เสาเข็มเศรษฐกิจของเศรษฐกิจไทย ตอนที่ 3

เสาเข็มเศรษฐกิจของเศรษฐกิจไทย ตอนที่ 3

ในตอนแรกของเสาเข็มเศรษฐกิจนั้น ผู้เขียนได้เขียนถึงรายละเอียดของอันดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยที่จัดโดย IMD ซึ่งพบว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การสาธารณูปโภค และการสื่อสารอยู่ในอันดับที่ดี (Basic Infrastructure อยู่ลำดับที่ 22)

แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ยังอยู่ในลำดับที่ต่ำ (Scientific Infrastructure อยู่ลำดับที่ 39) ในขณะที่การจ้างงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ลำดับที่ 55 

โดยผู้เขียนเห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเสาเข็มเศรษฐกิจอีกต้นหนึ่งที่สำคัญ ที่จำเป็นต้องมีการเร่งวางรากฐานเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า

โครงสร้างพื้นฐานด้าน STI มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม และสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ จากฐานข้อมูล (เท่าที่สืบค้นได้) ชองกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หน่วยงานในสังกัดมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ 1,405 แห่ง และมีโรงงานต้นแบบ 55 แห่ง หลายแห่งมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่บ้างแล้ว แต่ยังจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้อุปกรณ์ เครื่องมือ และระบบต่างๆ มีความทันสมัยและเพียงพอ รวมถึง ยกระดับการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบเหล่านี้ให้เต็มศักยภาพของตัวโครงสร้างพื้นฐานเอง และตอบสนองต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง

เมื่อพูดถึงความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผู้เขียนมักจะยกตัวอย่าง EECi หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการวางความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน STI ต่างๆ เช่น เครื่องกำเนิดแสงซินโครตอน 3 GeV และโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ โดยโรงงานต้นแบบนี้เป็นการร่วมทุนระหว่าง สวทช. และ Bio Base Europe ซึ่งเป็นความริเริ่มครั้งแรกในประเทศไทย 

 

ผู้เขียนเห็นว่า การร่วมลงทุนและร่วมดำเนินการในโครงสร้างพื้นฐานด้าน STI ระหว่างรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในเทคโนโลยีที่ประเทศยังขาดทั้งตัวโครงสร้างพื้นฐานและผู้เชี่ยวชาญ และใช้เงินลงทุนสูงนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้เป็นอย่างมาก  

โครงสร้างพื้นฐานด้าน STI ยังมีความสำคัญในฐานะ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ หรือ Quality Infrastructure ของประเทศอีกด้วย ในโลกปัจจุบัน การรับรองทางคุณภาพต่างๆ สำคัญอย่างมากต่อ การผลิต การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มีผลการศึกษาทางวิชาการมากมายที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพี และผู้เขียนยังเห็นว่า นี่คือโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มสัดส่วนของ “บริการมูลค่าสูง” อีกด้วย

รายงานการจัดอันดับ Global Quality Infrastructure Index 2021 มีผลการศึกษาที่พบว่า บริการทางคุณภาพ (ประกอบไปด้วย การวัด การมาตรฐาน การทดสอบ และการรับรอง) มีมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับสูง แม้ว่าในช่วงโควิด 19 นั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกปรับตัวลดลง “บริการมูลค่าสูง” เหล่านี้ มีผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศรายได้สูงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยนั้น ได้รับการจัดอันดับอยู่ลำดับที่ 33 จาก 183 ประเทศ โดยมีมาเลเซียอยู่ลำดับที่ 29 และสิงคโปร์อยู่ลำดับที่ 30 การไต่ลำดับ

ในแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ได้มีการบรรจุแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน STI ไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 3 แต่ด้วยระบบงบประมาณที่จัดสรรเป็นรายปีและมีกรอบวงเงินที่จำกัด การใช้โครงสร้างพื้นฐานด้าน STI ขับเคลื่อนนำพาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตของประเทศไทย อาจจะใช้ระยะเวลาถึง 20 ปี คำถามคือเศรษฐกิจไทยรอนานขนาดนั้นได้หรือ ผู้เขียนคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการลงทุนในเสาเข็มเศรษฐกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างจริงจังและเร่งด่วน