‘บางกอกแอร์เวย์ส’ มีกี่สนามบิน? ย้ำพร้อมลงทุน ‘สนามบินพังงา’ หาก ทอท. ถอย

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ มีกี่สนามบิน? ย้ำพร้อมลงทุน ‘สนามบินพังงา’ หาก ทอท. ถอย

ส่องธุรกิจ ‘สนามบิน’ ในอุ้งมือ ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ ปัจจุบันให้บริการ 3 แห่ง ‘สมุย - สุโขทัย - ตราด’ รุกขยายสนามบินตราดเจาะตลาดจีน พร้อมอัปเดตบิ๊กโปรเจกต์ ‘สนามบินอู่ตะเภา’ ย้ำสนใจลงทุนสนามบินใหม่ใน ‘พังงา’ แบ่งเบาความแออัดจากสนามบินภูเก็ต รอข้อสรุปว่า ทอท. ลุยลงทุนหรือไม่

หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำทีมพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ “ภูเก็ต” และ “พังงา” เป็นกลุ่มจังหวัดแรกๆ เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2566 ส่งสัญญาณบวกว่ารัฐบาลใหม่พร้อมให้ความสำคัญกับ “ภาคการท่องเที่ยว” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยหนึ่งในโปรเจกต์ที่นายกฯ เศรษฐา รับปากชัดเจนว่าจะผลักดันคือ “โครงการก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งใหม่” บริเวณโคกกลอย จ.พังงา หรือเรียกกันอีกชื่อว่า “สนามบินพังงา” ซึ่งจะดำเนินการโดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมโยงภายใน จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา แบ่งเบาความแออัดจากสนามบินภูเก็ต

ด้าน ทอท. มีแผนขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินภูเก็ต จากขีดการรองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 20 ล้ายนคนต่อปี วงเงิน 10,000 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2568 โดยในช่วง ทอท.ปรับปรุงสนามบินภูเก็ต จะศึกษาการก่อสร้างสนามบินพังงา รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี คาดใช้เงินลงทุนราว 80,000 ล้านบาท

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า บริษัทฯ สนใจและมีความพร้อมเข้าลงทุนพัฒนา "สนามบินพังงา" บนบริเวณโคกกลอย

โดยต้องรอดูข้อสรุปว่าทาง ทอท. จะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาสนามบินพังงาหรือไม่ หาก ทอท.ยืนยันว่าจะลงทุน บางกอกแอร์เวย์สก็รอทำการบินอย่างเดียว เปิดเส้นทางใหม่เพื่อรองรับการเดินทางเข้า จ.พังงา เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง นักท่องเที่ยวนั่งเครื่องบินเข้าสนามบินภูเก็ตแล้วเลือกเดินทางตรงไปพังงาก็มีจำนวนมาก

“ในยุคหลังโควิด-19 มีสายการบินต่างๆ ประมาณ 6-8 ราย เลือกเปิดเส้นทางระหว่างประเทศบินตรงเข้าภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น จากเดิมให้บริการแค่เส้นทางบินตรงสู่กรุงเทพฯ เท่านั้น หากมีสนามบินพังงามาเพิ่ม ก็จะช่วยแบ่งเบาความหนาแน่นจากสนามบินภูเก็ตซึ่งเป็นหนึ่งในเกตเวย์สำคัญของประเทศไทย”

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ มีกี่สนามบิน? ย้ำพร้อมลงทุน ‘สนามบินพังงา’ หาก ทอท. ถอย

ปัจจุบันบริษัทฯ ให้บริการ 3 สนามบินในไทย ดังนี้

1.สนามบินสมุย เป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่สุดของบริษัทฯ ปัจจุบันรองรับได้ 73 เที่ยวบินต่อวัน พอยุคหลังโควิด-19 ระบาด ปัจจุบันมีปริมาณเที่ยวบินฟื้นตัว แต่ยังไม่ถึง 50 เที่ยวบินต่อวัน

โดย บางกอกแอร์เวย์ส เตรียมเปิดเส้นทางบินสู่ประเทศจีน 2 เส้นทาง ได้แก่ “สมุย - ฉงชิ่ง” และ “สมุย - เฉิงตู” คาดเริ่มทำการบินได้ในเดือน พ.ย. 2566 ขณะนี้รอขั้นตอนทางการจีนมาตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาต (License) น่าจะสอดรับกับไทม์ไลน์ของนโยบาย “ยกเว้นวีซ่า” (Visa - Free) เป็นการชั่วคราวในช่วงไฮซีซันแก่บางประเทศ เช่น จีน ตามที่นายกฯ เศรษฐา คาดหวังว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566

2.สนามบินสุโขทัย

3.สนามบินตราด ล่าสุดบริษัทฯ เตรียมขยายสนามบินตราด ทั้งสร้างอาคารผู้โดยสาร (Terminal) หลังใหม่ และขยายทางวิ่ง (Runway) เพื่อรองรับเครื่องบินพาณิชย์ลำใหญ่ขึ้น เช่น แอร์บัส A320 ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น เช่น “ตลาดจีน” ซึ่งมีดีมานด์ต้องการบินมาท่องเที่ยว จ.ตราด และจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออก โดยเฉพาะทัวร์ผลไม้ บริษัทฯ ประเมินว่าน่าจะใช้เงินลงทุนสร้างสนามบินตราดราว 1,000 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และใช้เวลาดำเนินการประมาณ 18 เดือน

“จริงๆ ธุรกิจสนามบินให้ยีลด์ (อัตราผลตอบแทน) ดีกว่าธุรกิจสายการบิน เราจึงสนใจสร้างสนามบินพังงา เพราะเห็นถึงศักยภาพ อยู่ที่ว่า ทอท. สนใจลงทุนสนามบินพังงาหรือไม่ ถ้า ทอท. ไม่ทำ เราก็พร้อมเข้าลงทุน”

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ มีกี่สนามบิน? ย้ำพร้อมลงทุน ‘สนามบินพังงา’ หาก ทอท. ถอย

อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี BA เล่าเสริมว่า ส่วนแผนการขายสินทรัพย์เข้า “กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย” (BAREIT) เพิ่มเติม คาดว่าอีกประมาณ 2 ปีน่าจะนำสนามบินสมุยอีกส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยต้องการให้สนามบินสมุยมีกิจกรรมมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นตาม ปัจจุบันกองทรัสต์ BAREIT มีรายได้ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นปีละ 2% ตั้งแต่ปี 2567

สำหรับความคืบหน้าของ “ว่าที่สนามบินแห่งที่ 4” ของบริษัทฯ ในบิ๊กโปรเจกต์ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก” ซึ่งมีบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เป็นผู้รับสัมปทานโครงการฯ  พุฒิพงศ์ ระบุว่า กองทัพเรือ  ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่โครงการฯ น่าจะส่งมอบพื้นที่ได้หลังจากเปิดประมูลรันเวย์และจะมีหนังสือ NTP ที่เริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2567

สำหรับการเริ่มงานก่อสร้างได้นั้น ต้องทำเงื่อนไขให้ครบ ดังนี้

1. การตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง กองทัพเรือ และ UTA

2. ร่วมลงนามการใช้ทางวิ่ง (Runway) ซึ่งเซ็นเรียบร้อยแล้ว

3. การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่ง กองทัพเรือ ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

4. กองทัพเรือประมูลก่อสร้างทางวิ่ง 2 ซึ่งคาดว่าจะประกาศในเร็วๆ นี้

5. UTA ต้องมีการตกลงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้ตารางเดินรถเข้ากับตารางการบิน ซึ่งยังพูดคุยกันไม่เสร็จ

อนวัช กล่าวเสริมว่า “UTA เตรียมทยอยเพิ่มทุนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท ถ้ายังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ก็จะยังไม่ใส่เงินเพิ่มทุน”

ทั้งนี้ UTA จะเริ่มงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเฟสแรก รองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปี ปรับลดจากเดิมเฟสแรกรองรับ 15 ล้านคนต่อปี มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยจะใช้เงินกู้ 70% ส่วนทุน 30% ซึ่งคาดว่าจะใช้ส่วนทุน 9,000 ล้านบาท