จากป่าล้อมเมือง สู่สร้างแบรนด์ ‘เบลล์’ ชิงแชร์เครื่องดื่มรังนกหมื่นล้าน!

จากป่าล้อมเมือง สู่สร้างแบรนด์  ‘เบลล์’ ชิงแชร์เครื่องดื่มรังนกหมื่นล้าน!

“ตลาดเครื่องดื่มรังนก” มีขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ผู้เล่นรายใหญ่ สร้างแบรนด์โดดเด่น 4-5 รายส่วนพฤติกรรมการซื้อสินค้า ฉีกตลาด เพราะ “คนซื้อไม่ได้ดื่ม คนดื่มไม่ได้ซื้อ” แต่นิยมซื้อเป็นของฝาก ของขวัญช่วงเทศกาลต่างๆ วันสำคัญ และของเยี่ยมผู้ป่วย เป็นต้น

ทว่า ตลาดใหญ่ผู้เล่นน้อยราย เย้ายวนให้มี “ผู้ท้าชิง” รายใหม่ๆ เข้ามา เช่นเดียวกับแบรนด์ “เบลล์” แม้จะอยู่ในสังเวียนเครื่องดื่มรังนกมา 18 ปี แต่การสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภครับรู้(Brand Awareness)เพิ่งคิกออฟอย่างเป็นทางการปี 2566

สุรชัย พิมพ์ประไพภรณ์ กรรมการบริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม แอนด์อาร์ ดิสทริบิวเตอร์ ฉายภาพว่า การตัดสินใจสร้างแบรนด์ “เบลล์” ในรอบ 18 ปี เพื่อให้เป็นที่รับรู้ในตลาดและผู้บริโภค เพราะตระหนักว่าเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย เมื่อเดินเข้าไปร้านค้า เห็นสินค้าบนชั้นวาง(เชลฟ์) แบรนด์จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้

ปี 2566 บริษัทจึงทุ่มงบ 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 เท่า เพื่อทำการตลาด พร้อมทั้งใช้พรีเซ็นเตอร์ครั้งแรก โดยเลือก “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ที่จะสร้างกระแสหรือไวรัล ต่อยอดเครื่องดื่มรังนกแบรนด์ “เบลล์” ได้ เช่นกับที่ผ่านมา จะเห็นแบรนด์ชั้นนำ ต่างใช้นักแสดง คนดังระดับแถวหน้ามาเป็นแม่เหล็กเจาะกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อเดินเกมรุกตลาดวงกว้าง(Mass) เต็มสูบ จะเห็นการขยายช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมา โฟกัสพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสาน เน้นห้างค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรด 30-40% ร้านค้าทั่วไป 10%

ล่าสุดเสริมกระดูกเหล็กในการจำหน่ายสินค้า ด้วยการป้อนเครื่องดื่มรังนกเบลล์เข้าร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นทุกแห่งกว่า 1.4 หมื่นสาขาทั่วประเทศ เสิร์ฟลูกค้ามากขึ้น และจากนี้ไปจะเห็นการหาตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ และเจาะร้านค้าปลีกภูธร เพื่อสร้างการเติบโต

“จุดเริ่มต้นของการทำตลาดเครื่องดื่มรังนก เราใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เพื่อจำหน่ายสินค้าถึงมือผู้บริโภค แล้วค่อนขยายทีมงานป้อนสินค้าเข้าห้างโมเดิร์นเทรด แต่จากนี้ไปการทำตลาดสินค้าทุกตัวจำเป็นต้องสร้าง Brand Awareness จากอดีตอาจใช้การบอกต่อหรือ word of mouth ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก เน้นทำ Loyalty Program กับร้านค้า แต่เมื่อฐานยอดขาย ลูกค้ากว้างขึ้น จะต้องสร้างแบรนด์”

นอกจากทำตลาดในประเทศ ปีนี้จะเดินเกมบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ผนึกพันธมิตรเพื่อนำสินค้าไปขายอย่างจริงจัง จาก 8 ปีก่อนเคยชิมลางตลาดจีนแล้ว จากปัจจุบันส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงจะขยายช่องทางออนไลน์ เสริมแกร่งการเติบโต

เครื่องดื่มรังนกเป็นสินค้าเรือธง แต่อนาคตระยะยาวได้วางแผน “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กร จากห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ ก้าวสู่ “มหาชน” จึงตั้งบริษัท เดอะ วินเนอร์ โปรดักท์ พร้อมแตกไลน์สินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG)หมวดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพให้หลากหลายมากขึ้น เช่น เครื่องดื่มผลไม้และโปรตีน ภายใต้แบรนด์ “เบลล์” เข้าทำตลาดไตรมาส 2 ปี 2566 หรืออย่างน้อยจะเห็นสินค้าใหม่ 2-3 รายการ(เอสเคยู)ต่อปี 

จากแผนดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะผลักดันรายได้ให้เติบโตทะยานสู่ 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 จากปี 2566 คาดการณ์รายได้อยู่ที่ 700 ล้านบาท เติบโตจากปี 2565 รายได้กว่า 600 ล้านบาท ที่สำคัญการบุกตลาดและสร้างแบรนด์ “เบลล์” ยังต้องการผลักดันส่วนแบ่งตลาดแตะ 25% ภายใน 4 ปีข้างหน้า จาก 10% เพื่อรั้งตำแหน่งท็อป 3 ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ระยะยาวยังมองอาณาจักรที่จะทรานส์ฟอร์มสู่ “เดอะ วินเนอร์ โปรดักท์” ทำรายได้ 2,500 ล้านบาท

“เป้าหมายระยะยาวอยากสร้างอาณาจักรสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อสุขภาพ สร้างแบรนด์เบลล์ให้แข็งแกร่ง และอยากนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป”