ดราม่า #แบนเที่ยวเกาหลี KTO ยัน ‘ไม่นิ่งนอนใจ’ จับตาเอฟเฟกต์ ไทยเที่ยวเกาหลี

ดราม่า #แบนเที่ยวเกาหลี  KTO ยัน ‘ไม่นิ่งนอนใจ’ จับตาเอฟเฟกต์ ไทยเที่ยวเกาหลี

ดราม่าเดือดอีกระลอก! เมื่อแฮชแท็กร้อน #แบนเที่ยวเกาหลี ติดเทรนด์อันดับ 1 บนทวิตเตอร์ (X) ช่วงสุดสัปดาห์ปลายเดือนต.ค.2566 หลังนักท่องเที่ยวชาวไทยแชร์ประสบการณ์ติดด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของประเทศเกาหลีใต้ สนั่นโลกออนไลน์

ทั้งถึงขั้นถูกส่งตัวกลับไทย ขณะที่หลายรายเจอคำถามแปลกๆ ของเจ้าหน้าที่ ตม. ขณะใช้ “ดุลยพินิจ” พิจารณาว่าจะให้นักท่องเที่ยวไทยผ่านเข้าประเทศหรือไม่ ลามไปถึงประเด็นเลือกปฏิบัติ และเหยียดคนไทย ทำลายความตั้งใจของคนที่อยากไปเที่ยวจริงๆ

ประเด็นนี้เปรียบเหมือน “เหรียญสองด้าน” เริ่มจากปัญหา “ผีน้อย” หรือ แรงงานผิดกฎหมาย ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ ทำให้ภาพลักษณ์ของคนไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้ ถูกเพ่งเล็งจับจ้องเป็นพิเศษ! ว่าเดินทางมาท่องเที่ยวจริงๆ หรือตั้งใจจะหลบหนีเข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกกฎหมายกันแน่?

โดยในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวการจับตัวผีน้อยคนไทยได้อย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มที่ซื้อทัวร์บังหน้า ทำให้หลายคนที่ตั้งใจไปเที่ยวจริงๆ ถูกเหมารวม โดนหางเลขไปด้วย บางคนรู้สึกเหมือนถูก ตม. เกาหลีใต้ เลือกปฏิบัติ กระทบต่อความรู้สึก นำไปสู่การติดแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี เชิญชวนคนไทยไม่ไปเที่ยวเกาหลี ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 27 ต.ค. 2566

อริญชยา เลิศวัฒนชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เกาหลีใต้ (ส่วน ตม. อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงยุติธรรม ของ เกาหลีใต้) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากประเด็นร้อน #แบนเที่ยวเกาหลี ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ตม.เกาหลีใต้ ยังไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับฟีดแบ็กของบริษัททัวร์ที่ทำตลาดนักท่องเที่ยวไทย เนื่องจากกระแสดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถวัดผลกระทบได้ หรือเห็นตัวเลขชี้นำว่านักท่องเที่ยวไทยหายไปอย่างชัดเจน

“จริงๆ แล้วในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซันฤดูหนาวของเกาหลี เป็นช่วงที่คนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยว และมีหลายคนที่ทำการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าค่อนข้างมากเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการจองตั๋วเครื่องบินระยะยาว ยังไม่แน่ใจว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบขนาดไหน”

ทั้งนี้ KTO ได้รับทราบถึงปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางเข้าเมืองของนักท่องเที่ยวไทย ทั้งเรื่องการลงทะเบียนผ่านระบบ K-ETA และการตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) มานานเป็นปีแล้วตั้งแต่ยุคโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งยืนยันว่าทาง KTO “ไม่ได้นิ่งนอนใจ” แต่อย่างใด ได้ส่งรายงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าวไปยังสำนักงานใหญ่ของ KTO ที่เกาหลี เพื่อประสานงานไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถานทูตเกาหลีในประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่ดูแล K-ETA โดยตรง ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น เพราะตลาดนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเกาหลีมากเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย

“จากสถิติล่าสุด พบว่าในช่วง 8 เดือนแรก (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ส.ค.) ของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าเกาหลีสะสม 2.5 แสนคน โดยตลอดปี 2566 ตั้งเป้าเห็นการฟื้นตัว 70% ของจำนวน 5.7 แสนคนเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19” อริญชยา กล่าวปิดท้าย

คงต้องติดตามกันต่อว่า ประเด็น #แบนเที่ยวเกาหลี ที่ร้อนแรงในโลกทวิตเตอร์ตอนนี้ จะส่งผลกระทบต่อ “ความเชื่อมั่น” ทำเอานักท่องเที่ยวไทย (ตัวจริง) เข็ด เจ็บแล้วจำ สะเทือนยอดจองการเดินทางไปเกาหลีในปี 2567 หรือไม่

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกโรงแก้ปัญหาอย่างไร สำหรับปัญหาการเข้าเมืองของคนไทยที่แสนจะเซนซิทีฟ!!!

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์