ข้อสรุป ‘ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ’ ชัดแน่ ธ.ค. 66 เพิ่มหลักสิบบาท ไม่ถึง 400 บาท/วัน

ข้อสรุป ‘ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ’ ชัดแน่ ธ.ค. 66 เพิ่มหลักสิบบาท ไม่ถึง 400 บาท/วัน

‘พิพัฒน์’ เปิดไทม์ไลน์ ‘ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ’ ได้ข้อสรุปแน่นอนเดือน ธ.ค.นี้ พร้อมประกาศเป็น ‘ของขวัญปีใหม่’ คาดขึ้นได้แค่หลักสิบบาท ไม่ถึงวันละ 400 บาท หวั่นกระทบผู้ประกอบการ SME และภาพรวมเศรษฐกิจ สั่งแรงงานจังหวัดลงพื้นที่ สำรวจความเห็นลูกจ้าง ขึ้น-ไม่ขึ้นค่าแรง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในเดือน ธ.ค. 2566 กระทรวงแรงงานจะประกาศการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแรงงานทั่วประเทศไทย แต่คงไม่ถึงวันละ 400 บาท ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเคยประกาศไว้

หลังพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น ทั้งปัจจัยเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการเดินสายรับฟังความคิดเห็นของนายจ้างและลูกจ้าง การปรับขึ้นค่าจ้างรอบนี้แต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน โดยปรับสูงสุดคือหลักสิบบาทเท่านั้น

“การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ แม้จะเพิ่มไม่ถึงวันละ 400 บาท แต่ก็เป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันยังช่วยให้นายจ้างไม่ได้รับผลกระทบหนักมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีจำนวนมาก อาจต้องปลดแรงงานลงหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นไปสูงถึง 400 บาทต่อวัน แต่การปรับขึ้นค่าจ้างงวดต่อไปในช่วงสิ้นปี 2567 อาจเห็นค่าจ้าง 400 บาทได้ แต่ก็เป็นการขึ้นเพียงบางจังหวัดเท่านั้น”

ปัจจุบันจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดในประเทศไทย มี 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และภูเก็ต โดยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 354 บาท รองลงมามี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร อัตราค่าจ้างอยู่ที่วันละ 353 บาท

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ที่ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อให้ได้ตัวเลขที่แท้จริงและเป็นธรรม ล่าสุดได้สั่งการไปยังแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการจ้างงานในกิจการต่างๆ ในจังหวัด ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยเฉพาะการสำรวจความคิดเห็นของลูกจ้างว่า ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากแค่ไหน ก่อนสรุปข้อมูลมาอีกครั้งภายในปลายเดือน พ.ย. 2566

ทั้งนี้ยอมรับว่า ในปี 2565 จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลลูกจ้างในหลายจังหวัด พบว่า มีจังหวัดมากถึง 31 จังหวัดที่แสดงเจตจำนงต่อกระทรวงแรงงานว่าจะไม่ขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และเมื่อย้อนไปในปี 2564 พบว่า มี 44 จังหวัดที่แจ้งว่าไม่ขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะส่วนใหญ่เกรงว่าจะมีความเสี่ยงตกงานในภายหลัง รวมทั้งไม่อยากย้ายไปทำงานในพื้นที่อื่น ซึ่งจะมีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งค่าเดินทางและค่าเช่าบ้าน

อย่างไรก็ตาม ในความคืบหน้าล่าสุดของการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 นั้น กระทรวงแรงงานได้ประชุมเพื่อทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว โดยแต่ละจังหวัดจะพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เสร็จภายในวันที่ 17 พ.ย. 2566 ก่อนส่งผลประชุมมายังคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2566 ก่อนพิจารณาเห็นชอบอัตราค่าจ้างรอบใหม่ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ธ.ค. 2566 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

 

เปิดไทม์ไลน์ “แผนดำเนินการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ประจำปีงบประมาณ 2567

 

*** มีทั้งหมด 9 ขั้นตอน ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่ 4 ซึ่งแต่ละจังหวัดกำลังพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด และจะส่งผลการประชุมเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างในช่วงเดือน ธ.ค. 2566 ก่อนจะมีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ

 

ขั้นตอนที่ 1       คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (ดำเนินการเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566)

 

ขั้นตอนที่ 2       สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง (สคจ.) แจ้งกรอบแนวทางฯ สำนักงานแรงงานจังหวัด (สรจ.) ทางอินทราเน็ต (ดำเนินการเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566)

 

ขั้นตอนที่ 3       อบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ สรจ. รวมถึงอนุกรรมการฯ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง เกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ดำเนินการเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566)

 

ขั้นตอนที่ 4       สคจ.จัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กรุงเทพมหานคร/สรจ. จัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และส่งผลประชุมให้คณะกรรมการค่าจ้าง (ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 พ.ย. 2566)

 

ขั้นตอนที่ 5       สคจ.สรุปผลประชุมคณะอนุกรรมการฯ 77 คณะ เสนอคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง (ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 พ.ย. 2566)

 

ขั้นตอนที่ 6       คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดและกรุงเทพฯ เสนอคณะกรรมการค่าจ้าง (จัดประชุมวันที่ 27 พ.ย. 2566)

 

ขั้นตอนที่ 7       คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ปรับหรือไม่ปรับ) (ภายในวันที่ 13 ธ.ค. 2566)

 

ขั้นตอนที่ 8       สคจ.จัดทำประกาศเสนอปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการค่าจ้างลงนาม และเสนอ รมว.แรงงาน เพื่อรับทราบ (ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค. 2566)

 

ขั้นตอนที่ 9       เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ภายในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ธ.ค. 2566)