ผ่ามุมมอง เศรษฐกิจไทย ผ่าน ‘เสี่ยบุณยสิทธิ์’ แม่ทัพสหพัฒน์องค์กรแสนล้าน

ผ่ามุมมอง เศรษฐกิจไทย ผ่าน ‘เสี่ยบุณยสิทธิ์’ แม่ทัพสหพัฒน์องค์กรแสนล้าน

“กรุงเทพธุรกิจ” ครบรอบ 36 ปี ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษ ผู้นำแวดวงต่างๆ ตลอดจนแม่ทัพ ซีอีโอธุรกิจ เพื่อสะท้อนมุมมองเศรษฐกิจ ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้อยู่แถวหน้าของภูมิภาคหรือเวทีโลก

"เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ เป็นอีกแม่ทัพธุรกิจ ที่คร่ำหวอดบนเส้นทางการบริหารกิจการสินค้าอุปโภคบริโภค “แสนล้านบาท” และเบอร์ 1 ของประเทศไทยยาวนานกว่า 70 ปี ผ่านผู้นำหรือนายกรัฐมนตรีจำนวนมากตั้งแต่สมัย จอมพล.ป พิบูล จนถึง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย เห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงนานัปการ เศรษฐกิจขึ้นลง การค้าขายไม่เหมือนเดิม นำไปสู่การปรับตัวทางธุรกิจ เป็นต้น

“หากมองประเทศไทยยุครุ่งเรืองสุด ฉันรู้สึกว่าสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (นายกรัฐมนตรีคนที่ 11ของประเทศ และมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่1) ที่มีนโยบายน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก สโลแกนนี้ถูกใจคนที่สุดในสมัยนั้น เพราะน้ำไม่พอใช้ ไฟดับบ้างไม่ดับบ้าง แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพราะประชาชนสนใจนโยบายประชานิยมมากกว่า”

กลับมามองปัจจุบัน “เสี่ยบุณยสิทธิ์” เชื่อมั่นว่า “เศรษฐกิจไทย” จากนี้ไปจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัย “การท่องเที่ยว” ฟันเฟืองสำคัญ ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนเป็นอันดับ 1 ของโลก อีกด้าน “การเกษตร” ยังมีโอกาส เมื่ออินเดียงดส่งออกข้าว น้ำตาล สินค้าเกษตรจากไทยน่าจะได้ประโยชน์ แม้อีกด้าน “ภัยแล้ง” อาจกระทบภาคเกษตรไทย แต่หลายพื้นที่ทั่วโลกเผชิญปัญหาเดียวกัน

การพึ่งพาภาคท่องเที่ยว “เครื่องยนต์หลัก” ระยะยาวเศรษฐกิจไทยอาจมีความเปราะบาง หากย้อนอดีตที่ตนเองไปเที่ยวยุโรป ต้องไปปารีส ฝรั่งเศส ไปสหรัฐฯ ต้องเยือนมหานครนิวยอร์ก เห็นภาพบ้านเมืองเจริญมาก มีสิ่งให้เรียนรู้มากมาย ปัจจุบันตรงข้าม เพราะชาวยุโรป ต่างประเทศ มองเอเชียและประเทศไทยเป็นจุดหมายที่กำลังพัฒนา ค่าครองชีพถูก สาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อม ไม่แพ้นานาประเทศ

ผ่ามุมมอง เศรษฐกิจไทย ผ่าน ‘เสี่ยบุณยสิทธิ์’ แม่ทัพสหพัฒน์องค์กรแสนล้าน “เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาไทยจำนวนมาก หากจับโอกาสได้จะทำให้สินค้าเราขายดีขึ้น ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยให้โดดเด่น สร้างซอฟท์พาวเวอร์ได้”

เศรษฐกิจไทยเวลานี้ “เสี่ยบุณยสิทธิ์” เปรียบเป็นการขับเครื่องบินกำลังอยู่บนรันเวย์และ “เทคออฟ” ส่วนเชิดหัวขึ้นแล้วรักษาระดับการบินได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับ “นักบิน” หรือ Pilot

“พอเทคออฟแล้ว จะรักษาระดับได้ไหม อยู่ที่ Pilot เก่งหรือไม่เก่ง”

“เสี่ยบุณยสิทธิ์” ชื่นชอบการขับเครื่องบิน และขับมาหลายสิบปี ก่อนขับเครื่องบินต้องมี “แผนการบิน” หรือ Flight Plan หลายอย่าง เช่น 1.วางแผนเชื้อเพลิงหรือเช็กน้ำมันเพียงพอหรือไม่ 2.ระบบควบคุมต่างๆเรียบร้อยดีไหม 3.เส้นทางการบิน บินไปทางไหน เช็กสภาพดินฟ้าอากาศ 4.การสื่อสารกับภาคพื้นดิน เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้ต้องรู้หมด ถึงจะบินได้ เวลาทำเรื่องนี้ จะมีการอบรมทางทฤษฎี 200 ชั่วโมง(ชม.) มีวิชาให้เรียนรู้มากมาย และขับเครื่องบินจริง 60 ชม.”

ทั้งนี้ น้ำมันเชื้อเพลิงเปรียบเสมือนเงินคงคลังของประเทศที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต

“จะบินได้ต้องเช็กน้ำมันเชื้อเพลิงมีหรือเปล่า ถ้ามีบินได้ แต่ถ้าน้ำมันไม่พอ ต้องคิดใหม่ เพราะจะบินขึ้นหรือไม่ขึ้น และถ้าเร่งไม่ขึ้น ยังอาจตกได้”

ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านชิงความเป็น “เจ้าอาเซียน” กับไทยทุกด้าน “เสี่ยบุณยสิทธิ์” แต่ไทยยังอยู่แถวหน้าของภูมิภาค มีข้อได้เปรียบทั้งที่ตั้งประเทศอยู่ “ศูนย์กลาง” หากใช้ศักยภาพจุดนี้จะยิ่งดียิ่งขึ้น ส่วนบางประเทศเนื้อหอมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมาก เช่น เวียดนาม แต่อีกด้านยังเผชิญความท้าทาย ทั้งพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ อาจกระทบภาคการผลิต กัมพูชา ลาวเศรษฐกิจไม่ดีนัก เป็นต้น

ผ่ามุมมอง เศรษฐกิจไทย ผ่าน ‘เสี่ยบุณยสิทธิ์’ แม่ทัพสหพัฒน์องค์กรแสนล้าน “จริงๆโอกาสอยู่ที่เมืองไทยมาก เราพร้อมกว่าประเทศอื่นหลายด้าน เช่น โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำเลที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ ศูนย์กลางอาเซียน เป็นต้น”

การรั้งแถวหน้าในอาเซียนระยะยาว มีหลายโอกาสที่ไทยซึ่งรัฐบาลต้องตัดสินใจ เตรียมหารือจะดำเนินการอย่างไร รองรับสิ่งที่จะตามมา เช่น การขุดคอคอดกระ เพราะมิติการลงทุนและการค้า “จีน” ผลิตเรือมากสุด ยังส่งออกสินค้าทางเรือมากสุดด้วย รวมถึงการพิจารณาการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งประเทศเพื่อนต่างมีแผนพัฒนาโครงการ ประเด็นนี้ยังรองรับโลกอนาคตที่จะใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น จากรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี) และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“โอกาสมหาศาลจากตรงนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโต”

ไทยเต็มไปด้วยศักยภาพ อีกด้านมีหลุมดำ ที่ต้องระวังคือการนำพาประเทศเป็นสมรภูมิประลองอาวุธของชาติมหาอำนาจ

“เราต้องสร้างสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และการวางตัวเป็นกลางของอาเซียนเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว”

ส่วนการก้าวข้ามหลุมดำ ควรพิจารณาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเพื่อเป็นบทเรียน