หั่นเป้างบโฆษณาโตต่ำ 2.5% เหตุการเมืองกลับตาลปัตร-ปัจจัยลบอ่วม

หั่นเป้างบโฆษณาโตต่ำ 2.5%  เหตุการเมืองกลับตาลปัตร-ปัจจัยลบอ่วม

ต้นปี 2566 ประเทศไทยเต็มไปด้วยความคาดหวัง “เชิงบวก” โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้น เพราะมีการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนภาคธุรกิจมองการทำมาค้าขายจะคึกคัก เพราะโควิด-19 คลี่คลาย สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ

ผ่านไปครึ่งปี หลายอย่างไม่เป็นดังคาดการณ์ จึงเห็นผลกระทบ “เชิงลบ” ตามมา หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมสื่อโฆษณา เพราะถูก “หั่นเป้า” การเติบโตลดลง

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด ฉายภาพว่า ทิศทางอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2566 ไม่เป็นไปอย่างที่ประเมินไว้ตอนต้นปี โดยเฉพาะอัตราการเติบโต ที่เดิมจะเห็นการฟื้นตัวที่ 5% ทว่า สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นตลอด 8 เดือน กลับมี “ปัจจัยบวก” ไม่มากพอที่จะทำให้เห็นตัวเลขดังกล่าว จึงต้องหั่นเป้าหมายทั้งปี เติบโตเพียง 2.5%

เหตุที่ทำให้ทุกอย่าง “ผิดคาด” เริ่มจากเศรษฐกิจอยู่ในกรอบต่ำกว่า 3% ส่วนท่องเที่ยวเครื่องยนต์หลักสำคัญ กลับไม่เพียงพอจะฟื้นทุกเศรษฐกิจไทยได้ นอกจากนี้ การเลือกตั้งใหญ่ ที่เดิมคาดการณ์จะเห็นเม็ดเงินสะพัด การจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” หลังพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงนำโด่ง กลับตาลปัตร มีความล่าช้า ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบาย อัดฉีดเงินเข้าระบบได้

หั่นเป้างบโฆษณาโตต่ำ 2.5%  เหตุการเมืองกลับตาลปัตร-ปัจจัยลบอ่วม อีกด้าน “ปัจจัยลบ” ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาวะ “ค่าครองชีพพุ่ง” ต้นทุนผู้ผลิตสินค้าและบริการอยู่ในระดับสูง การส่งออกไม่เติบโต ซึ่งเป็นอีกเครื่องยนต์หนุนเศรษฐกิจไทย รวมถึงเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 จัดขึ้นที่ประเทศจีน ไม่คึกคักมากนัก ซึ่งเดิมมหกรรมกีฬารายการใหญ่ๆ แบรนด์ เจ้าของสินค้า และผู้ลงโฆษณา(advertiser)จะเตรียมการล่วงหน้า 2 เดือน ทำการสื่อสารการตลาด แต่ปัจุบันค่อนข้างเงียบเหงา เหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาไปไม่ถึงดวงดาว

“ต้นปีประเมินเม็ดเงินโฆษณาจะโต 5% ซึ่งเป็นการมองแบบถ่อมตัวแล้ว สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มองบวกจากที่มีการเลือกตั้ง โควิดคลี่คลาย เลือกตั้งเสร็จ สถานการณ์ต่างๆ ยังมีภาพบวกบ้าง แต่ปัจจัยลบมีต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้ต้องคาดการณ์ใหม่ว่าอุตสหากรรมสื่อโฆษณาปีนี้ไปไม่ถึงดวงดาว”

เวลานี้ (29 ส.ค.) ประเทศไทยมี “รัฐบาลใหม่” และมี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พร้อมโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) “เศรษฐา 1” ที่จะบริหารประเทศ เดินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การจะดำเนินการเรื่องต่างๆ ได้ เช่น การลุยนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท คาดเกิดขึ้นเร็วสุดคือต้นปีหน้า หรือช่วงสงกรานต์ 2567 จะเกิดแรงส่งผลักดันอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาอีกทอด

หั่นเป้างบโฆษณาโตต่ำ 2.5%  เหตุการเมืองกลับตาลปัตร-ปัจจัยลบอ่วม “ปัจจัยบวกใหม่ๆ เช่น การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โฉมหน้า ครม. เศรษฐา 1 ซึ่งหากไม่มีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการเมืองและรัฐบาลใหม่ แม้จะมีนโยบายบางอย่างที่ประกาศว่าจะทำเลยหลังเป็นรัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศภายในปลายเดือน ก.ย. เช่น การปรับลดราคาเชื้อเพลิง ค่าครองชีพเช่น ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทุกคนเฝ้ารอน่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดในช่วงต้นปีหน้าเป็นอย่างเร็ว คือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท รวมถึงนโยบายที่อาจส่งผลได้ในระยะเวลาอีกหลายปี เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนนักศึกษาจบใหม่ เงินเดือนข้าราชการ ซอฟต์พาวเวอร์”

