‘ดุสิตธานี’ ชูวิถีพึ่งพาอาศัย พลังภายในเปลี่ยนองค์กรแบบออร์แกนิกยั่งยืน!

‘ดุสิตธานี’ ชูวิถีพึ่งพาอาศัย พลังภายในเปลี่ยนองค์กรแบบออร์แกนิกยั่งยืน!

รายการ SUITS Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจ ของ 'กรุงเทพธุรกิจ' เจาะลึกปรัชญาและแนวคิดการทำธุรกิจของ 'ศิรเดช โทณวณิก' รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจโรงแรม บมจ. ดุสิตธานี ทายาทรุ่นที่ 3 ของ 'กลุ่มดุสิตธานี' ซึ่งก่อตั้งมากว่า 75 ปี ตั้งแต่ปี 2491 โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย

ถึงกลยุทธ์ Business Transformation” สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ธุรกิจในบริบท “โลกยุคใหม่” เฝ้าฝันถึงการสร้างความยั่งยืนและเติบโตร่วมกัน

จุดเริ่มต้นของทั้งหมดนั้น ย่อมต้องมาจากพลังภายใน “เราจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร?” คือสิ่งแรกที่ ศิรเดช ได้เรียนรู้จาก ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานี ซีอีโอนอกสายเลือดผู้ก้าวเข้ามานำทัพบริหารช่วงรอยต่อระหว่างทายาทรุ่นที่ 2 เชื่อมรุ่นที่ 3 คอยรับฟังและสอนเรื่องการเป็น “ผู้นำที่ดี”

“มีคำพูดว่า Culture Eats Strategy For Breakfast แม้จะมีกลยุทธ์ดีๆ มากมายให้เลือกเดิน แต่ถ้าไม่มีวัฒนธรรมองค์กรมาช่วยเสริม องค์กรก็ไม่สามารถวิ่งต่อไปถึงจุดหมายได้”

นอกจากนี้ กลุ่มดุสิตธานีต้องเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Agility) ตอบสนองได้เร็ว อย่างวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ถ้าไม่เปลี่ยนตัวเอง กลุ่มดุสิตธานีก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ขณะเดียวกันต้องมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) อย่างมากในการหาไอเดียใหม่ๆ นำไปสู่ “การกระจายความเสี่ยง” (Diversify) หนึ่งใน 3 กลยุทธ์หลักของกลุ่มดุสิตธานี ร่วมกับการขยายการเติบโต (Expand) การสร้างสมดุล (Balance)

‘ดุสิตธานี’ ชูวิถีพึ่งพาอาศัย พลังภายในเปลี่ยนองค์กรแบบออร์แกนิกยั่งยืน!

ศุภจี ได้เข้ามาช่วยกระจายความหลากหลายของธุรกิจ ไม่ได้โฟกัสแค่กลุ่มธุรกิจโรงแรมอย่างเดียว โดยปัจจุบันมีโรงแรมภายใต้การบริหารจัดการรวมเป็น 52 แห่ง และเมื่อนับรวมการบริหารจัดการและให้เช่าวิลล่าหรูภายใต้แบรนด์ “อีลิธ เฮเวนส์” (Elite Havens) ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2566 กลุ่มดุสิตธานีมีโรงแรมและวิลล่าภายใต้การบริหารจัดการรวม 282 แห่ง คิดเป็นห้องพัก 12,080 ห้อง กระจายใน 18 ประเทศ แต่ยังต้องมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ มาเสริม!

สำหรับกลุ่มธุรกิจการศึกษาที่มีอยู่แล้ว ล่าสุดได้ขยายธุรกิจด้วยการเปิด “เดอะ ฟู้ด สคูล แบงค็อก” (The Food School Bangkok) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มดุสิตธานีกับพันธมิตรโรงเรียนชั้นนำ ได้แก่ ALMA, TSUJI และ Dusit Thani College จากประเทศอิตาลี ญี่ปุ่น และไทย เปิดตัวไปเมื่อเดือน ก.ย. 2565 ตั้งอยู่ในโครงการ BLOCK 28 จุฬาฯ ซอย 5

