‘เต่าบิน’ ลุยชูกำลัง RTD -เปิดคาเฟ่ ร่วมทุน ‘เป๊ปซี่’ บุกตลาดต่างประเทศ

‘เต่าบิน’ ลุยชูกำลัง RTD -เปิดคาเฟ่  ร่วมทุน ‘เป๊ปซี่’ บุกตลาดต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ของ “เต่าบิน” เล็งนำเมนูเครื่องดื่มยอดฮิต “เต่าทรงพลัง” เครื่องดื่มชูกำลัง RTD ลงกระป๋อง ซีนเนอร์ยีสถานีชาร์จอีวี "กิ้งก่า" เปิด "คาเฟ่" ขยายแฟรนไชส์ พร้อมบิ๊กสเต็ปโตต่างแดน ผ่านหมากรบ "ร่วมทุน" กับยักษ์น้ำดำ "เป๊ปซี่" เสริมแกร่งการโต

“เต่าบิน” เป็น ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ ที่ทำตลาดกว่า 1 ปี แต่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งแบรนด์เป็นที่รับรู้อย่างรวดเร็ว จำนวนตู้กระจายไปเสิร์ฟเครื่องดื่มสารพัดเมนูให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ยอดขายเติบโต เป็นต้น

ทว่า เต่าบิน อยู่ภายใต้ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ที่วางแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุน และมีอาณาจักรบริษัทแม่อย่าง “ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” และยังมี “ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส” ถือหุ้นเต่าบินอีกว่า 26%

ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ฉายภาพแผนธุรกิจใหม่ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคตหรือ New S-Curve ของบริษัทมีอยู่ 2 ตัวที่น่าสนใจคือ ตู้เต่าบิน” และสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรืออีวีแบรนด์ “กิ้งก่า” ที่จะเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง

‘เต่าบิน’ ลุยชูกำลัง RTD -เปิดคาเฟ่  ร่วมทุน ‘เป๊ปซี่’ บุกตลาดต่างประเทศ

เครื่องดื่มชูกำลังจาก "ตู้เต่าบิน" เตรียมลงกระป๋อง

ยุทธศาสตร์ของ “เต่าบิน” ที่จะเห็นในอนาคตอันใกล้ คือการนำเมนูเครื่องดื่มยอดฮิตอันดับ 2 อย่าง “เต่าทรงพลัง” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มชูกำลังมาสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบพร้อมดื่ม(Ready to Drink : RTD)ลงบรรจุภัณฑ์กระป๋อง

“เต่าบินมีเครื่องดื่มกว่า 300 เมนู จากเดิมมีกว่า 200 เมนูเท่านั้น แต่เมนูขายดีสุดคือเป๊ปซี่มิกซ์เป็นรสชาติต่างๆ และ"เต่าทรงพลัง" เครื่องดื่มชูกำลังยอดฮิตเป็นอันดับ 2 ตู้เต่าบินที่ติดตั้งในทำเลโรงานต่างๆ มีคนงานบริโภคทุกวัน ยอดขายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

อีกโมเดลจะเห็นการ “ซีนเนอร์ยี” กับสถานนีชาร์จรถอีวี “กิ้งก่า” ที่จะทำรูปแบบดีซี มีพื้นที่กว้างขวาง ภายในจะมี “เต่าบินคาเฟ่” ให้บริการลูกค้าแบบอัตโนมัติ ทุกอย่างบริการตัวเอง(Self-Service) ตั้งแต่การเข้าไปในร้านจะมีเคาน์เตอร์อัตโนมัติเพื่อสั่งสินค้า ระบบคิว การชำระเงิน รับสินค้า ฯ เพื่อให้ลูกค้าบริการตัวเอง ส่วน “เมนู” เครื่องดื่มจะมากกว่าตู้เต่าบิน ที่ปัจจุบันมีกว่า 300 เมนู ที่สำคัญจะมีอาหารพร้อมทาน(Read to Eat :RTE) เสิร์ฟลูกค้า เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมสำหรับเด็ก น้ำแข็งใส ชานมไข่มุก เป็นต้น

‘เต่าบิน’ ลุยชูกำลัง RTD -เปิดคาเฟ่  ร่วมทุน ‘เป๊ปซี่’ บุกตลาดต่างประเทศ เต่าบิน ค่าเฟ่ จะเปิดในสถานีชาร์จอีวีกิ้งก่า 

เต่าบิน คาเฟ่เป็นโมเดลที่ต้องการแก้ Pain Point ให้กับผู้ที่อยากเปิดร้านเครื่องดื่ม 24 ชั่วโมง(ชม.) ที่ต้องมีพนักงานดูแลตลอด 4-5 คนต่อ 1 กะ หรือราว 10 คน การเปิดร้านมีต้นทุนสูง เป็นต้น

“เต่าบิน คาเฟ่ ช่วยแก้ Pain Point ผู้ที่ต้องการบริหารร้านคาเฟ่ บริหารต้นทุนพนักงาน เพราะทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ทำให้การผสมสูตรเครื่องดื่มเป๊ะ รสชาติมีเสถียรภาพ ส่วนการลงทุนจะเบาขึ้น สร้างกำไรง่าย”

ทั้งนี้ โมเดลซีนเนอร์ยี “กิ้งก่า X เต่าบิน” นอกจากบริษัทลงทุนเอง จะขยายผ่าน “แฟรนไชส์” ด้วย เบื้องต้นการบริหารจัดการสิทธิ์แฟรนไชส์อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเป็นบริษัทใดดูแล

‘เต่าบิน’ ลุยชูกำลัง RTD -เปิดคาเฟ่  ร่วมทุน ‘เป๊ปซี่’ บุกตลาดต่างประเทศ

จากเมนูเครื่องดื่ม ตู้เต่าบินXเป๊ปซี่ ปูทางสู่การร่วมทุนลุยต่างประเทศ

ทว่า บิ๊กสเต็ป จะเห็น “เต่าบิน” ลุยกลยุทธ์ “ร่วมทุน” กับค่ายน้ำดำยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “เป๊ปซี่” เพื่อบุกตลาดตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติไปยัง “ต่างประเทศ” ต่อยอดความสำเร็จในประเทศไทย ที่ไม่เพียงนำน้ำดำ มารังสรรค์มิกซ์เป็นเมนูเครื่องดื่มใหม่ๆ สร้างความตื่นเต้นให้ผู้บริโภค การตั้งชื่อเมนูยังมีกิมมิคเติมสีสันให้เครื่องดื่มมุ้งมิ้งน่ารัก เช่น เป๊ปดี จี่ก็ว่าดี(เป๊ปซี่ น้ำเชื่อมลิ้นจี่โซดา เข้มจัดเลยพี่ (เป๊ปซี่ผสมกาแฟ) แดงอยู่ข้างเป๊ปนะคะ(ป๊ปซี่ผสมน้ำเชื่อมสละ โซดา) และเป๊ปซี่อย่าวีนบ๊วย(เป๊ปซี่ น้ำเชื่อม บ๊วย โซดา) เป็นต้น

ปัจจุบันเต่าบินคิกออฟเปิดตลาดตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติไปยังประเทศออสเตรเลีย และมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว พร้อมพัฒนาเมนูเครื่องดื่มให้เหมาะสมกับความต้องการ ตลอดจนเทรนด์ของการบริโภคแต่ละพื้นที่

“ตู้เต่าบินลุยตลาด 2 ประเทศแล้ว แต่มีคู่ค้าต่างแดนสนใจติดต่อเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งการลุยตลาดจะมีความร่วมมือกับกลุ่มน้ำดำ ซึ่งก็คือเป๊ปซี่ พาร์ทเนอร์ระดับโลกที่จะพาเราโกอินเตอร์ได้ง่ายขึ้น เพราะเป๊ปซี่เองมีพันธมิตรแต่ละประเทศแข็งแกร่งและใหญ่”

‘เต่าบิน’ ลุยชูกำลัง RTD -เปิดคาเฟ่  ร่วมทุน ‘เป๊ปซี่’ บุกตลาดต่างประเทศ

ณรงค์ศักดิ์ หยิบภาพรวมตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอลฮอล์ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 2.47 แสนล้านบาท(ไม่รวมหมวดน้ำดื่มบรรจุขวดมูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท)แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่มช็อกโกแลต 6 หมื่นล้านบาท เครื่องดื่มอัดก๊าซ 6.2 หมื่นล้านบาท(น้ำอัดลมและโซดา) กาแฟ 6 หมื่นล้านบาท เครื่องดื่มชูกำลัง 2 หมื่นล้านบาท ชาพร้อมดื่ม 1.3 หมื่นล้านบาท อื่นๆ 3.2 หมื่นล้านบาท

ตามเป้าหมายปี 2567 บริษัทต้องการมีตู้เต่าบิน 2 หมื่นจุดทั่วประเทศ และมีรายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาท หากทำได้บริษัทจะมีส่วนแบ่งตลาด 4% ในหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์