ทลายโรงงานผลิตยาจุดกันยุง ผสมสารเคมีอันตราย ว่อนโซเชียลขายถูก ยึดแสนกล่อง

ทลายโรงงานผลิตยาจุดกันยุง ผสมสารเคมีอันตราย ว่อนโซเชียลขายถูก ยึดแสนกล่อง

ตำรวจ ปคบ. - อย. ทลายโรงงานผลิตยาจุดกันยุง ผสมสารเคมีอันตราย และร้านค้า 3 จังหวัด ยึดของกลางกว่า 2 แสนกล่อง เจ้าของโรงงานยอมรับสั่งซื้อยากันยุงจากจีน มาอบสารเคมี ก่อนวางขายทั่วไปในสื่อโซเชียล ราคาถูกกว่าท้องตลาด

ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ( บช.ก.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผล บุกทลายโรงงานผลิตยาจุดกันยุงเถื่อน และจุดกระจายสินค้าอีก 3 จังหวัด ยึดของกลางที่มีสารเคมีอันตรายจำนวน 227,000 กล่อง มูลค่า 4,540,000 บาท

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทาง อย.ได้ตรวจสอบ พบยาจุดกันยุงจีน ยี่ห้อ Goldeer และ Laojun ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขผลิตภัณฑ์

วางจำหน่ายในสื่อโซเชียล และตามร้านค้าขายปลีก ซึ่งบางยี่ห้อหน้ากล่องเป็นรูปเด็กอ่อน ทำให้ประชาชนหลงผิด คิดว่าไม่มีสารเคมีอันตราย อีกทั้งยังราคาถูกกว่าท้องตลาด จึงเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารเคมีวัตถุอันตรายที่เป็นส่วนผสม

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวต่อว่า จากนั้นทาง อย.ได้นำมาตรวจสอบสอบ พบมีสารเคมี ดังนี้

  1. ไพรีทรอยด์ (Pyrethriods)
  2. เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin)
  3. ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) 

สรรพคุณอันตราย

มีพิษต่อคนและสัตว์ หากสูดดมควันในปริมาณมาก อาจทำให้รู้สึกมึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติได้ 

จังหวัดวางขาย
บุกเข้าตรวจค้นโรงงานผลิต ในจังหวัดสมุทรสาคร และที่จุดกระจายสินค้าอีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท อ่างทอง และสุพรรณบุรี พร้อมยึดของกลางได้ดังกล่าว

จากการสอบสวน นางณัธวรรณ เจ้าของโรงงานให้การว่า ได้สั่งซื้อยาจุดกันยุง ชนิดขดสีดำ จากประเทศจีน นำเข้ามาเพื่ออบสารเคมีที่ใช้ไล่ยุงจริง โดยสารเคมีที่ใช้อบยาจุดกันยุง ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าและผลิตเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด จากนั้นได้นำมาบรรจุในกล่องผลิตภัณฑ์ จำหน่ายให้ร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศ 

ทลายโรงงานผลิตยาจุดกันยุง ผสมสารเคมีอันตราย ว่อนโซเชียลขายถูก ยึดแสนกล่อง

ส่วนเจ้าของร้านค้าส่งทั้ง 3 ร้าน รับว่าได้ซื้อมาจากชาวจีนและคนไทย ไม่ทราบชื่อสกุลจริง ในราคากล่องละ 12 บาท นำมาขายกล่องละ 18 - 20 บาท จึงได้ตรวจยึดไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ก่อนพิจารณาแจ้งข้อหาโรงงาน ฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตวัตถุอันตรายที่มิได้ขึ้นทะเบียน ส่วนร้านค้า พิจารณาแจ้งข้อหาฐาน ครอบครองวัตถุอันตราย