‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ปักหมุด คิงออฟ ซูชิ ปั้นนิวเอสเคิร์ฟดีลิเวอรี-แตกไลน์ซอส

‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ปักหมุด คิงออฟ ซูชิ ปั้นนิวเอสเคิร์ฟดีลิเวอรี-แตกไลน์ซอส

ส่องแผน 'ไข่หวานบ้านซูชิ' ปี 2566 รุกตลาด ชี้เทรนด์อาหารญี่ปุ่นซูชิโต สร้างนิวเอสเคิร์ฟดีลิเวอรี แตกไลน์ซอสโชยุแบบขวด วางเป้าเปิดสาขาในต่างประเทศ มุ่งเป้าระยะยาวมีสาขาในไทยและต่างประเทศครบ 1,000 สาขา ปักธงสร้างธุรกิจแข็งแกร่ง มุ่งเป้าสู่องค์กร 100 ปี

เส้นทาง  7 “ไข่หวานบ้านซูชิ” แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น “ซูชิ” ภายใต้การนำทัพของนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง อมรา ไทยรัตน์ สร้างเครือข่ายร้านกว่า 240 สาขา ก้าวสู่บิ๊กสเต็ป! เดินหน้าสยายปีกต่อเนื่อง พร้อมแตกไลน์โมเดลแฟรนไชส์ เสริมพอร์ตโฟลิโอด้วยผลิตภัณฑ์ “ซอสโชยุ” สร้างนิวเอสเคิร์ฟให้ธุรกิจร้านอาหารไข่หวานบ้านซูชิเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน 

อมรา ไทยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเป็นตลาดศักยภาพที่ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากบริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้ดีมาตลอด ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรง! 

แต่องค์ประกอบของการเติบโตที่ธุรกิจให้ความสำคัญกับการใส่ใจในทุกรายละเอียด การดูแลใส่ใจกลุ่มลูกค้า ทำให้ลูกค้าประทับใจกับบริการ และการกำหนดราคาสินค้าที่แตกต่าง สร้างฐานลูกค้าที่กว้างมากขึ้น

ผสานจุดแข็งของเกมรุกด้วยระบบ “แฟรนไชส์” ที่วางมาตรฐานตั้งแต่การคัดเลือกผู้เข้าร่วมลงทุน การมีระบบเทรนนิ่ง และการติดตาม  ระบบบริหารจัดการร้านของแฟรนไชส์ ลงทุนเริ่มต้น 6 แสนบาท และไม่มีการเก็บส่วนแบ่งกำไร หรือค่า GP เพิ่ม นับเป็นสูตรสำเร็จที่ผลักดันธุรกิจเติบโต 30-50% ต่อเนื่องในทุกปี มีลูกค้าสนใจเข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์แฟรนไชส์เพิ่มขึ้นในทุกปี

 

‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ปักหมุด คิงออฟ ซูชิ ปั้นนิวเอสเคิร์ฟดีลิเวอรี-แตกไลน์ซอส
อมรา ไทยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) จำกัด

“หากสำรวจร้านซูชิในตลาดที่มีหลากหลายแบรนด์ พบว่ามีรูปแบบที่แตกต่างกัน และไม่มีรูปแบบร้านที่เหมือนกับซูชิไข่หวาน ที่นำเสนอร้านแบบมีที่นั่งให้รับประทานในร้านและมีซูชิให้ลูกค้าเลือกมากกว่า 70 เมนู จึงสร้างภาพจำให้แก่ลูกค้าว่าแบรนด์ว่ามีคุณภาพเกินราคา ทั้งมีซูชิหน้าใหญ่และไซส์แน่น ราคาถูกเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อชิ้น ฐานลูกค้าก็มีหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มคนทำงานไปจนถึงกลุ่มครอบครัว”

การสร้าง “นิวเอสเคิร์ฟ” ให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้นนั้น "ไข่หวานบ้านซูชิ" เลือกแตกไลน์และพัฒนาแบรนด์ “ซอสโชยุแบบขวด รสต้นตำรับญี่ปุ่น” เป็นสูตรลับเฉพาะที่มีรสชาติที่แตกต่างจากโซยุทั่วไป เป็นเอกลักษณ์ของร้านที่ลูกค้าชื่นชอบ มุ่งทำตลาดผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนอีกผลิตภัณฑ์เด่นของร้าน “สูตรน้ำส้ม” เป็นสูตรพิเศษที่คิดค้นขึ้นเองแต่ยังไม่มีแผนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในเร็วๆ นี้

