‘พาที สารสิน’ ยุค 2.0 กับภารกิจลุยสร้างจักรวาลใหม่ ‘เรียลลี คูล’ (Really Cool)

‘พาที สารสิน’ ยุค 2.0 กับภารกิจลุยสร้างจักรวาลใหม่ ‘เรียลลี คูล’ (Really Cool)

'พาที สารสิน' กับยุค 2.0 ของเขา ยุคแห่งการคัมแบ็กกลับมาก่อตั้งสายการบินใหม่ 'เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส' (Really Cool Airlines) สายการบินสตาร์ตอัปสัญชาติไทย เริ่มต้นด้วยเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท ภายใต้ปรัชญาการทำงานสะท้อนผ่านสโลแกน 'We Fly The Future' สู่เป้าหมายพลิกโฉมการบิน

พาที สารสิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบิน Really Cool เริ่มต้นด้วยการเล่าถึง “3 เหตุผลหลัก” ของการคัมแบ็กเปิดสายการบินใหม่ เหตุผลที่ 1 คือทำเพื่อประเทศชาติ! ผลักดันสายการบินสัญชาติไทยไปสู่ระดับโกลบอลแบรนด์

เหตุผลที่ 2 ธุรกิจฮอสพิทาลิตี้ (Hospitality) ของประเทศไทยมีช่องทางขยายการเติบโตอีกมาก คาดว่าปี 2567 จะเป็นปีที่ธุรกิจสายการบิน “กลับมาดีมากๆ แน่นอน ล้านเปอร์เซ็นต์!” รัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเองก็สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศก็มีแนวโน้มเดินทางดี ตลาดเติบโตร้อนแรงหนีไม่พ้น “เอเชีย” ผู้คนทั่วโลกอยากมาเที่ยวที่นี่ รวมถึงประเทศไทยที่เมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเกือบ 40 ล้านคน ยังมีช่องให้ไปต่อ แทรกตัวเข้าไปช่วงชิงตลาด หลังจาก 6 เดือนแรกของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสะสมกว่า 18-20 ล้านคน

และเหตุผลที่ 3 ทำธุรกิจสายการบินให้ “ยั่งยืน” ฝ่าโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนสูง (Sustain Through Turbulence)

ทั้งนี้ พาที ย้ำด้วยว่า “สายการบิน Really Cool ไม่ใช่สายการบินโลว์คอสต์” แต่เป็น “สายการบินไลฟ์สไตล์ที่ให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ” (Lifestyle Full Service) ด้วยโมเดลผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นนำ ให้บริการผู้โดยสารได้ยอดเยี่ยมเหนือกว่าสายการบินอื่นๆ

อาทิ บริการเสริมจัดส่งกระเป๋าสัมภาระแบบ Door-to-Door ตั้งแต่ที่พักต้นทางจนถึงจุดหมายปลายทาง จ่ายแยกจากค่าตั๋วเครื่องบิน ในราคาแบบยืดหยุ่น (Dynamic) ขึ้นกับระยะเวลาและดีมานด์การจองล่วงหน้า เช่น ผู้โดยสารคนไทยสามารถใช้บริการนี้ให้มารับกระเป๋าสัมภาระที่บ้าน ส่งตรงถึงโรงแรมที่พักในเมืองปลายทางได้ หรือจุดไหนก็ได้ที่ผู้โดยสารต้องการให้จัดส่ง สามารถติดตาม (Tracking) การขนส่งได้ทุกขณะ โดยได้คุยกับบริษัทพันธมิตรการขนส่งทั้งในและต่างประเทศไว้แล้ว จะเริ่มทดสอบบริการนี้ที่ “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศแรก

นอกจากนี้ ยังเป็นสายการบินแรกของไทยที่จะใช้โทเค็น (Token) ในโปรแกรมสะสมคะแนนการบิน ล่าสุดเพิ่งเปิดตัว ReallyCool US Digital Membership ซึ่งเป็นโปรแกรมสมาชิกที่ใช้ผ่านแอปพลิเคชันแบบอินเตอร์แอคทีฟไปเมื่อไม่นานมานี้ ช่วยให้สมาชิกปรับแต่งประสบการณ์การบินตามความต้องการได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด และบนเครื่องบินจะให้บริการ Wi-fi ด้วย ซึ่งอาจจะใช้ระบบ สตาร์ลิงก์ (Starlink) ของ อีลอน มัสก์

“สายการบินเราจะใช้ AI เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนกว่า 20-30% ทั้งในเชิงการขาย การวางแผนกลยุทธ์ และการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน นอกจากนี้จะเป็นสายการบินแรกของโลกที่ใช้อวาตาร์ (Avatar) ด้วยระบบ AI เพื่อพูดคุยกับผู้โดยสาร เป็นเหมือนผู้ช่วยส่วนตัวในการบุ๊กกิ้ง จองตั๋วเครื่องบิน และบริการอื่นๆ ที่ผู้โดยสารต้องการใช้บริการสายการบิน สามารถพูดได้ถึง 40 ภาษาอีกด้วย”

‘พาที สารสิน’ ยุค 2.0 กับภารกิจลุยสร้างจักรวาลใหม่ ‘เรียลลี คูล’ (Really Cool)

ส่วนเหตุผลที่ตั้งชื่อว่า Really Cool” เพราะเป็นคำคุณศัพท์ หรือ Adjective ที่สามารถนำไปขยายความผลิตภัณฑ์และบริการใน “จักรวาล” ที่ พาที สร้างขึ้นมาใหม่! โดยก่อนหน้านี้มี Really Cool Go” บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ที่รีแบรนด์จากชื่อเดิม “Really Really Cool” ซึ่งก่อตั้งหลังลาออกจากตำแหน่งซีอีโอสายการบิน “นกแอร์”

“การก่อตั้งสายการบิน Really Cool เป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจภายใต้บริษัท อาร์ ซี แอร์ไลน์ จำกัด เมื่อแบรนด์ Really Cool ได้ก่อตั้งขึ้นจนได้รับความเชื่อมั่นแล้ว ทางองค์กรมีแผนจะนำแบรนด์มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ สร้างเป็นระบบนิเวศ (Eco-system) ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจการบิน และรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน ด้วยการร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้ธุรกิจสายการบินเป็นตัวชี้นำ ขยายไปในหลายๆ ส่วน”

บริษัทตั้งเป้ากระจายสัดส่วนรายได้ของ Really Cool มาจากธุรกิจสายการบิน 60% ซึ่งตั้งเป้าการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน 13.1 ชั่วโมงต่อวัน และธุรกิจที่ไม่ใช่สายการบิน 40% ในอนาคตเมื่อขยายธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง จะขยับสัดส่วนให้เท่ากันที่ 50%  

‘พาที สารสิน’ ยุค 2.0 กับภารกิจลุยสร้างจักรวาลใหม่ ‘เรียลลี คูล’ (Really Cool)

พาที ขยายความเพิ่มเติมว่า จังหวะการเปิดตัว” ของสายการบิน Really Cool ถูกวางไว้ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ด้วยรายได้และผลกำไรของสายการบินที่พุ่งสูงขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายการบินหลักทั่วโลก เช่น ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ลุฟท์ฮันซ่า เดลตาแอร์ไลน์ โคเรียนแอร์ ไชน่าแอร์ไลน์ หรือแม้กระทั่งการบินไทย ซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ก็สามารถทำกำไรได้หลังจากที่ประสบภาวะซบเซาทางการเงินมานานกว่า 3 ปี

หลังจากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายประเทศได้จำกัดการเดินทางและเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดรุนแรง อุตสาหกรรมการบินได้เผชิญกับการสูญเสียรายได้รวมมากกว่า แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7.24 ล้านล้านบาท)

จากตัวเลขของ “สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ” (IATA) คาดว่าในปี 2566 สายการบินทั่วโลกจะสร้างรายได้สุทธิมากถึง 9,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.55 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากการคาดการณ์ในช่วงเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่งเดิมอยู่ที่ที่ 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท) และ IATA คาดว่าจะมีผู้โดยสารทางอากาศมากถึง 4,350 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ที่มีประมาณ 4,540 ล้านคน

“ความต้องการในการเดินทางทางอากาศได้ฟื้นกลับมาในระดับที่สายการบินทั่วโลกต้องรีบเร่งขยายตัวกันอย่างรวดเร็ว จังหวะที่ดีมานด์ล้น มากกว่าซัพพลายแบบนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับสายการบินสตาร์ตอัปอย่าง Really Cool

สำหรับแผนเปิดให้บริการสายการบิน คาดว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate: AOC) ซึ่งเป็นใบอนุญาตใช้เครื่องบินเพื่อการพาณิชย์ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ภายในเดือน ม.ค. 2567 หลังได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (Air Operating Licence: AOL) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือน ก.ค. 2566 ส่วนเรื่องบุคลากร ทั้งนักบินและลูกเรือ เริ่มรับเข้ามาบางส่วนแล้ว เฉพาะลูกเรือล็อตแรกรับเข้าทำงาน 30 คน จากผู้สมัครกว่า 3,000 คน

‘พาที สารสิน’ ยุค 2.0 กับภารกิจลุยสร้างจักรวาลใหม่ ‘เรียลลี คูล’ (Really Cool)

พาที ลงรายละเอียดเรื่องแผนการขยายฝูงบินและเส้นทางบินทั้งระยะกลางและระยะไกล ว่าจะเริ่มเทคออฟในปี 2567 ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330-300 ลำแรกเข้าประจำการเดือน ม.ค. ส่วนลำที่ 2 เข้าประจำการเดือน มี.ค. และอีก 2 ลำในครึ่งปีหลัง รวมปีหน้ามีเครื่องบินรวม 4 ลำรองรับเส้นทางบินระยะกลาง

โดยในช่วงแรกจะเน้นตลาดเอเชียก่อน ตั้งราคาขายตั๋วเครื่องบินเริ่มต้นถูกกว่า 10-12% เมื่อเทียบกับราคาตั๋วของการบินไทย ประเดิมด้วยเส้นทางบินสู่ “ญี่ปุ่น” กับ 2 เส้นทางแรกจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ โตเกียว (นาริตะ) และ นาโกยา เริ่มด้วยบริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ในเดือน มี.ค.-พ.ค. 2567 ก่อนจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินประจำตั้งแต่เดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. 2567 เป็นต้นไป จากนั้นจะเพิ่มเส้นทางยอดนิยม กรุงเทพฯ – ฮอกไกโด ในช่วงไฮซีซันปลายปีหน้า นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดเส้นทางบินสู่ ฮ่องกง, สิงคโปร์, เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และจอร์เจีย ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรป เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทย

ส่วนในต้นปี 2568 จะจัดหาเครื่องบินทางเดินคู่ แอร์บัส A350 และโบอิ้ง B787 เข้าประจำการ เพื่อทำการบินสู่เส้นทาง “ยุโรป” ทำให้สายการบิน Really Cool จะเป็นสายการบินที่ 2 ของไทย ที่จะทำการบินไปยุโรปในอนาคต

“แผนธุรกิจในอนาคต เราเตรียมนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ ระดมทุนจาก IPO แน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ เบื้องต้นจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 18 เดือนนับตั้งแต่ทำการบินครั้งแรก อาจเป็นตลาดหุ้น Nasdaq สหรัฐ หรือที่สิงคโปร์ โดยคาดการณ์ว่าสายการบิน Really Cool จะทำกำไรได้ในปีที่ 2 ของการเปิดให้บริการ หรือในปี 2568” พาที กล่าวปิดท้าย