ส่องธุรกิจกงสีตระกูลแตก! ‘สมบัติ’ สร้างรอยร้าวครอบครัว?

ส่องธุรกิจกงสีตระกูลแตก! ‘สมบัติ’ สร้างรอยร้าวครอบครัว?

ธุรกิจครอบครัว เมื่อเติบใหญ่ขยายมี "คนนอก" เข้ามาเอี่ยว มักนำมาซึ่งความสั่นคลอน ไม่เพียงสายสัมพันธ์ของพ่อแม่พี่น้อง แต่หากแตะ "ธุรกิจกงสี" เมื่อไหร่ อาจนำมาซึ่งศึกสายเลือดแย่งชิงสมบัติ สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง กิจการอาจย่อยยับด้วย

เมื่อ 10 ปีก่อน ศาสตราจารย์โยอาคิม ชวาส ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจศึกษาครอบครัวระหว่างประเทศ สถาบัน MID Global Business Center เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มาเยือนเมืองไทย และยังเป็นบุคคลสำคัญที่ถอดรหัส “ธุรกิจครอบครัว” มานับ “พันครอบครัว”

การขับเคลื่อนธุรกิจกงสี หรือกิจการครอบครัวให้ประสบความสำเร็จและส่งไม้ต่อจาก “รุ่นสู่รุ่น” ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากเกินไปนัก

ทั้งนี้ หากผ่านรุ่นแรกยุคบุกเบิก ผู้ก่อตั้ง สามารถเติบโตได้ ความท้าทายจะมาเยือนใหญ่อีกครั้งใน “เจนเนเรชั่นที่ 4” เพราะงานวิจัยบ่งชี้ว่ามีเพียง 4% เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดถึงรุ่นดังกล่าว

กรุงเทพธุรกิจ เคยสัมภาษณ์ผู้บริหารองค์กรธุรกิจชั้นนำ เช่น ภูริต ภิรมย์ภักดี ในฐานะเจนฯ 4 ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” และเข้ามาสานต่อธุรกิจราว 20 ปีแล้ว และปี 2566 เจ้าตัวเพิ่งทำงานในฐานะ “แม่ทัพใหญ่” ของบุญรอดบริวเวอรี่ ครบ 1 ปี หลังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการใหญ่” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565

“ภูริต” เคยบอกกับกรุงเทพธุรกิจว่า “ผมจะทำเจนฯ 4 ให้เหมือนเจนฯ 1” พร้อมหยิบประเด็นเจนฯ 4 มักทำให้ธุรกิจตกต่ำ

หรือแม้การสัมภาษณ์ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ทายาทองค์กรร้อยปีอย่างโอสถสภา ผู้ล่วงลับ เป็นอีกคนที่ต้องการนำทัพธุรกิจให้เติบใหญ่ผลัดใบสู่เจนเนอเรชั่นหลัง

ทว่า ธุรกิจครอบครัว มีความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะ “สมบัติ” ของกงสีที่จากรุ่นแรก เติบใหญ่สู่รุ่นถัดไป มีการสะสมความ “มั่งคั่ง” มากมายมหาศาล และแน่นอนว่า “เงินทอง” เป็นของนอกกาย แต่ทุกคนล้วนอยากได้

ความเปราะบางมักเกิดขึ้นเมื่อ “คนนอก” ครอบครัว เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นฐานะ ลูกเขย สะใภ้ พ่อตา แม่ยาย ฯ ล้วนเป็น “ชนวนเหตุแห่งรอยร้าว” ได้ทั้งสิ้น

  • สำรวจกงสีแตก

ความขัดแย้งของ “พี่น้อง-พ่อ” ของ "ตระกูลณรงค์เดช” เป็นเพียงหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่นำมาซึ่งคววามเสียหายใหญ่หลวง นอกจาก “ทรัพย์สิน” หรือ “สมบัติ” ของตระกูล คือเรื่องของ “ความบอบช้ำทางจิตใจ” สร้างความทุกข์ให้กับบุคคลเหล่านั้นไม่ว่าจะมากดีมีจน แม้ยุคปัจจุบันจะมีการเปรียบ ร้องไห้หรือทุกข์บนกองเงินกองทอง ย่อมดีกว่าไร้เงินทอง

ส่องธุรกิจกงสีตระกูลแตก! ‘สมบัติ’ สร้างรอยร้าวครอบครัว? ศึกกงสีของตระกูล “โตทับเที่ยง” แห่งอาณาจักรผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล หรือรู้จักกันดีในฐานะผู้ผลิตและทำตลาดปลากระป๋องปุ้มปุ้ย เป็นอีกเรื่องราวร้าวฉานของพี่น้อง ที่ชิงกรรมสิทธิ์ธุรกิจ โรงแรม ที่ดินในกรุงเทพฯและจังหวัดตรัง รวมถึงหุ้นอีก 19 บริษัท จนนำไปสู่กระบวนการทางศาล

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นปี 2559 เมื่อนายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวกรวม 9 คนโจทก์ กับ นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ที่ 1 กับพวกรวม 6 คนจำเลย ในข้อหา กรรมสิทธิ์ เรียกทรัพย์คืน ขอแบ่งทรัพย์(กงสี)

การต่อสู้ของ “พี่น้องสายเลือดเดียวกัน” กินเวลายาวนานถึง 6 ปีถึงขั้นฎีกา กระทั่งต้นปี 2565 คำพิพากษาศาลฎีกา ยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้ง 6 คน ที่ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัททั้ง 19 บริษัทไว้แทนกงสี โอนหุ้นในบริษัทให้ นายสุธรรม โตทับเที่ยง กับพวกรวม 9 คน

สุธรรม โตทับเที่ยง ในวัยขยับใกล้ 80 ปีทุกขณะ ต้องการเกษียณจากธุรกิจ แต่ปมแย่งชิงกิจการกงสี ทำให้ต้องนำทัพต่อกรกับสายเลือดเดียวกัน

วรรคทองที่ สุธรรม กล่าวกับสื่อมวลชนหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมาคือ “คดีธุรกิจครอบครัวหรือกงสีโตทับเที่ยงแล้ว ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ ทุกคนชนะหมด ด้วยความเป็นธรรมที่ได้รับมา ในสิ่งที่ตนเองควรจะได้ สิ่งไหนที่ไม่ใช่ย่อมไม่ได้ และความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย เป็นตามที่ปรากฎ”

“น้ำพริกเผาแม่ประณอม” อีกกิจการกงสีที่ลุกเป็นไฟ จากความขัดแย้งของ “แม่-ลูก” เมื่อนางประณอม แดงสุภา ผู้ก่อตั้งบริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประณอม ฟ้องร้องลูกสาวคนโต “นางศิริพร แดงสุภา” กรณีปลอมเอกสารโอนที่ดินสมรสของแม่ 9 แปลง ที่จัหวัดนครปฐม เป็นของตัวเอง การฟ้องร้องดังกล่าวยังมีจำเลยคือ “ลูกเขย” ด้วย

ยุค “พ่อแม่” เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจ การถือหุ้นมีสัดส่วนที่วางไว้ พร้อมทั้งแบ่งให้ “ลูกเขย” เพียงเล็กน้อย ทว่า ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นธุรกิจน้ำพริกเผาแม่ประณอม โดยลูกสาว “ลูกเขย” รวมถึง “หลานๆ 3 คน” เข้ามามีเอี่ยว ส่วนแม่ รวมถึงลูกคนอื่น ไม่มีหุ้น

ส่องธุรกิจกงสีตระกูลแตก! ‘สมบัติ’ สร้างรอยร้าวครอบครัว? อาณาจักรน้ำพริกเผาแม่ประณอมนั้นเติบใหญ่เป็น “พันล้านบาท” ยิ่งกว่านั้น ความสามารถในการทำ “กำไร” ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ทะลุ “ร้อยล้านบาท” แล้ว

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งข้างต้นมี “กาวใจ” ช่วยประสาน แต่แก้วร้าวจะลบรอยบาดหมางในใจได้หรือไม่ “คนนอก” ยากจะทราบ

เรื่องใหญ่ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กรณีการสร้างยอดขายปลอม ตกแต่งบัญชีที่มีมูลค่ามหาศาล 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ชื่อของ "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ทายาทคนโตของอาณาจักรสี “ทีโอเอ” หมื่นล้านบาท

ด้วยผลกระทบของ “สตาร์ค” ต่อนักลงทุนมีมากมายมหาศาล ช่วงแรกของการเกิดปัญหา สังคมตั้งคำถามไปยัง “ครอบครัวตั้งคารวคุณ” พอจะยื่นมือมาช่วยเหลือได้อย่างไร

แม้กิจการกงสียังไม่ได้รับผลกระทบจนถึงขั้น “แตกหัก” ทว่า ได้สร้างบาดแผลให้กับนามสกุล “ตั้งคารวคุณ” ไม่น้อย ยิ่งกว่านั้น การสาวเรื่องราวของครอบครัว กลับมีกลิ่นสายสัมพันธ์ที่ไม่ได้ราบรื่นมากนัก โดยเฉพาะบุตรชายคนโตที่อยากพิสูจน์ฝีมือ และสร้างผลงานทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เข้าตาที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม สีทีโอเอ พี่น้องยุคบุกเบิกก่อตั้งธุรกิจ ก็มีการ "แยกตัว" ไปขับเคลื่อนกิจการตามเส้นทางของตัวเองด้วย 

  • สกัดศึกสายเลือดด้วยกฎเหล็ก!

ธุรกิจครอบครัวรุ่น 1 อาจมีผู้ก่อตั้ง ทีมงานร่วมหัวจมท้ายไม่มาก แต่เมื่ออาณาจักรเติบใหญ่ ลูกชาย-ลูกสาว แต่งงานมีครอบครัว มีลูกเขย ลูกสะใภ้ มีลูกมีหลาน ทำให้ครอบครัวเล็ก “ขยายใหญ่” และมีผู้คนที่คิดเห็นพ้องเห็นต่างอยู่ร่วมกัน การกำกับดูแลให้ไปในทิศทางเดียวกันไม่ง่าย

ดังนั้น หลายตระกูลใหญ่ จึงพากันจัดตั้ง “ธรรมนูญครอบครัว” หรือ Family Constitution เพื่อเป็นกฎ กติกาใช้ในบ้าน และการทำธุรกิจ ซึ่งหลายครอบครัวจะมีข้อปฏิบัติและ “ข้อห้าม” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปิดทางให้ “ลูกเขย-สะใภ้” เข้ามามีเอี่ยวในกิจการกงสีได้หรือไม่

บางครอบครัว จะเข้ามารับไม้ต่อยังต้องออกกฎให้ไปทำงานบริษัทข้างนอก เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และลับฝีมือ ฝึกวิทยายุทธให้แกร่งก่อนกลับเข้ามาทำงาน

ส่องธุรกิจกงสีตระกูลแตก! ‘สมบัติ’ สร้างรอยร้าวครอบครัว? ตัวอย่างธรรมนูญครอบครัว “จิราธิวัฒน์” เป็นหนึ่งในต้นแบบที่น่าสนใจ ในฐานะเบอร์ 1 ยักษ์ค้าปลีกของเมืองไทย และมี “ทายาท” สืบสานกิจการ “หลายแสนล้านบาท” จากรุ่น 1 ถึงปัจจุบัน 5 รุ่นแล้วตลอดระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษ และมีเหล่าเขย สะใภ้ ลูกหลานกว่า 200 ชีวิต

ตระกูลจิราธิวัฒน์ “แยก” ธุรกิจ และ ครอบครัว ออกจากกันให้ชัดเจน และมี “วิโรจน์ ภู่ตระกูล” ซีอีโอคนแรกของลีเวอร์ บราเธอร์ (ประเทศไทย) หรือยูนิลีเวอร์มาช่วยจัดทำ “สภาครอบครัว” และ “ร่างธรรมนูญครอบครัว” ตั้งแต่ปี 2541 โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 4 ปี จึงแล้วเสร็จ หรือเสร็จในปี 2545 นั่นเอง

“ธุรกิจครอบครัวต่างจากการเป็นครอบครัวปกติ ซึ่งไม่มีเงื่อนไขความรัก ธุรกิจจะต้องนิยามว่าใครเป็นใคร เช่น ใครเป็นสมาชิกครอบครัว สมาชิกโดยสายเลือด หรือคู่สมรส และเรามีการประเมินผลตลอดเวลา ที่ยากคือ การแบ่งปันทรัพย์สิน ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ที่อาศัยร่วมกัน ซึ่งครอบครัวปกติจะไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้” สุกุลยา เอื้อวัฒนะสกุล จากเซ็นทรัล กรุ๊ป เคยเล่าให้ฟัง

ที่สำคัญ “ที่นี่(ธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์)ไม่ให้เขยและสะใภ้ทำงาน เพราะเชื่อว่าการเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน อาจมีอิทธิพลต่อการบอกกล่าวคนในครอบครัวให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไร” เนื่องจากป้องกันไม่ให้เกิดการยุแหย่ให้เกิดความแตกแยกภายในครอบครัวนั่นเอง

สำหรับโครงสร้างการปกครองของตระกูลจิราธิวัฒน์ ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ 1.ครอบครัว มีสภาครอบครัว(Family counsil) 2.Ownership มี CG Board หรือมาจากเซ็นทรัล กรุ๊ปดูแล รวมถึงคนนอก กลุ่มนี้จะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนใหญ่ๆ และ3.ธุรกิจ มีกรรมการบริหาร(Executive committee:Ex-com)

นอกจากนี้ ได้มีแนวการปฏิบัติด้านคุณธรรม จริยธรรมต่างๆแล้ว ยังให้หลีกเลี่ยง 10 สิ่งพึงรังเกียจด้วย เช่น การสูบบุหรี่, พูดมากไร้สาระ, ไม่ตรงต่อเวลา, โลภ ,เอาแต่ได้, อวดเก่ง แต่ไม่เก่งจริง, เอาเปรียบผู้อื่น, เกียจคร้าน, โกง เป็นต้น

จะเห็นว่าวาจาศักดิ์สิทธิ์ หรือจะสู้กฎเหล็กของตระกูล เพราะหากใครทำผิด สามารถอัปเปหิออกจากครอบครัวได้ด้วย