สำหรับเม็ดเงินโฆษณาทั้งปี คาดการณ์สะพัด 83,031 ล้านบาท เติบโต 2.5% โดย 7 เดือนแรกเม็ดเงินสะพัด 47,268 ล้านบาท เติบโต 1.10% หรือเพิ่มขึ้น 516 ล้านบาท

หั่นเป้างบโฆษณาโตต่ำ 2.5%  เหตุการเมืองกลับตาลปัตร-ปัจจัยลบอ่วม เมื่อแยกประเภทสื่อที่จะครองเม็ดเงินปี 2566 ทีวีคาดการณ์ 36,199 ล้านบาท ลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยที่ทำให้การหดตัวต่ำ เนื่องจากมีการเลือกตั้งมากู้ชีพ เพราะแต่ละสถานีโทรทัศน์สร้างสรรค์คอนเทนต์ “รายการข่าว” ชิงสายตาผู้ชมหรือ eyeball กันเต็มที่ สื่ออินเตอร์เน็ตครองเม็ดเงิน 27,481 ล้านบาท เติบโต 7% (ข้อมูลคาดการณ์ ณ ต้นปี 2566 และสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT จะอัพเดทภาพรวมโฆษณาดิจิทัลอีกครั้งวันที่ 31 ส.ค.2566) และสื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ครองเม็ดเงิน 12,101 ล้านบาท เติบโต 10%

ที่น่าสนใจ 3 สื่อข้างต้น ได้แก่ ทีวี สื่อโฆษณาดิจิทัล และสื่อโฆษณานอกบ้าน “ทรงอิทธิพล” ในการสื่อสารการตลาดและครองเม็ดเงินมากสุดในอนาคต แต่ “สื่อทีวี” จะมีสัดส่วนน้อยลง และสื่อดิจิทัลจะโกยเม็ดเงิน “เท่ากับสื่อทีวี” ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม 7 เดือนแรก 2566 เม็ดเงินโฆษณาถูกใช้จ่ายผ่านสื่อทีวี 20,226 ล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สื่ออินเตอร์เน็ต 16,031 ล้านบาท เติบโต 6% สื่อโฆษณานอกบ้าน 6,889 ล้านบาท เติบโต 21% วิทยุ 1,640 ล้านบาท เติบโต 9% สื่อในโรงภาพยนตร์ 1,181 ล้านบาท ลดลง 6% (ปี 2566 สื่อในโรงภาพยนตร์มีการปรับลดราคาโฆษณา หรือ Rate Card) หนังสือพิมพ์ 1,005 ล้านบาท ลดลง 11% นิตยสาร 297 ล้านบาท เติบโต 297%

หั่นเป้างบโฆษณาโตต่ำ 2.5%  เหตุการเมืองกลับตาลปัตร-ปัจจัยลบอ่วม ทั้งนี้ หมวดอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณใช้จ่ายงบโฆษณา “ลดลง” ในปีนี้ล้วนเป็นเจ้าบุญทุ่มและธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มยานยนต์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ การสื่อสาร โทรคมนาคม ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะบิ๊กโมเดิร์นเทรด รวมถึงอีคอมเมิร์ซ (Shopee Lazada) หน่วยงานภาครัฐ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ใช้จ่ายเงินอันดับต้นๆ โดยภาพรวมที่ผ่านมางบโฆษณาจากหน่วยงานภาครัฐมีสัดส่วน 3-5% จากผู้ใช้งบโฆษณา (advertiser) นับหมื่นราย

ทว่า หลังการมีรัฐบาลใหม่ อุตสาหกรรมโฆษณามีความหวังจะเห็นภาครัฐใช้จ่ายงบเพิ่มเติม เพราะจะมีการโปรโมตผลงานต่างๆ นอกจากนี้ การใช้จ่ายงบโฆษณาช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาส 4 คาดหวังจะเห็นอัตราการเติบโต 4.8% ปลุกความคึกคักส่งท้ายปีด้วย

อย่างไรก็ตาม หากการเมืองเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด เช่น ผู้นำรัฐบาลบริหารประเทศได้ไม่นาน มองว่าอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาจะ “พัง” เพราะนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างๆ ให้เติบโตไม่สามารถทำได้ ไม่เกิดการสานต่อ ไร้การผันเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กำลังซื้อผู้บริโภคหาย แบรนด์หั่นงบโฆษณา แล้วไปเปย์เงินทำโปรโมชั่น ลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายหน้าร้านแทน