วังจันทร์วัลเลย์ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เฟืองสำคัญผลักดัน New S-Curve ประเทศไทย

วังจันทร์วัลเลย์ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เฟืองสำคัญผลักดัน New S-Curve ประเทศไทย

"วังจันทร์วัลเลย์" ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ผลักดัน New S-Curve เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี

ท่ามกลางหลายวิกฤติที่ลากยาว ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 มาจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ค่าเงินผันผวนในหลายประเทศ จนกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั่วโลก แน่นอนว่า หลังจากนี้ต่อไป หากต้องการจะอยู่รอดแบบไม่ตกขบวนในการเดินไปสู่อนาคตได้ หนึ่งตัวแปรสำคัญ คือ "นวัตกรรม" ที่จะเป็นกุญแจไขสู่ทางออกให้กับทุกๆ ประเทศ

แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยกลับพบว่า "เทคโนโลยีขั้นสูง" โดยฝีมือคนไทยนั้นกลับยังมีไม่มาก และถือเป็นความเปราะบางต่อ "จุดยืน" ของเราในโลกอนาคตหากไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ทันนานาประเทศ แนวคิดก่อตั้ง โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ วังจันทร์วัลเลย์ จึงถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

วังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ เป็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ซึ่งได้รับการรับรองจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เข้ามาใช้ในการออกแบบพัฒนาโครงการฯ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดัน พัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-Curve เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. ที่ต้องการจะ "ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต" (Powering Life with Future Energy and Beyond)

วังจันทร์วัลเลย์ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เฟืองสำคัญผลักดัน New S-Curve ประเทศไทย

ความน่าสนใจของ "วังจันทร์วัลเลย์"

ปตท. ในบทบาทผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ได้ออกแบบพื้นที่เพื่อให้ วังจันทร์วัลเลย์ เป็นพื้นที่ในการพัฒนานวัตกรรม ที่สมบูรณ์แบบ รองรับการใช้งานในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเน้นการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาพื้นที่ภายในโครงการแบ่งออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย

1. Education Zone การพัฒนาพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การวิจัย ประกอบด้วย สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ และศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

2. Innovation Zone เป็นพื้นที่สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประกอบด้วย อาคารกลุ่มนวัตกรรม EECi ของสวทช PTTEP Technology & Innovation Center สำหรับงานวิจัยนวัตกรรม พัฒนาเทคโนโลยี, อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ

นอกจากนั้น ปตท. ยังจะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรในการดำเนินงานพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการทดสอบ ทดลองนวัตกรรมในพื้นที่โครงการวังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการดำเนินงานเรื่องพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการทดสอบทดลอง อาทิ UAV Sandbox พื้นที่ต้นแบบที่ได้รับอนุญาตให้ทดสอบ-ทดลองเพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน UAV Regulatory Sandbox เป็นต้น

3. Community Zone การพัฒนาพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยและสันทนาการ ประกอบด้วย ที่พักอาศัย สถานที่พบปะสังสรรค์ สถานที่ออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียวยั่งยืน โรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ 

วังจันทร์วัลเลย์ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เฟืองสำคัญผลักดัน New S-Curve ประเทศไทย

ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ดีต่อคน ดีต่อโลก

นอกจากจะเป็นพื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมแล้ว วังจันทร์วัลเลย์ ยังได้รับการประกาศเป็น " เมืองอัจฉริยะประเทศไทย" (Smart City Thailand) ครบทั้ง 7 ด้าน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนา Smart City ของประเทศ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม 

ระบบอัจฉริยะ 7 ด้าน ตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ของวังจันทร์วัลเลย์ ประกอบด้วย