หนึ่งในที่มาที่ไปของการก่อตั้งโรงเรียนสอนประกอบอาหารแห่งนี้ นอกจากหมุดหมายพัฒนาวงการอาหารซึ่งขับเคลื่อนด้วยเรื่องเล่าแล้ว ยังต้องการสนับสนุนมิติความยั่งยืนด้านอาหาร สร้างคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักว่าพวกเขาคือส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เติมความยั่งยืนแก่ “ห่วงโซ่อาหาร” ได้! ไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่รวมถึงบ้านเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

นอกจากนี้ กลุ่มดุสิตธานียังได้รุกเพิ่มกลุ่มธุรกิจอาหาร “ดุสิตฟู้ดส์” และกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไฮไลต์คือโปรเจกต์มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่ร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่าโครงการ 4.6 หมื่นล้านบาท

‘ดุสิตธานี’ ชูวิถีพึ่งพาอาศัย พลังภายในเปลี่ยนองค์กรแบบออร์แกนิกยั่งยืน!

เมื่อกระจายความหลากหลายแล้ว สิ่งสำคัญคือแต่ละกลุ่มธุรกิจต้องโตด้วยตัวเองได้ และสามารถสร้าง “พลังร่วม” (Synergy) สนับสนุนกัน นี่คือสิ่งที่ ศิรเดช ได้เรียนรู้จากแม่ทัพใหญ่ ศุภจี

“เวลามีคนมาร่วมงานกับองค์กร ผมจะบอกว่า Welcome To Dusit Family เพราะสำหรับผม พวกเราทุกคนคือครอบครัวดุสิตฯ และมองว่าการเติบโตที่ดีไม่ใช่แค่เฉพาะองค์กร แต่หมายรวมถึงคนภายในองค์กรด้วย”

‘ดุสิตธานี’ ชูวิถีพึ่งพาอาศัย พลังภายในเปลี่ยนองค์กรแบบออร์แกนิกยั่งยืน!

และ “ภารกิจสำคัญ” ของ ศิรเดช ไม่ใช่การนำพาองค์กรโตคนเดียว แต่ต้องทำให้คนอื่นโตไปด้วยกัน นั่นคือสิ่งสวยงามและตอบโจทย์ “ความยั่งยืน” ในแบบฉบับของกลุ่มดุสิตธานี!

อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เครือดุสิตธานีในฐานะแบรนด์โรงแรมสัญชาติไทย มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องข้าวว่า “ข้าวทุกเมล็ดที่เราเสิร์ฟในโรงแรมเครือดุสิตฯ ต้องเป็นออร์แกนิกทั้งหมด” และไม่ใช่แค่สำหรับแขกอย่างเดียว แต่รวมถึงพนักงานหลังบ้านด้วย เริ่มจากโรงแรมทุกแห่งในไทยเป็นเฟสแรก เข้าไปคุยกับชาวนาโดยตรงว่าจะขอซื้อข้าวกี่ตันต่อปี ไม่ผ่านคนกลาง พร้อมทำเป็นแผนงานสื่อสาร 2 ทางร่วมกับชาวนา จากนั้นเฟส 2 เตรียมต่อยอดนโยบายนี้ไปใช้กับโรงแรมเครือดุสิตธานีทั่วโลก

“สิ่งสำคัญที่สุดในการทำ Business Transformation คือการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management) ถ้าเราจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เราเปลี่ยนแค่ส่วนให้บริการแขกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเปลี่ยนหลังบ้านด้วย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนหน้าบ้านอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนให้หมด ถึงจะตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน”

และในมุมมองของ ศิรเดช สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนหลังบ้านก่อน ทีมงานทุกคนถึงจะรู้สึกว่านี่คือ “ความเปลี่ยนแปลง” (Change) ที่เป็น “ออร์แกนิก” จริงๆ ไม่ใช่การทำเพื่อหน้าตาหรือมาร์เก็ตติง ยกตัวอย่างสิ่งที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน กำลังทำ มีการปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ ให้พนักงานบริโภคก่อน ก่อนที่จะทำให้แขกด้วยซ้ำ

‘ดุสิตธานี’ ชูวิถีพึ่งพาอาศัย พลังภายในเปลี่ยนองค์กรแบบออร์แกนิกยั่งยืน!

อีกหนึ่งแนวทางการทำโรงแรมของเครือดุสิตธานี คือการปั้นแบรนด์โรงแรมน้องใหม่ “อาศัย” (ASAI) ของเครือดุสิตธานี เป็นโรงแรมแนวไลฟ์สไตล์ ไม่ใช่แนวลักชัวรี เพื่อเสิร์ฟคำว่า “คอมมูนิตี้” (Community) ให้ทุกคนสามารถเข้าถึง ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการสร้างความร่วมมือ (Collaboration) กับเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ โรงแรมแบรนด์อาศัย

“ชื่อแบรนด์ อาศัย ที่เราตั้งขึ้นมา นอกจากความหมายตรงตัวเหมือนคำว่า ที่อยู่อาศัย ทำโรงแรมให้ผู้เข้าพักรู้สึกเหมือนอยู่บ้านตัวเองแล้ว เรายังชูอีกหนึ่งความหมาย นั่นคือคำว่า พึ่งพาอาศัย เหมือนเป็น Neighborhood Hotel หรือโรงแรมที่มีความเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มาอยู่แค่ในโรงแรมอย่างเดียว แต่สามารถไปเที่ยวชมเพื่อนบ้านได้ด้วย”

‘ดุสิตธานี’ ชูวิถีพึ่งพาอาศัย พลังภายในเปลี่ยนองค์กรแบบออร์แกนิกยั่งยืน!

“โลเกชัน” ของโรงแรมแบรนด์อาศัยในแต่ละจุดจึงอัดแน่นด้วย “อัตลักษณ์” (Identity) และความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นแห่งแรก “อาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์” จำนวน 224 ห้องพัก ในย่านเยาวราช ทำเลที่มีสไตล์จัดชัดเจน เมื่อก่อนคนมาเที่ยวเมืองไทยอาจชื่นชอบการชอปปิง ไปเที่ยววัดวาอาราม แต่ตอนนี้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป สิ่งแรกที่คนมาเที่ยวกรุงเทพฯนึกถึงคือการตระเวนกินอาหาร! ย่านเยาวราชซึ่งเป็นศูนย์รวมสตรีทฟู้ดตระการตาขึ้นชื่อของบ้านเรา ทั้งอาหารจีนและอาหารไทยหลากหลายแนว เปิดให้บริการตลอดวัน จึงเป็นโลเกชันที่ตอบโจทย์ความพิเศษ นี่คือเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ที่ใครก็ต้องแวะมาเยือน

‘ดุสิตธานี’ ชูวิถีพึ่งพาอาศัย พลังภายในเปลี่ยนองค์กรแบบออร์แกนิกยั่งยืน!

ล่าสุดในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีได้เปิดโรงแรม “อาศัย กรุงเทพฯ สาทร” จำนวน 106 ห้อง และโรงแรม “อาศัย เกียวโต ชิโจ” ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 114 ห้อง บนโลเกชันย่านสาทร กรุงเทพฯ และย่านชิโจ-คาราสุมะ อยู่ไม่ไกลจากตลาดนิชิกิ ใจกลางเมืองเกียวโต โอบล้อมด้วยกลิ่นอายของ “ความเป็นเพื่อนบ้าน” ที่คอยจุดประกายสไตล์การทำโรงแรมแบรนด์อาศัย อาศัยความร่วมมือและความคิดสร้างสรรค์ภายในละแวกบ้านมาอยู่ข้างในโรงแรม พร้อมเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ออกไปสัมผัสสิ่งใหม่

“ผมชอบคำว่า Collaboration ถามว่าเราทำคนเดียว ก็อาจทำได้ดี แต่ถ้าให้ถึงระดับก้าวหน้ามากกว่านั้น เราต้องการความร่วมมือจากพันธมิตร คอยซัพพอร์ตกันและกัน เพื่อที่เราจะได้โตไปด้วยกัน”

‘ดุสิตธานี’ ชูวิถีพึ่งพาอาศัย พลังภายในเปลี่ยนองค์กรแบบออร์แกนิกยั่งยืน!