ทำไม พนักงานเก่งๆ ลาออกจากองค์กรท่านมากและบ่อย

ทำไม พนักงานเก่งๆ  ลาออกจากองค์กรท่านมากและบ่อย

การลาออกจากงาน มีอยู่ไม่กี่เรื่องหรอก ถ้าไม่ใช่เรื่องงาน ก็เรื่องเงิน หรือไม่ก็เรื่องคน และทั้ง 3 สิ่งนี้ ส่งผลต่อการทำงานร่วมกันมากๆ ถ้าเงินกับงานไม่สัมพันธ์กัน หรือมี Toxic Person ในองค์กร ก็ไม่แปลกที่ พนักงานลาออกบ่อย

ดังนั้น ควรรีบอุดรอยรั่ว จุดอ่อนในองค์กร ให้ทันเวลา ก่อนที่จะสายเกินแก้ แม้พนักงานจะหาได้เมื่อไหร่ก็ได้ แต่พนักงานที่เก่งพร้อมจะทำงาน และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ได้หาง่ายอย่างคิด

ทำไม พนักงานลาออกบ่อย มากๆ

หลายครั้งที่องค์กรมักจะมีการโทษพนักงานว่ามีความอดทนไม่เพียงพอ ไม่เหมาะกับงานที่ทำอยู่ แต่จริงๆ แล้ว การกล่าวโทษว่า ไม่อดทนนั่นแหละ องค์กรรู้หรือไม่ว่า พนักงานหนึ่งคนต้องแบกรับอะไรมากมายไว้บ้าง หลายกรณีก็เกิดจาก จุดอ่อนขององค์กรทั้งนั้น การเหมารวมแบบนี้ก็ยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีกมาก ปัจจัยหลักการลาออกของพนักงานนั้นก็คือความไม่พึงพอใจในงาน เมื่อเกิดความไม่พอใจในการทำงานก็จะทำให้เกิดการลาออก

เหตุผลหลักที่ทำไมพนักงานเก่งๆ ถึงลาออกกันหมด

1. เขาเหนื่อย !!!

“ไม่มีใครตายเพราะทำงานหนัก” ประโยคนี้คงได้ยินกันบ่อยๆ แต่หลายคน สูญเสียเวลาของชีวิตในการอยู่กับคนรัก หรือครอบครัว หรือได้ทำตามความฝันในสิ่งที่ชอบ เพราะเขาใช้เวลาทั้งชีวิตทุ่มเทกับการทำงาน และหลายครั้งบริษัทก็ให้พนักงานทำงานแบบไร้แผน ไร้ระบบ งานที่มันไม่จบในเวลา เลิกงานไปแล้วยังให้ทำงาน วันหยุดวันพักผ่อนยังไลน์ยังโทรมาทวงงาน ไม่มีเวลาพักผ่อนที่เต็มที่

“เขาเหนื่อย” นั่นแหละคือเหตุผล!! งานที่ทำให้สุขภาพเขาแย่ หนักเกินไป เครียดเกินไป จนทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน

2. เหนื่อยใจผู้บริหารองค์กร และ/หรือ หัวหน้างาน

เหนื่อยงานยังพอทน แต่เหนื่อยใจกับผู้บริหารหรือหัวหน้างานที่ทำงานด้วย มันเหลือทน พนักงานหลายคนทนไม่ไหว กับผู้บริหาร/หัวหน้า ที่ไม่มีวิสัยทัศน์ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผู้บริหาร/หัวหน้า ที่เคี่ยวเข็ญและเรียกร้องให้พนักงานทำงานอย่างหนักสร้างผลงาน ผู้บริหาร/หัวหน้า ที่รู้บทบาทหน้าที่ของผู้บริหาร ทำให้พนักงานอึดอัด เดินพล่ามสั่งงานเช้าอย่างเย็นอย่าง ไม่อยู่กับร่องกับรอย วันๆ เรียกประชุมดับไฟแก้ไขปัญหา

3. โอกาสในการเติบโตในองค์กรน้อย

ในเรื่องของการทำงานแน่นอนว่าพนักงานทุกคนนั้นย่อมต้องการความมั่นคงและการเติบโตจากตำแหน่งและหน้าที่การงาน บริษัทนั้นมีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตโดดเด่นเป็นที่รู้จักในวงการธุรกิจเดียวกัน และพัฒนาบุคลากรให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน เพราะนอกจากการที่องค์กรมีการมอบงานหรือหน้าที่ที่มีความท้าทายหรือเสี่ยงสูงสิ่งที่ควรเพิ่มตามหน้าที่ให้นั่นคือการเติบโตในตำแหน่งงานด้วยเพราะคงไม่มีใครอยากที่จะทนรับงานมากยิ่งขึ้นแต่ตำแหน่งเท่าเดิมและได้ผลตอบแทนเท่าเดิมได้หรอก

4. ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม

ปัญหาความลำเอียง ความไม่เท่าเทียมมักจะทำให้คนที่เก่งแต่ไม่เป็นที่โปรดปรานหมดใจ! และรวมไปถึงพนักงานเก่าที่บริษัทมองว่าเป็นของตาย ไม่ใส่ใจหรือมองไม่เห็นคุณค่า แต่กับพนักงานที่เข้ามาใหม่ กลับให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ทั้งที่อาจจะทำงานไม่ได้เรื่องหรือไม่เท่ากับพนักงานเก่า เมื่อไหร่ที่มีความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้นก็จะส่งผลให้องค์กรเสียพนักงานที่เก่ง และ/หรือพนักงานเก่าที่รู้งานทยอยลาออกเป็นรายวัน

5. ส่งเสริมคนอย่างไม่เหมาะสม

บางครั้งบริษัทก็เลื่อนขั้นพนักงานอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการเปรียบเทียบของพนักงานด้วยกัน พนักงานที่ไม่สมควรได้รับการเลื่อนขั้น แต่ก็ดันโปรโมท ในขณะที่หลายๆ คนที่มีความสามารถ และขยันแทบตาย แต่กลับถูกมองข้ามไปเฉยๆ

6. อยู่ไปก็ดักดาน ไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม

ความกระตือรือร้นและทะเยอทะยาน คือนิสัยอย่างหนึ่งของพนักงานเก่งๆ หากบริษัทของคุณไม่มีอะไรที่จะท้าทายความสามารถของพวกเขา หรือทำให้เขาได้เรียนรู้ต่อไปอีก พนักงานเหล่านี้จะรู้สึกเบื่อ และไม่มีแรงจูงใจใดๆ ในการทำงานอีกต่อไป

7. ไม่ใส่ใจห่วงใยพนักงาน

ผู้บริหาร/หัวหน้าที่ไม่ใส่ใจความเป็นไปของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น ความลำบากของชีวิตเขา การจัดสรรเวลาส่วนตัวและเวลาการทำงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้พนักงานอยากที่จะลาออกทั้งสิ้น ที่แย่กว่านั้นคือผู้บริหาร/หัวหน้า หลายคนไม่เคยถามสารทุกข์สุขดิบของพนักงาน เอาแต่มอบหมายงานให้ทำเท่านั้น แต่ไม่เคยใส่ใจพวกเขาจริงๆ เรื่องเหล่านี้เป็นสัณชาติญาณที่มนุษย์ปุถุชนทุกคนสามารถสัมผัสได้ หากคุณมีความจริงใจ

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับปัญหาการลาออก

สุดท้ายนี้ หากเรามาดูภาพรวมกันจริงๆ เราจะเห็นได้ว่าปัญหาการลาออกนั้นดูเหมือนจะป้องกันได้ง่าย แต่ในมุมมองของผู้บริหารนั้นดูเหมือนเคลื่อนไหวได้ยากเย็น เพราะทุกครั้งที่มีพนักงานลาออก มันได้สะท้อนถึงหลายๆ อย่างในบริษัท และถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ผู้บริหารจะยอมรับความจริงและมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง หรือจะให้การได้มาพนักงานเก่งๆในองค์กรเป็นเรื่องของ “โชคชะตา” และการไม่มีปัญญารักษา-พัฒนาคนเก่งไว้ในองค์กร เป็น เรื่อง “เวรกรรมขององค์กร”