ภาคธุรกิจไทยตั้งรับ ปัจจัยลบ ร้านอาหารคุมต้นทุนเลี่ยงปรับราคา

ภาคธุรกิจไทยตั้งรับ ปัจจัยลบ ร้านอาหารคุมต้นทุนเลี่ยงปรับราคา

ส่องการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยไตรมาสสุดท้าย รับมือความผันผวนทั้งจากนอกประเทศ สถานการณ์สงคราม ในประเทศต้นทุนขาขึ้น กำลังซื้อ เร่งแผนคุมต้นทุน บริหารจัดการภายใน ย้ำไม่มีแผนขึ้นราคา ประเมินช่วงปลายปีนี้ธุรกิจจะกลับมาคึกคักมากสุดในรอบปี

ภาวะตลาดยังเผชิญปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งกำลังซื้อและเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง สถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ร้อนระอุ! ต้นทุนต่างๆ ปรับขึ้นทั้งราคาพลังงาน ดอกเบี้ย ความผันผวนของค่าเงิน ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจที่ต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ตลอดเวลา

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องสงครามในต่างประเทศ เป็นปัจจัยที่ภาคธุรกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลอย่างไรต่อไป รวมถึงผลต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการกลุ่มอาหาร ยังต้องติดตามในเรื่องวัตถุดิบสินค้าจากต่างประเทศในการนำเข้าด้วย โดยเฉพาะปลาแซลมอน เนื่องจากประเทศนอร์เวย์ ผู้ส่งออกนอร์เวย์ที่สำคัญในโลก ได้มีการปรับราคาภาษีแซลมอนใหม่

ทั้งนี้จากความไม่แน่นอนในเรื่องวัตถุดิบ ภาคเอกชนจะต้องเตรียมแผน โดยเฉพาะการกระจายหาแหล่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจากหลากหลายมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง และกำหนดราคาสินค้าไว้คงเดิม

"แม้มีความกังวลหลายด้าน แต่ประเมินภาพรวมธุรกิจอาหารช่วงไตรมาสที่สี่ เป็นช่วงไฮซีซั่นของการขายสินค้าในรอบปี ที่มีการเติบโต 20% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ ด้วยเป็นช่วงเวลาในการใช้จ่ายที่สำคัญ เชื่อว่าตลาดยังเติบโต"

ทั้งนี้ประเมินว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารไทยที่มีมูลค่ากว่า 4.2 แสนล้านบาท มีโอกาสขยายตัว 5-6% ส่วนภาพรวมธุรกิจอาหารในเครือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ในปัจจุบันมีมากกว่า 20 แบรนด์และมีสาขากว่า 1,500 สาขาในทั่วประเทศ

"อมรา ไทยรัตน์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมต้นทุนวัตถุดิบอาหารทะเลแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ ยังอยู่ในภาวะคงที่ เนื่องจากบริษัทมีซัพพลายเออร์ที่เป็นตัวแทนนำเข้าสินค้า ทำให้ทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนยังไม่ส่งผลกระทบ

สำหรับราคาวัตถุดิบอื่นๆ ยังทรงตัวเช่นกัน จึงไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนโดยรวม โดยภาพรวมราคาสินค้าทั้งหมดยังคงเดิม แต่ทั้งนี้ บริษัทต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้รับมือและปรับแผนได้ตามปัจจัยต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนภาพรวมสาขาของไข่หวาน บ้านซูชิ มีสาขาเปิดให้บริการประมาณ 240 สาขา และในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีสาขาเปิดให้บริการรวม 300 สาขา

“ในปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม แต่ภาพรวมตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มขยายตัวที่ดี นับตั้งแต่ไตรมาสสามที่ผ่านมา มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น จนถึงปลายปีนี้ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญของกลุ่มธุรกิจอาหาร ที่จะมียอดขายเติบโตสูงในรอบปีเช่นกัน”

กฤตนัน สนธิจิรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะซิกเนเจอร์ แบรนด์ จำกัด ผู้นำเข้าชุดเครื่องครัวและเครื่องใช้ไฟฟ้า จากประเทศอิตาลี ภายใต้ “เดอะซิกเนเจอร์ แบรนด์” กล่าวว่า จากความผันผวนของค่าเงินบาท และมีทิศทางที่อ่อนค่าลง มาแตะระดับ 38-39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกลุ่มสินค้านำเข้าหลากหลายกลุ่ม รวมถึงบริษัทที่มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

จากการติดตามสถานการณ์ภาพรวมกลุ่มภาคเอกชนที่นำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศ อยากเห็นค่าเงินบาทเคลื่อนไหว ในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นอัตราที่ผู้ประกอบการสามารถปรับแผนและรับมือกับค่าเงินในระดับดังกล่าวได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงมาก ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้นพอสมควร ส่งผลให้บริษัทต้องปรับแผนธุรกิจภายในองค์กร ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายภายใน โดยไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้าและภาพรวมเอกชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะขึ้นราคาสินค้าอย่างแน่นอน

“แม้ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากในช่วงนี้ แตะระดับ 38-39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็ต้องบริหารปรับลดต้นทุน ไม่มีแผนปรับขึ้นราคาสินค้า และไม่อยากผลักภาระไปสู่ผู้บริโภค เนื่องจากภาพรวมในช่วงนี้เศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ดีมากนัก”

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยอดขายของบริษัทในสิ้นปี 2566 นี้ประเมินว่า จะอยู่ที่ระดับ 1,000 ล้านบาท เติบโต 7-10% จากปีก่อน