวิจัยเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของภูเก็ตว่า ธุรกิจโรงแรมประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นการปูทางสำหรับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยพบว่า “รัสเซีย” และ “จีน” เป็นสองตลาดต้นทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี ตามมาติดๆ คืออินเดีย ออสเตรเลีย และคาซัคสถาน

ด้านอัตราการเข้าพักโรงแรมในช่วงครึ่งแรกของปีสูงกว่า 70% และสิ่งที่ส่งผลดีอย่างแท้จริงต่อเจ้าของโรงแรมคือแนวโน้ม “อัตราราคาห้องพัก” ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากวิกฤติโควิด-19 ระบาด แม้ว่าโดยส่วนใหญ่ของโรงแรมที่จดทะเบียนในภูเก็ตกว่า 2,000 แห่ง และมีห้องพักมากกว่า 106,000 ห้อง จะกลับสู่สภาวะปกติแล้ว แต่บรรดาผู้ประกอบการโรงแรมยังคงประสบปัญหา “ขาดแคลนพนักงาน” ภาคบริการอย่างต่อเนื่อง

ผลจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวคือ “ปริมาณนักท่องเที่ยว” ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเฟื่องฟูเกินไป และการกลับมาของโครงการพัฒนาต่างๆ ทำให้การจราจรติดขัดจนเป็นปัญหาที่น่ากังวลมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบและเป็นปัญหาระยะยาวต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โครงสร้างพื้นฐาน ‘ภูเก็ต’ ล้าหลัง 20 ปี! ท่องเที่ยวโตล้ำหน้า จี้รัฐอุดรูรั่ว

โครงสร้างพื้นฐาน ‘ภูเก็ต’ ล้าหลัง 20 ปี! ท่องเที่ยวโตล้ำหน้า จี้รัฐอุดรูรั่ว

“ช่วงพีคซีซันปี 2566/2567 มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหารถติดอย่างหนัก ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งนักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัย ความล้มเหลวในการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งให้เป็นความจริงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบในระยะยาว”

สำหรับโครงการสำคัญที่ยังไม่แล้วเสร็จ ได้แก่ อุโมงค์ป่าตอง-กะทู้ ทางด่วนข้ามเกาะ และระบบรถไฟฟ้ารางเบา แม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับโครงการเหล่านี้ แต่ยังไม่มีศักยภาพในการจัดสรรงบประมาณภาครัฐในขณะนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือโครงการ BOT (Build-operate Transfer) เพื่อให้โครงการเหล่านี้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งรวมถึงท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน ซึ่งเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากด้วย

การคาดการณ์สำหรับช่วงพีคซีซันนี้ ข้อมูลวิจัยเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของซีไนน์พบว่า ทั้งโรงแรมและธุรกิจการท่องเที่ยวต่างมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการกลับมาอย่างช้าๆ ของ “นักท่องเที่ยวจีน” ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในตลาดขนาดใหญ่นี้ได้รับความเสียหาย และความเชื่อมั่นในการเดินทางมาประเทศไทยยังคงอ่อนแอ แม้จะมีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ “วีซ่า-ฟรี” แก่นักท่องเที่ยวจีนเป็นการชั่วคราว ระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 – 29 ก.พ. 2567 ก็ตาม เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดการท่องเที่ยวจีนยังไม่เกิดขึ้นจริง โรงแรมส่วนใหญ่จึงต้องการกำลังซื้อที่แข็งแกร่งจากรัสเซีย คาซัคสถาน และอินเดีย รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่ม “Snow Bird” ช่วงฤดูหนาว

แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานของโรงแรมในภูเก็ตจะมีความพร้อม แต่ บิล ชี้ให้เห็นว่า “แนวทางการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวแบบพยายามอุดรอยรั่วของภาครัฐจะไม่สามารถใช้ได้ผลในพื้นที่ท่องเที่ยวระดับนานาชาติที่โตเต็มตัวอย่างภูเก็ต ภาคเอกชนของเกาะได้เติบโตเกินกว่าโครงสร้างพื้นฐานระดับจังหวัดที่ล้าหลังมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว สิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างมากคือแผนแม่บทและกลยุทธ์ที่จะสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมโทรมให้รวดเร็วขึ้น”

โครงสร้างพื้นฐาน ‘ภูเก็ต’ ล้าหลัง 20 ปี! ท่องเที่ยวโตล้ำหน้า จี้รัฐอุดรูรั่ว

ด้าน ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนเดือน ต.ค.ที่ผ่านมายังคงทยอยเดินทางเข้าภูเก็ต แม้รัฐบาลจะออกมาตรการวีซ่า-ฟรี เป็นการชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีน แต่ก็ยังไม่ทำให้เข้ามามากขึ้น ส่วนเหตุการณ์ไม่คาดคิดในห้างดังกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไป

สำหรับแนวโน้มเดือน พ.ย. ซึ่งจะมีเที่ยวบินเส้นทางระหว่าง ไทย-จีน เข้ามามากขึ้นตามการเข้าสู่ตารางบินฤดูหนาว น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าภูเก็ตมากขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมอัตราการเข้าพักของภูเก็ตในเดือน พ.ย.-ธ.ค. อยู่ที่ 70-80% และในไตรมาส 1 ปี 2567 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. น่าจะมากกว่า 80% ถือว่าน่าพอใจ