  • Smart Environment มุ่งเน้นการบริการจัดการสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ถูกสุขลักษณะ มุ่งสู่การเป็น สังคมคาร์บอนต่ำ
  • Smart Energy ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยติดตั้ง Solar Farm และ Solar Roof Top มีการบริหารจัดการพลังงานด้วยโครงข่าย Smart Grid รวมไปถึงการจัดให้มี EV Charging Station ในพื้นที่เพื่อรองรับการใช้ EV
  • Smart Economy มีการจัดเตรียมเครือข่าย 5G และ Wifi-6 ครอบคลุมทั้งพื้นที่ เพื่อความสะดวกสบายและส่งเสริมการดำเนินการทดลองและทดสอบนวัตกรรม (Regulatory Sandbox)
  • Smart Governance มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ มีการให้บริการแบบ One Stop Service โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ เพื่อความโปร่งใส
  • Smart Mobility ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ จัดให้มีที่จอดรถยนต์อัจฉริยะ (Smart Parking) และให้บริการรถประจำทางไฟฟ้า (EV Bus)
  • Smart People มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยภายในโครงการมีสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เช่น สถาบันวิทยสิริเมธี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนนานาชาติ มีการพัฒนาระบบ E-Learning/ E-Library
  • Smart Living มุ่งเน้นความปลอดภัยและบริการที่เพียบพร้อม โดยโครงการมีการออกแบบตามหลักการของ Smart Home และ Universal Design

อีกความโดดเด่นในนิยาม "ความสมาร์ท" หรือ "อัจฉริยะ" ที่วังจันทร์วัลเลย์ นั่นคือ อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) เป็นอาคารปฏิบัติการ ซึ่งออกแบบการก่อสร้างที่ได้การรับรองตามมาตรฐาน LEED ( Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นระบบอาคารเขียว ที่เน้นความยั่งยืน ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนห้องควบคุมปฏิบัติการที่ควบคุมดูแลระบบต่างๆ ภายในและภายนอกตัวอาคารจะมีจอขนาดใหญ่แสดงผลที่ส่งจากระบบปฏิบัติการต่างๆ และมี Work Station ให้พนักงานปฏิบัติการสามารถควบคุมและสั่งการระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความไฮเทคของระบบปฏิบัติการที่สำคัญ อาทิ ระบบแสดงสถานะและใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แบบ Real-time เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบรวบรวมน้ำเสีย แสดงปริมาณการรับจ่ายสาธารณูปโภคแบบ Real-time และแสดงผลควบคุม-สั่งการ ระบบความปลอดภัยต่างๆ เป็นต้น

วังจันทร์วัลเลย์ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เฟืองสำคัญผลักดัน New S-Curve ประเทศไทย

ดึงดูดนักลงทุน สู่วังจันทร์วัลเลย์ 

เมื่อมองไปที่วัตถุประสงค์การก่อตั้งที่ กลุ่ม ปตท. ตัดสินใจบุกเบิกที่ดินในพื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เนื่องจากต้องการพัฒนาบุคลากรทางด้านพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และส่งเสริมงานวิจัยของประเทศ นอกจากจะพัฒนาพื้นที่เป็นโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว ทางด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ฯ และปตท. โดยให้ความไว้วางใจในการวางแผน พัฒนา และบริหารพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ขึ้นเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ทุกภาคส่วนของประเทศ รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายประเทศไทย 4.0

ดังนั้น เกี่ยวกับความน่าสนใจในมุมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า วังจันทร์วัลเลย์ มีดีอะไร? ทำไมนักลงทุนจะต้องเลือกลงทุนที่วังจันทร์วัลเลย์นั้น นอกจากระบบนิเวศที่ส่งเสริมและตอบโจทย์ด้านนวัตกรรมแล้ว พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เป็นศูนย์บริการประสานงานทางด้านธุรกิจนวัตกรรมที่เปิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือการพัฒนาธุรกิจ และนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้เช่าพื้นที่โครงการ และมี Innovation Ecosystem ที่ครบถ้วน 

โดยสิ่งที่นักลงทุนจะได้รับหากเข้ามาลงทุนพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมในวังจันทร์วัลเลย์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังต่อไปนี้

  1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี
  2. ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา
  3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 17 ซึ่งต่ำสุดในเอเชีย
  4. สมาร์ทวีซ่า สำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว
  5. พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบ ในการทำนวัตกรรม และเป็นแหล่งรวมนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ
  6. ศูนย์บริการด้านการลงทุน แบบเบ็ดเสร็จในที่เดียวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน
  7. สิทธิการเช่าพื้นที่ระยะยาวสำหรับจัดตั้งศูนย์วิจัยและการเช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนา
  8. โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้สอยร่วมกัน อาทิ โรงผลิตชิ้นงานต้นแบบอุปกรณ์ / เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ โคเวิร์กกิงสเปซ สนามทดลองและทดสอบ

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมประเทศให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ เพื่อเตรียมพร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม อันจะช่วยเป็นเฟืองตัวใหม่ในการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต