ยาแรง ‘วีซ่าฟรี’ กระตุก 6 เดือนเที่ยวไฮซีซัน ดึงอินเดีย 1.2 ล้าน ไต้หวันโต 20%

ยาแรง ‘วีซ่าฟรี’ กระตุก 6 เดือนเที่ยวไฮซีซัน ดึงอินเดีย 1.2 ล้าน ไต้หวันโต 20%

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการยกเว้นการยื่นขอวีซ่า (วีซ่า-ฟรี) เพื่อการท่องเที่ยว ให้แก่นักท่องเที่ยวจาก “อินเดีย” และ “ไต้หวัน” เป็นกรณีพิเศษ ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2566 - 10 พ.ค. 2567 และขยายเวลาพำนักอยู่ในไทยได้นานขึ้นเป็นไม่เกิน 30 วัน

ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.คาดการณ์ว่าในช่วง 6 เดือนของการดำเนินมาตรการวีซ่า-ฟรีนี้ จะผลักดันให้ตลาด “อินเดียเที่ยวไทย” เพิ่มขึ้นอีก 436,800 คน จากเดิม 811,200 คนในกรณีไม่มีมาตรการนี้ รวมเป็น 1,248,000 คน สร้างรายได้เพิ่มเป็น 51,100 ล้านบาท จากเดิม 33,200 ล้านบาท

จากสถิติล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 29 ต.ค. 2566 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทยแล้ว 1,296,032 คน สร้างรายได้ 53,137 ล้านบาท เมื่อมีมาตรการวีซ่า-ฟรีเข้ามาช่วยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 110,491 คน หรือเติบโต 7% สามารถสร้างรายได้อยู่ที่ 4,530 ล้านบาท หากรวมทั้งปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาเที่ยวไทย 1,677,772 ล้านคน คิดเป็นรายได้ประมาณ 68,877 ล้านบาท

“การฟื้นกลับมาของเที่ยวบินและที่นั่งโดยสารจากสายการบินที่ทำการบินตรงเส้นทาง ไทย-อินเดีย ในปี 2566 อยู่ในอัตรา 76% ของปี 2562 มีจำนวนเที่ยวบินรวมอยู่ที่ 11,439 เที่ยวบิน จำนวนที่นั่ง 2,400,304 แม้ตารางบินฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 – เม.ย. 2567 จะลดลงประมาณ 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แต่ถือเป็นการลดลงที่ไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากยังเป็นเพียงแผนการบิน หากประกาศใช้วีซ่าฟรีแล้ว คาดว่าสายการบินจะเติบโตสอดรับกับนโยบายดังกล่าวแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอินเดียมีข้อจำกัดในเรื่องเที่ยวบินตรงเข้าสู่ไทยจาก “เมืองหลัก” ของอินเดีย เนื่องจากโควตาที่สายการบินของไทยได้รับจากรัฐบาลอินเดียเต็มโควตา แต่พอรัฐบาลไทยมีมาตรการกระตุ้นการเดินทางในช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องจนถึงปี 2567 คาดว่าจะสามารถเติมเต็มอัตราขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor ของแต่ละเที่ยวบินที่ยังคงเหลืออยู่ให้เต็ม 100% ได้ โดยปัจจุบัน Load Factor ของเส้นทาง ไทย-อินเดีย อยู่ที่ประมาณ 65-70%

สำหรับในช่วงปลายปีนี้ เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ “เทศกาลดิวาลี” (Diwali) ในเดือน พ.ย. ตรงกับวันที่ 12 พ.ย. 2566 ต่อด้วยเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ โดยชาวอินเดียนิยมเดินทางมาไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ส่วนใหญ่ยังเข้ามาเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) 75% กรุ๊ปทัวร์ 25% เป็นการเข้าไทยครั้งแรก 57% และกลับมาเที่ยวซ้ำ 43%

โดยตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงกลางเดือน ก.พ. 2567 จะเป็นช่วงที่มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มคู่รักและไมซ์ (MICE) จำนวนมาก ซึ่งกลุ่มคู่รักที่เข้ามาจัดงานแต่งงานในไทย นิยมไปจัดงานแต่งงานที่เมืองท่องเที่ยวหาดทรายชายทะเล ได้แก่ หัวหิน ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขายยา, ตัวแทนจำหน่าย, Sale Training, และกลุ่ม Incentive ต่างๆ ที่มักเดินทางไปยังกรุงเทพฯ และเมืองพัทยา

“เศรษฐกิจอินเดียกำลังเติบโตอย่างมาก โดยในปี 2566 ทาง IMF ระบุว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวถึง 5.9% นอกจากนี้นโยบายส่งออกนักท่องเที่ยวอินเดียไปทั่วโลก (Connect India To The World) ส่งเสริมให้พลเมืองออกเดินทางท่องเที่ยว โดยรัฐบาลมีการเจรจากับหลายสายการบินให้เพิ่มขนาดตัวเครื่องบิน เพื่อเพิ่มการรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้มากขึ้น”

ปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ คือเรื่องประชากรอินเดียในกลุ่มคนรุ่นใหม่ Young Generation” อายุเฉลี่ย 28 ปี และมีรายได้ระดับปานกลางจำนวนมากขึ้น มีความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวสูง เช่นเดียวกับกลุ่ม Senior Citizen

ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคของชาวอินเดียยังเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นเก็บออมเงิน หันมาใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อไลฟ์สไตล์และความพึงพอใจ ออกเดินทางต่างประเทศปีละหลายครั้ง ไม่เฉพาะการพักผ่อนส่วนตัว แต่ยังนิยมไปจัดงานแต่งงาน เลี้ยงฉลอง เข้าร่วมงาน และชมการแข่งขันกีฬา

ฉัททันต์ เล่าเพิ่มเติมว่า ด้านตลาด “ไต้หวันเที่ยวไทย” ประเมินว่ามาตรการวีซ่า-ฟรี จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันขึ้นอีก 20% โดยสิ้นปี 2566 คาดปิดที่จำนวน 750,000 คน หรือฟื้นตัวกลับมา 96% เทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด สร้างรายได้ประมาณ 28,500 ล้านบาท จากสถิติล่าสุดมีจำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 29 ต.ค. 2566 จำนวน 580,029 คน คิดเป็น 74% ของปี 2562

สถานการณ์เที่ยวบินเป็นปัจจัยหลักที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันในปีนี้ได้ โดยมีจำนวนเที่ยวบินเส้นทาง ไทย-ไต้หวัน อยู่ที่ 6,341 เที่ยวบิน คิดเป็น 1,503,403 ที่นั่ง ฟื้นตัว 94% ของปี 2562

“นักท่องเที่ยวไต้หวันเป็นตลาดที่มีนักท่องเที่ยวคุณภาพ และเป็นนักเดินทางที่ชาญฉลาด (Smart Traveller) มีการศึกษาและมีอุปนิสัยมีจิตสำนึก ชอบอนุรักษ์ ไม่ชอบทำลายสิ่งแวดล้อม การเดินทางแบบอิสระ มีการเติบโตสูงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน วัยทำงาน โดยจังหวัดที่นิยมท่องเที่ยว 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์ มีวันพักเฉลี่ย 5.89 คืน ค่าใช้จ่ายต่อทริป 38,425 บาท” ฉัททันต์ กล่าว

ยาแรง ‘วีซ่าฟรี’ กระตุก 6 เดือนเที่ยวไฮซีซัน ดึงอินเดีย 1.2 ล้าน ไต้หวันโต 20%