‘Startup’ กำลังจะตาย สิ้นยุคทอง ‘ซิลิคอน วัลเลย์’ แล้ว?
หมดยุคเผาเงินสด! นักลงทุนแห่ถอนตัวหลังเศรษฐกิจถดถอย ทำ “สตาร์ตอัป” ทยอยเจ๊งให้วุ่น สื่อนอกชี้ “ซิลิคอน วัลเลย์” ไม่ใช่ดินแดนแห่งฝันอีกแล้ว สะท้อน “นักลงทุน” เป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ หลังจากนี้สถานการณ์จะเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
Key Points :
- ธุรกิจสตาร์ตอัปเป็นฝันของคนรุ่นใหม่มากมาย ด้วยกลไกที่เน้นนวัตกรรม-เทคโนโลยีสดใหม่ อาศัยทุนสนับสนุนจาก “Venture Capital” ที่ร่วมลงขัน ทำให้ทศวรรษที่ผ่านมามีสตาร์ตอัปเกิดใหม่และประสบความสำเร็จมากมาย
- แต่หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง ฝันหวานของ “สตาร์ตอัป” ก็เริ่มสั่นคลอน เมื่อนักลงทุนต้องการรักษากระแสเงินสด หากคิดจะลงทุนแล้วต้องเป็นสตาร์ตอัปที่มีผลงานเป็นรูปธรรม สตาร์ตอัปเกิดใหม่หมดสิทธิได้ “แรงเงิน” จากนายทุนทันที
- นักลงทุนบางส่วนมองว่า สิ่งที่สตาร์ตอัปต้องทำหลังจากนี้ คือการยืนให้ได้ด้วยตัวเองก่อน หากผลิตภัณฑ์แข็งแรง วัดผลได้จริง เม็ดเงินจากนักลงทุนก็จะตามมาสมทบภายหลังเอง
ตั้งแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา อาจเรียกได้ว่า นี่คือ “ยุคทอง” ของธุรกิจสตาร์ตอัป (Startup) เลยก็ว่าได้ เมื่อบริษัทเล็กๆ มีไอเดียมากมายแต่ไม่สามารถไปต่อเพราะขาดแหล่งเงินทุน โมเดลธุรกิจสตาร์ตอัปที่เน้นขายไอเดีย-นวัตกรรมสดใหม่ แล้วใช้วิธีระดมทุนจากนักลงทุนที่สนใจเข้าร่วมจึงทำให้ “คนตัวเล็ก” ก้าวกระโดดได้ไว ยิ่งโตมากเท่าไรก็ยิ่งได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนเท่านั้น
สตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จและได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนจนสามารถทะยานสู่ “ยูนิคอร์น” ได้ (บริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 3.3 หมื่นล้านบาทไทย) ก็จะได้เปรียบกว่าสตาร์ตอัปรายอื่นๆ กลายเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนรายใหญ่เพราะเล็งเห็นแล้วว่า บริษัทดังกล่าวมีศักยภาพการเติบโต ทำให้ต้องเร่งอัดฉีดเงินลงทุนสนับสนุนเพิ่ม
ทว่า สถานการณ์ของสตาร์ตอัปตอนนี้ดูจะไม่สดใสเหมือนเดิมแล้ว ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกหลังโควิด-19 จบลง ทำให้ “กระแสเงินสด” กลายเป็นสิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่ให้ความสำคัญมากขึ้นจากที่เคยอัดฉีดเงินร่วมลงทุนในหลายบริษัท ตอนนี้นักลงทุน “คัดแล้วคัดอีก” มากขึ้นหลายเท่า สถานการณ์ที่แหล่งเงินทุนหดหายเริ่มคุกคามสตาร์ตอัปน้อยใหญ่หลายราย จนทำให้หลายบริษัทตัดสินใจปิดตัวลง ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้กำลังกลายเป็น “ไฟลามทุ่ง” แม้กระทั่งสตาร์ตอัปในหุบเขา “ซิลิคอน วัลเลย์” เองก็ด้วย
- เมื่อ “เงินทุน” คือสิ่งที่สตาร์ตอัปขาดไม่ได้ ความแห้งแล้งครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น
แม้วิกฤติโควิด-19 จะเป็นช่วงเวลาอันยากลำบากของใครหลายคน แต่ไม่ใช่กับบรรดาธุรกิจสตาร์ตอัปที่มีผลิตภัณฑ์ “แจ้งเกิด” ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวออกมามากมาย เนื่องจากสตาร์ตอัปมักเกี่ยวข้องกับการคิดค้นออกแบบนวัตกรรมที่ดึงเทคโนโลยีเข้ามาทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง อาทิ แกร็บ (Grab) แอร์บีเอ็นบี (AirBnB) อูเบอร์ (Uber) เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) หรือแฟลช เอ็กซ์เพลส (Flash Express) สตาร์ตอัปสัญชาติไทยที่ระดมทุนจนขึ้นเป็น “ยูนิคอร์นตัวแรก” ของไทยได้สำเร็จ โดยเป็นการคว้ายูนิคอร์นได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย จะเห็นได้ว่า ทุกบริษัทมีจุดเชื่อมโยงคล้ายกันตรงที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก
ทว่า เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่า ฝันหวานของวงการสตาร์ตอัปกลับตาลปัตร สำนักข่าวเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ระบุว่า ขณะนี้สตาร์ตอัปในสหรัฐที่เคยเฟื่องฟูถึงขีดสุดในช่วงที่ผ่านมา ตอนนี้เปรียบเหมือนกับคนที่ขาดน้ำเป็นเวลานาน และอาจเรียกได้ว่า สตาร์ตอัปกำลังเข้าสู่ภาวะ “ใกล้ตาย” แล้ว
“แมตต์ เรดเลอร์” (Matt Redler) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “Panther” สตาร์ตอัปด้านการชำระเงินที่เคยระดมทุนจากนักลงทุนได้สูงสุด 60 ล้านดอลลาร์ ตัดสินใจปิดบริษัทลงในเดือนมิถุนายน ปี 2023 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนได้นานกว่า 1 ปีแล้ว “เรดเลอร์” เล่าว่า เกือบ 2 ปีที่แล้วเขาได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อระดมทุนมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อการขยายตลาดไปสู่ลูกค้ารายใหญ่ ทั้งยังตั้งเป้าที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกสองเท่าด้วย
แต่ไม่นานหลังจากนั้นนักลงทุนที่เคยพูดคุยแผนดังกล่าวด้วยกันก็ทยอยถอนตัวออกไป เนื่องจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามาเขย่าตลาดเงิน ขณะนั้น “เรดเลอร์” เริ่มมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อประคองบริษัทให้ยังไปต่อได้ เขาเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากธุรกิจชำระเงินเป็นธุรกิจหาคนทำงานแบบ “จ้างเหมา” โดยมองว่า เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะหลังการระบาดใหญ่จบลงบริษัทหลายแห่งได้มีการปรับลดการจ้างพนักงานเต็มเวลา (Full-time) เป็นการจ้างพนักงานรายเดือน-รายปีกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ “เรดเลอร์” จะปรับแผนธุรกิจขนานใหญ่ แต่ก็ไม่เป็นผลดีแม้แต่น้อย “เรดเลอร์” ตั้งเป้าเสนอขายแผนให้กับนักลงทุนกว่า 50 ราย แต่กลับไม่มีนักลงทุนสนใจแม้แต่รายเดียว “Panther” จึงต้องปิดตัวลงถาวรเพื่อป้องกันการเกิดภาวะล้มละลาย
กรณีของ “Panther” เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสถานการณ์เท่านั้น โดย “เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล” ระบุเพิ่มเติมว่า สตาร์ตอัปใน “ซิลิคอน วัลเลย์” (Silicon Valley) หลายแห่งกำลังประสบปัญหาเดียวกัน แม้ว่าหุ้นเทคโนโลยีกำลังปรับตัวสูงขึ้นแต่นักลงทุนหลายรายให้ความสนใจไปกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองกันหมดแล้ว ข้อเท็จจริงคือสตาร์ตอัปไม่เติบโต ไม่ได้รับการอัดฉีดจากนักลงทุนมาพักใหญ่ ตรงกันข้ามกับทศวรรษก่อนหน้าที่มีแหล่งเงินทุนจำนวนมากพร้อมอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมต่ำ ซึ่งธรรมชาติของบริษัทสตาร์ตอัปต้องอาศัยการระดมทุนหลายรอบกว่าจะไปถึงจุดสูงสุดได้ ฉะนั้น คำถามสำคัญก็คือสตาร์ตอัปจะทำอย่างไรเพื่อให้ตนเองอยู่รอด ในขณะที่นักลงทุนทบทวนการใช้จ่าย-ลงทุนอย่างเข้มข้นมากขึ้น
- ไม่เติบโตไม่เสี่ยงลงทุน อนาคตที่ไม่ง่ายของ “สตาร์ตอัป”
“ไม่เกิน 12 เดือนข้างหน้าเราจะได้เห็นสตาร์ตอัปทยอยปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีก” เจนนิเฟอร์ ฟิลด์ดิง (Jennifer Fielding) กรรมการบริษัท “Everywhere Ventures” ธุรกิจแหล่งเงินทุนสำหรับสตาร์ตอัปในสหรัฐเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่มีใครอยากเสี่ยงจัดหาเงินทุนให้กับสตาร์ตอัปที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นดำเนินการอีกแล้ว นายทุนมักหลีกเลี่ยงการลงทุนกับธุรกิจที่ยังไม่มีสัญญาณการเติบโต หรือสร้างผลกำไรที่เห็นได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ “PitchBook” บริษัทที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทางการเงินในสหรัฐระบุว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่า การลงทุนในสตาร์ตอัปที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีลดลงกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูลดังกล่าวเผยให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ลดระดับเงินทุนเพื่อการสนับสนุนสตาร์ตอัประดับเริ่มต้นลงกว่าครึ่งหนึ่ง การตัดสินใจครั้งนี้สัมพันธ์กับการปิดตัวของสตาร์ตอัปรายใหม่ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากแหล่งเงินทุนเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเริ่มต้นทำธุรกิจ หากไม่ปิดกิจการสตาร์ตอัปเกิดใหม่ก็เลือกที่จะลดขนาดธุรกิจของตนเองลงแทน
ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีสตาร์ตอัปหลายแห่งปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย ยกตัวอย่างเช่น “Plastiq” ธุรกิจแพลตฟอร์มการชำระเงินถูกฟ้องล้มละลายในเดือนพฤษภาคม “Goldfinch Bio” สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพล้มละลายเมื่อต้นปี 2566 หลังจากไม่สามารถระดมเงินทุนได้ตามเป้า “Buzzer” แพลตฟอร์มกีฬาที่เคยระดมทุนได้มากถึง 20 ล้านดอลลาร์ และยังเคยระดมทุนร่วมกับ “ไมเคิล จอร์แดน” (Michael Jordan) รวมถึง “Poparazzi” แอปพลิเคชันแชร์รูปภาพที่เคยมียอดดาวน์โหลดสูงสุดในแอปสโตร์ (App Store) ก็ปิดตัวลงเช่นกัน
หรืออย่าง “Hopin” สตาร์ตอัปชื่อดังที่เกิดขึ้นจาก “Pain Point” การเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงโควิด-19 แจ้งเกิดราวเดือนมิถุนายน ปี 2562 ด้วยแนวคิดการจัดงานอีเวนต์เสมือนจริงผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ โดย “Hopin” เคยระดมทุนได้เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี แต่เมื่อการระบาดใหญ่จบลง ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม “Hopin” ก็เริ่มประสบปัญหา กระทั่งตัดสินใจขายกิจการไปด้วยมูลค่าเพียง 15 ล้านดอลลาร์ จากที่เคยมีมูลค่าบริษัทมากถึง 7 พันล้านดอลลาร์ในช่วงการแพร่ระบาด
อาจพูดได้ว่า สถานการณ์ของสตาร์ตอัปขณะนี้ออกจะ “ลูกผีลูกคน” ก็คงไม่ผิดนัก เมื่อการสร้างนวัตกรรมต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่างแหล่งเงินทุนจาก “Venture” หรือบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ระบบนิเวศของวงการสตาร์ตอัปเปลี่ยนไปจากทศวรรษก่อนหน้าโดยสิ้นเชิงแล้ว นักลงทุนขีดเส้นความเสี่ยงรัดกุมมากขึ้น “ฮันเตอร์ วอล์ก” (Hunter Walk) นักลงทุนรายหนึ่งให้ความเห็นว่า ปัจจุบันนักลงทุนต้องการเห็นผลลัพธ์ความสำเร็จจากสตาร์ตอัปด้วยตัวเลขผู้ใช้งานที่วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เขาระบุว่า “ความบ้าคลั่งในการลงทุน” สิ้นสุดลงไปตั้งแต่ต้นปี 2022 สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือจำนวนสตาร์ตอัปที่ปิดตัวลงเนื่องจากโอกาสในการระดมทุนที่ริบหรี่ลงเต็มที
- ทางออก คือ “สตาร์ตอัป” ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้
“เจส เรนดัล” (Jess Rendall) ผู้ก่อตั้งกองทุน “Sweater” มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการระดมทุนหดตัวลงว่า ขณะนี้สถานการณ์ของสตาร์ตอัปเข้าข่าย “Pandemic Bubble” หรือฟองสบู่หลังการระบาดใหญ่ สิ่งที่ตามมา คือภาวะล่มสลายอย่างรวดเร็วของเงินทุนที่เคยไหลสู่สตาร์ตอัป เรนดัลตั้งคำถามชวนคิดต่อว่า สตาร์ตอัปอาจต้องกลับมาทบทวนว่า ธุรกิจที่เริ่มต้นจากการระดมทุนและการพึ่งพา “Venture Capital” เป็นหลักนั้นมีความยั่งยืนหรือไม่ ทั้งการระดมทุนแบบ “คราวด์ฟันดิง” (Crowdfunding) และ “บูทสแตรป” (Bootstrapped)
เป็นไปได้หรือไม่ว่า หากสตาร์ตอัปก่อตั้งและสร้างนวัตกรรมขึ้นมาก่อน มีผลิตภัณฑ์เป็นรูปธรรม มีตัวเลขทั้งจำนวนลูกค้าและเม็ดเงินที่วัดผลได้ อาจทำให้สถานการณ์การระดมทุนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า สตาร์ตอัปมีศักยภาพในการทำผลงานออกมาได้จริง แน่นอนว่า กองทุนหรือ “VC” เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เติบโตได้ในระยะยาว แต่สิ่งที่เขาต้องการจะชี้ให้เห็นก็คือ ในช่วงเวลาที่กระแสเงินสดยังมาไม่ถึง การสร้างรากฐานธุรกิจให้มั่นคงแข็งแกร่งคือจิ๊กซอว์ชิ้นแรกที่สตาร์ตอัปต้องมีก่อนเป็นอันดับแรก
อ้างอิง: Inc., The Wall Street Journal