'เดอ ตำมั่ว' ยึด 4P ปั้นแฟล็กชิปสโตร์ร้านอาหารไทย
เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป งัด 4P กลยุทธ์การตลาดที่นิยมใช้อย่างกว้างขวาง เป็นพื้นฐานสู่การสร้างยอดขายให้เติบโต มาสู่การปั้นโมเดลแฟล็กชิปสโตร์ "เดอ ตำมั่ว" เจาะกลุ่มเป้าหมายไทย-ต่างชาติ
ธุรกิจร้านอาหารมูลค่า 4 แสนล้านบาท เมื่อพ้นโควิด-19 ตลาดกลับมาคึกคัก ผู้ประกอบการเดินหน้าชิงลูกค้ากลับเข้ามาที่ร้านอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่เคยชะลอเปิดสาขา ก็ขยายร้านใหม่ ปรับปรุงร้านเดิมมากขึ้น
“เดอ ตำมั่ว” หนึ่งในแบรนด์ของเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ยังเดินหน้าเปิดหาโมเดลร้านใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า อย่างล่าสุด โมเดลต้นแบบเรือธงหรือ Flagship Store ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พัทยา ผ่าน 4P
นายศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจร้านอาหารไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แม้จะมีคู่แข่งรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวกลายเป็นความท้าทายให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอยู่เสมอ
ปี 2566 เดอ ตำมั่ว มีการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ การเปิดร้านได้ปั้นโมเดล “แฟล็กชิปสโตร์” ใหม่ เพื่อยกระดับประสบการณ์ร้านอาหารไทยให้ครบเครื่อง และมุ่งสร้างภาพจำใหม่ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นให้กับแบรนด์ ด้วยกลยุทธ์ 4P เจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทยต่างชาติ
ด้านผลิตภัณฑ์(Product) หัวใจสำคัญของการทำตลาด ร้านอาหารเมนูจานหลัก จานรองต้องอร่อย โดยเดอ ตำมั่วย้ำจุดยืนที่เป็นจุดแข็งด้วยการเป็นร้านอาหารไทยแท้ มีการออกเมนูสำรับไทย รสชาติครบเครื่องครบรส ไม่ว่าจะเป็นเมนูต้ม ผัด แกง ทอด และตำ ยังยกระดับเมนูความแซ่บ เช่น เมนูต้มแซบเนื้อสันนอกวากิว A3 มีเชฟโชว์การปรุงอาหารถึงโต๊ะ เมนูกุ้งกรุงศรี (กุ้งแม่น้ำย่าง) เสิร์ฟคู่น้ำจิ้มซีฟู้ดพร้อมกับตำไทย เป็นต้น
สถานที่(Place) หรือร้านที่เป็นช่องทางเสิร์ฟความอร่อยให้กับผู้บริโภค ตำมั่วแฟล็กชิปสโตร์ ที่เทอร์มินอล 21 พัทยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทยและต่างชาติเข้ามใช้บริการจำนวนมาก ร้านเดอ ตำมั่ว จึงนำเสนอคอนเซปต์ “ครัวไทยบ้าน” เอกลักษณ์มาพร้อมความทันสมัย ถ่ายทอดภาพลักษณ์และตัวตนของแบรนด์ออกมาได้เป็นอย่างดี
เพราะร้านคือจุดสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า จึงแบ่ง 2 โซน ได้แก่ โซนหน้าบ้าน เนรมิตตลาดชุมชนเล็ก ๆ วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของคนในพื้นที่ และของฝากจากชุมชน เพื่อส่งต่อความตั้งใจในการผลักดัน Soft Power อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้และความแข็งแกร่งให้กับคนไทยด้วย และโซนในบ้าน บรรยากาศสบาย ๆ เป็นกันเอง ให้ลูกค้าเข้ามาทานอาหารรู้สึกเหมือนได้ทานข้าวบ้านเพื่อน ในร้านยังแฝงงานหัตถกรรมที่ถือเป็นเสน่ห์ของไทย ด้วยการคอลแลปฯ กับ PDM แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของคนไทย อีกหนึ่ง Soft Power โชว์ผลงานที่เป็นผลิตภัณฑ์ เสื่อไทย เอกลักษณ์จากหัตถกรรมจักสานของคนไทย วัสดุพิเศษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ด้านราคา(Price) ไม่เพียงตั้งให้สอดคล้องกับคุณภาพและรสชาติของอาหาร แต่ยังต้องอิงโลเกชั่น(Place)ในทำเลท่องเที่ยว รับกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วย ปิดท้ายที่กิจกรรมส่งเสริมการตลาด(Promotion) อาวุธที่กระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ รับประทานอาหารที่ร้าน ทั้งการอัดโปรโมชั่น “แถมเมนูพิเศษ” สร้างความประทับใจจริงๆ ต่อยอดสู่การใช้ให้ผู้บริโภคสร้างคอนเทนต์กระจายต่อหรือ User Generated Content (UGC) บนโลกออนไลน์ เพิ่มการรับรู้(Awareness)ในวงกว้าง
4P กลยุทธ์เคลื่อน เดอ ตำมั่วเติบโต แต่บริษัทยังเสริมแกร่งด้วยการเปิดร้านเพิ่ม ผ่านโมเดลแฟรนไชส์ สปีดธุรกิจ
เซ็น คอร์ปอเรชั่น มีร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอกว่า 10 แบรนด์ เช่น เซ็น อากะ ออน เดอะ เทเบิ้ล ลาวญวน ฯ มีร้านให้บริการแก่ลูกค้า ณ มิถุนายน 2566 รวม 327 สาขา โดยเป็นร้านที่บริษัทเป็นเจ้าของ 157 สาขา และแฟรนไชส์ 170 สาขา
“แบรนด์ เดอ ตำมั่ว เน้นการขายแฟรนไชส์เป็นหลักเช่นเดียวกับแบรนด์ไทยในเครือ ซึ่งเป็นอีกธุรกิจที่โดดเด่นรองลงมาจากธุรกิจอาหารที่เป็นธุรกิจหลักของ เซ็น กรุ๊ป โดยในช่วงครึ่งปีแรก ปี 66 รายได้จากการให้สิทธิแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น 21% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การปั้นโมเดลต้นแบบแฟล็กชิปสโตร์ของเดอ ตำมั่วคาดว่าจะผลักดันดันยอดขายให้ธุรกิจอาหารเติบโต และภายใต้โมเดลเดียวกันนี้จะส่งผลให้สามารถต่อยอดการขายสิทธิแฟรนไชส์ให้เติบโตขึ้นได้ด้วยเช่นกัน”