 

‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ปักหมุด คิงออฟ ซูชิ ปั้นนิวเอสเคิร์ฟดีลิเวอรี-แตกไลน์ซอส

ขณะเดียวกัน ยังมีโมเดล “รถมอเตอร์ไซด์เดลิเวอรี่” ลงทุนราว 3.5 แสนบาท ให้บริการซูชิเสิร์ฟตรงถึงบ้าน เน้นทำเลหมู่บ้านต่างๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับประทานอาหารแก่ลูกค้าได้รับความสะดวกสูงสุด

พร้อมศึกษาคอนเซปต์ร้านไซส์เล็กแบบพรีเมียม เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับบน จะทำให้ซูชิไข่หวานมีโมเดลธุรกิจครอบคลุมตลาดตั้งแต่ระดับแมสไปจนถึงระดับบน

นอกจากนี้ ได้ต่อยอดสู่บริการ “ไดร์ฟทรู” เป็นครั้งแรก สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ในรูปแบบคาเฟ่ บริการเครื่องดื่มและขนมหวาน ลงทุน 15 ล้านบาท สาขาแห่งนี้ยังได้ทำเป็นศูนย์อบรมให้แก่ลูกค้าที่จะเข้ามาลงทุนแฟรนไชส์

ในปี 2566 ไข่หวานบ้านซูชิ เปิดสาขาใหม่ 60 สาขา ทำให้สิ้นปีนี้มีสาขาให้บริการรวม 300 สาขาทั่วประเทศ มุ่งเจาะทำเลศักยภาพทั้งต่างจังหวัดและสถานีบริการน้ำมันต่างๆ

รวมทั้งการมุ่งทำตลาดต่างประเทศ คาดเริ่มปี 2567 ประเดิมประเทศลาว ก่อนขยายครอบคลุมอาเซียน ตั้งเป้าหมาย1,000 สาขา พร้อมการก้าวสู่ “คิงออฟซูชิ” ”ของประเทศไทย ผ่านกลยุทธ์ขยายธุรกิจ ยกระดับบริการใหม่ และชูคุณภาพเป็นหัวใจขับเคลื่อน

“ธุรกิจร้านอาหารความท้าทายคือ การบริหารจัดการระบบหลังบ้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การบริหารจัดการต้นทุน บิ๊กดาต้า ทั้งฐานลูกค้าและสินค้าแต่ละกลุ่ม สินค้าขายดี เพื่อนำมาพัฒนาและวางกลยุทธ์การตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสการขายในระยะยาว”

อย่างไรก็ดี 7 ปีแบรนด์ ซูชิไข่หวาน ได้จัดแคมเปญ สะสมแสตมป์ ระหว่างเดือน ก.ย.-พ.ย. ลูกค้าซื้อครบ 50 บาทสะสมสแตมป์ให้ใช้แทนเงินสด หรือแลกสินค้าพรีเมี่ยม ลิมิเต็ด เอดิชั่น

อมรา กล่าวทิ้งท้ายว่า “การสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน จะต้องมีความรักในสิ่งที่ทำ พร้อมใส่ใจในการดูแลธุรกิจในทุกรายละเอียด มีความรู้จริง การบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และการดูแลพนักงานทุกคนให้ดี ทั้งหมดจะช่วยนำพาให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้”

ตลาดอาหารญี่ปุ่นกลุ่มซูชิยังไปได้อีกไกลในตลาดของประเทศไทย จากความนิยมและบริษัทมุ่งสร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา มุ่งหน้าขยายแบรนด์ วางรากฐานของธุรกิจให้แข็งแกร่ง สู่เส้นชัยนำพา ไข่หวานบ้านซูชิ “ก้าวสู่องค์กร 100 ปีของประเทศไทย”

สำรวจตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในกลุ่มซูชิของไทยขยายตัวสูง

ตลาดร้านอาหารในไทยมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 2566 จะขยายตัว 2.7-4.5% ส่วนตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ ระบุว่า ภาพรวมร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 2565 มีจำนวน 5,325 ร้านค้า เพิ่มขึ้น 21.9% มากสุดในรอบ 15 ปี ส่วนร้านอาหารประเภท “ซูชิ” มีจำนวน 1,431 ร้านค้า เพิ่มขึ้น 19.6% เป็นประเภทร้านอาหารญี่ปุ่นที่มากสุดในไทยแสดงถึงโอกาสของตลาดอาหารซูชิที่ขยายตัวได้ดี