สารพัดปัญหาถาโถม ‘ท่องเที่ยวไทย’ ททท. ยันเป้า ‘ทัวริสต์จีน’ ปีนี้ 4 ล้านคน

สารพัดปัญหาถาโถม ‘ท่องเที่ยวไทย’  ททท. ยันเป้า ‘ทัวริสต์จีน’ ปีนี้ 4 ล้านคน

ความกังวลของ 'นักท่องเที่ยวต่างชาติ' จากการเข้าสู่ภาวะสงครามระหว่าง 'อิสราเอล' และ 'กลุ่มฮามาส' รวมถึง 'เหตุกราดยิง' ที่สยามพารากอน และสถานการณ์ 'เศรษฐกิจโลก' กำลังกดดันบรรยากาศการเดินทางของภาคท่องเที่ยวไทยในช่วงไฮซีซัน!

ภาคเอกชนท่องเที่ยว อาทิ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มีข้อเสนอขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาออกมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ “วีซ่า-ฟรี” เป็นการชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยว “อินเดีย” เพิ่ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดศักยภาพทั้งในแง่ฐานประชากรและกำลังซื้อด้านท่องเที่ยว

ทั้งนี้ แอตต้าหวังว่าตลาดอินเดียจะเป็นส่วนสำคัญช่วยผลักดันจำนวน “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ไปให้ถึงเป้าหมาย 25-30 ล้านคนในปี 2566 สร้างรายได้ 1.6 ล้านล้านบาท ตามที่ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) ตั้งเป้าไว้ หนุนแรงส่งไปถึงปี 2567 ที่ ททท. เพิ่งปรับเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 40 ล้านคน สอดรับกับนโยบายของ “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากเป้าเดิม 35 ล้านคน สร้างรายได้ 1.92 ล้านล้านบาท

หลังจากรัฐบาลเพิ่งออกมาตรการวีซ่า-ฟรีเป็นการชั่วคราว 5 เดือนแก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 – 29 ก.พ. 2567 ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยในช่วงไฮซีซันไตรมาส 4 นี้ เฉลี่ยเดือนละ 7 แสนคน หวังฟื้นตัวดียาวถึงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนปี 2567 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดใหญ่ เคยครองอันดับ 1 เดินทางเข้าไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ด้วยจำนวนกว่า 11 ล้านคน

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ยังคงตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนปี 2566 ไว้ที่อย่างน้อย 4 ล้านคน โดยเหตุกราดยิงที่พารากอนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศและอารมณ์ (Sentiment) ของชาวจีนโดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย 1-3 วันหลังเกิดเหตุเท่านั้น

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทย มีทั้งกลุ่มเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟกรุ๊ป) และกลุ่มประชุมสัมมนาที่ยังเดินทางตามแผนเดิม ไม่มีการยกเลิก ส่วนกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) กลุ่มเดินทางเป็นหมู่คณะ (Group Tour) ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ประเมินว่าเป็น “ผลกระทบระยะสั้น”

โดย ททท.เร่งดำเนินมาตรการ “ฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย” ในระยะสั้นไปยังตลาดจีนและอื่นๆ ด้วยการยกระดับภาพลักษณ์ความปลอดภัยของประเทศไทย และชูความหลากหลายของสินค้าท่องเที่ยวในไทยที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว ว่าสามารถมากิน เที่ยว ชอปปิงคลายเครียดได้ ในภาวะที่โลกเต็มไปด้วยวิกฤติปัญหามากมาย!

ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาว ททท.มีแผนทำตลาดและประชาสัมพันธ์กิจกรรมท่องเที่ยวและอีเวนต์ในประเทศที่เตรียมโปรโมตเป็น “อีเวนต์ระดับโลก” เริ่มด้วย “งานเทศกาลลอยกระทง” เดือน พ.ย.นี้ ไฮไลต์งานลอยกระทงครั้งยิ่งใหญ่ที่ ททท.เป็นเจ้าภาพ จัดที่คลองผดุงกรุงเกษม และ “งานวิจิตรเจ้าพระยา” แสดงแสงสีเสียงที่แหล่งท่องเที่ยวตามแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1-31 ธ.ค. 2566

“ส่วนข้อเสนอของเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาออกมาตรการวีซ่า-ฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ขณะนี้ ททท.อยู่ระหว่างประเมินผลตอบรับจากเฟสแรกที่ให้วีซ่า-ฟรีแก่ชาวจีนและคาซัคสถานไปแล้ว คาดใช้เวลาประเมิน 1-2 เดือนนับจากนี้ น่าจะได้ข้อสรุปว่าจะชงมาตรการวีซ่า-ฟรีแก่อินเดียและประเทศอื่นๆ เพิ่มหรือไม่ หลังหารือกับหน่วยงานความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป”

ด้าน “วิกฤติสงคราม” ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รวมถึงพื้นที่ในแถบตะวันออกกลาง ทาง ททท.ประเมินว่ามีผลกระทบต่อจิตวิทยาการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวอิสราเอลและตะวันออกกลาง เกิดความลังเลบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวที่อ่อนไหวต่อประเด็นความปลอดภัย โดยตลาดอิสราเอลมีนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 1.9 แสนคน ขณะที่ตลอดปี 2566 คาดเดินทางเข้าไทย 2 แสนคนเท่ากับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอิสราเอลเฉลี่ย 70,000 บาทต่อคนต่อทริป มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยซึ่งอยู่ที่ 48,000 บาทต่อคนต่อทริป

“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องการท่องเที่ยว เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางเข้ามาหลังรัฐบาลดำเนินมาตรการวีซ่า-ฟรี แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่างๆ เข้ามา เช่น เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน ทำให้ ททท.ต้องเร่งยกระดับความปลอดภัยและสื่อสารดึงความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจีนและชาติอื่นๆ กลับมา”

โดยในสถานการณ์ที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเจอปัญหาภาพลักษณ์ความปลอดภัย มองว่าภาคท่องเที่ยวไทยยังสามารถจับกลุ่มเป้าหมายความสนใจเฉพาะ (Sub-Culture) ของตลาดจีนได้ อาศัยพลังจาก “ซอฟต์พาวเวอร์” กระตุ้นการเดินทาง เช่น กลุ่มแฟนด้อม “ซีรีส์แนวบอยเลิฟ” และกลุ่มแฟนคลับศิลปินที่มาจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทย อย่างล่าสุด “เจย์ โจว” (Jay Chou) ซูเปอร์สตาร์ราชาเพลง Mando-POP ได้เพิ่มรอบจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทยช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เป็น 2 รอบ ความจุรอบละประมาณ 50,000 ที่นั่ง

“ในกลางเดือน ต.ค.นี้ ททท.เตรียมลงนามหนังสือแสดงเจตน์จำนง (Letter of Intent : LOI) กับภาคเอกชนท่องเที่ยวและบริการของจีน 7 รายใหญ่ ครอบคลุมทั้งสายการบิน เช่น สปริงแอร์ไลน์ส รวมถึงบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) และระบบเปย์เมนต์เกตเวย์ เพื่อร่วมกันดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย”

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 - 8 ต.ค. 2566) เบื้องต้นพบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (25 ก.ย. - 1 ต.ค.) โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างมากเหลือ 75,093 คน จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มี 106,472 คน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนออกเดินทางตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้าในช่วงโกลเด้นวีควันชาติจีน (1 ต.ค.) เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด และความกังวลต่อความปลอดภัยจากเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน ประกอบกับการสิ้นสุดช่วงวันหยุดต่อเนื่อง และการเปิดภาคเรียนในภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออก และโอเชียเนีย

ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 497,966 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 54,453 คน คิดเป็น 9.86% โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย 76,432 คน ปรับตัวลดลง 20.43% เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนอันดับ 2 จีน 75,093 คน ลดลง 29.47% อันดับ 3 อินเดีย 34,020 คน ลดลง 8.22% อันดับ 4 เกาหลีใต้ 30,742 คน ลดลง 26.77% และอันดับ 5 สปป.ลาว 24,030 คน ลดลงเล็กน้อย 1.16%

“จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 8 ต.ค. มีทั้งสิ้น 20,549,501 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 861,845 ล้านบาท”

กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ด้วยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัปดาห์ถัดไป (9 - 15 ต.ค.) จะมีจำนวนราว 480,000 คน ปรับตัวลดลงในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออกและภูมิภาคโอเชียเนีย นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังกังวลต่อสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ปะทะรุนแรง

“มีการประเมินว่าในสัปดาห์ถัดไปนักท่องเที่ยวจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลด้านความปลอดภัยจากเหตุการณ์ที่สยามพารากอน และการเข้าสู่ภาวะสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส นอกจากนั้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและในประเทศ ยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากราคาต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุการณ์สู้รบ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว”