VISTEC จากแหล่งผลิตนักวิจัย สู่การสานต่อธุรกิจ Deep Tech Startup
VISTEC กับเส้นทางการสานต่อธุรกิจ Deep Tech Startup มุ่งต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาเป็นเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ เพิ่มศักยภาพประเทศ และเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ
บนโลกแห่งการแข่งขัน การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องเริ่มที่เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาและพลิกโฉมประเทศไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve
หนึ่งในความตั้งใจเพื่อนำประเทศเดินหน้าไปสู่เส้นทางแห่งเทคโนโลยี ได้เริ่มต้นที่ สถาบันวิทยสิริเมธี หรือในชื่อย่อว่า VISTEC เป็นสถาบันการศึกษาที่ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดย กลุ่มบริษัท ปตท. บนพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ ในเมืองแห่งนวัตกรรม วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง โดยเน้นการบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล โดยเปิดสอนในระดับปริญญาโทและระดับปริญญาเอก (หลักสูตรนานาชาติ) ประกอบไปด้วย 4 สำนักวิชา ดังนี้
- สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering : MSE)
- สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering : ESE)
- สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering : BSE)
- สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology : IST)
ทั้ง 4 สำนักวิชา ถือเป็นแกนหลักของนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่สอดรับกับเทรนด์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ VISTEC ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานไว้ 3 แนวทาง โดยเริ่มจากงานทางด้านวิชาการ ที่เน้นการสร้างสรรค์งานวิจัยชั้นแนวหน้า ไปพร้อมกับการสร้างบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูง
ส่วนแนวทางที่ 2 คือ นำงานวิจัยที่สำเร็จมาต่อยอด สร้างเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงทางอุตสาหกรรม โดยมีหน่วยงานที่ชื่อ Frontier Research Center รับผิดชอบในการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รับโจทย์จากหน่วยงานภายนอก เพื่อหาแนวทางในการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมาพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
แนวทางลำดับสุดท้ายคือ การบ่มเพาะวิสาหกิจใหม่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีชั้นสูง หรือที่เรียกว่า Deep Tech Startup ซึ่งปัจจุบัน ทาง VISTEC ได้ก่อตั้ง บริษัท วิสอัพ จำกัด (VISUP COMPANY LIMITED) ขึ้น โดยมีบทบาทเป็น Venture Builder ที่เสมือนเป็นโรงงานผลิต Startup ออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ไอเดียการทำธุรกิจ โดยต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาเป็นเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งซัพพอร์ตแหล่งเงินทุน ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรที่มี เพื่อสนับสนุน Startup ให้สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
หนึ่งใน Startup ภายใต้ บริษัท วิสอัพ จำกัด คือ บริษัท คลีนเทค แอนด์ บียอนด์ จำกัด (Cleantech and Beyond Co., Ltd.) ซึ่งมีผลงานโดดเด่นที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีจากห้องแล็บสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์และดำเนินธุรกิจอย่างเต็มตัว นั่นคือ Digital Temperature Indicator หรือ DTI ที่ต่อยอดผลงานวิจัยจากสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล โดยยกระดับความสามารถของ RFID Tag ที่เราคุ้นเคยกันดีในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก คลังสินค้า หรืองานอีเวนต์ ให้สามารถวัดและแสดงสถานะอุณหภูมิได้ด้วย
ลักษณะการทำงานของ DTI นั้น เป็นฉลากอัจฉริยะที่สามารถใช้ระบุตัวตนสินค้า อุปกรณ์ หรือสิ่งของที่นำฉลากไปติด โดยมีคุณสมบัติพิเศษคือ บ่งชี้เมื่ออุณหภูมิสูงเกินค่าวิกฤติได้ ทำงานได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ สามารถใช้งานได้กับระบบการสื่อสารไร้สายทั้งชนิด RFID และ NFC ซึ่งจะช่วยให้สามารถติดตามอุณหภูมิตัวสินค้าหรือสิ่งของต่างๆ เป็นรายชิ้น และเมื่อสินค้าสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด DTI จะแสดงสถานะอุณหภูมิทั้งในรูปแบบการเปลี่ยนสี และการเปลี่ยนสถานะดิจิทัล โดยไม่มีการผันกลับถึงแม้อุณหภูมิจะกลับมาสู่ค่าปกติ เนื่องจากการขนส่งสิ่งของบางประเภท ความร้อนหรืออุณหภูมิที่สูงเกิน เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายได้
ยกตัวอย่าง การขนส่งถุงเลือด ชีววัตถุ ขนส่งยา วัคซีน หรือสินค้าประเภทน้ำหอม เครื่องสำอาง อาหารมูลค่าสูง ควรต้องตรวจสอบไม่ให้อุณหภูมิเกินกว่าค่าที่กำหนด รวมถึงการตรวจสอบอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟ มอเตอร์ ในภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องติดตามอยู่เสมอว่ามีความร้อนสูงผิดปกติหรือไม่ ก็สามารถนำ DTI นี้ไปติดเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิได้
ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ถูกต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม และผลักดันสู่ธุรกิจ Startup สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางทั้ง 3 ด้านของ VISTEC ที่จะช่วยสร้าง Ecosystem ให้กับนักวิจัยได้มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ พัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้อยู่ในระดับแนวหน้า สามารถนำมาผสมผสานสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน