สำรวจผลงานธุรกิจ “ร้านอาหาร” บิ๊กแบรนด์ยกทัพฟื้นตัวคึกคัก!

สำรวจผลงานธุรกิจ “ร้านอาหาร”  บิ๊กแบรนด์ยกทัพฟื้นตัวคึกคัก!

สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารดีวันดีคืน เพราะนับจากโควิด-19 คลี่คลาย ผู้คนได้ออกมาปลดปล่อยไลฟ์สไตล์ ใช้ชีวิตนอกบ้าน เที่ยว กิน ดื่มกันเต็มที่ หนุนการนั่งทานอาหารที่ร้านหรือ Dine-in คึกคัก แต่อีกด้าน “เดลิเวอรี” เห็นการลดความร้อนแรงลงค่อนข้างมาก

กรุงเทพธุรกิจ ชวนตามไปดูผลการดำเนินงานธุรกิจร้านอาหารครึ่งปีแรก ยักษ์เล็กยักษ์ใหญ่ ใครโตมากโตน้อย แบรนด์ไหนยังครองใจกลุ่มเป้าหมายกันบ้าง

  • “เอ็มเค สุกี้” ยืนหนึ่งทำเงินสูงสุด

เริ่มจากบิ๊กแบรนด์​ “เอ็มเค” ร้านสุกี้เบอร์ 1 ของเมืองไทยภายใต้อาณาจักร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) สร้างรายได้จากการขายไตรมาส 2 ที่ 4,435 ล้านบาท เติบโต 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 459 ล้านบาท เติบโต 4.5% ทำให้ภาพรวม 6 เดือนแรกบริษัททำเงิน 8,524 ล้านบาท เติบโต 13.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เอ็มเค เรสโตรองต์ มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอจำนวนมาก เมื่อแยกศักยภาพการทำเงิน เอ็มเคสุกี้ยังนำโด่ง สัดส่วน 75% ตามด้วยยาโยอิ 18% แหลมเจริญ 6% และอื่นๆ 1% สำหรับการขายนั้น บริการนั่งทานในร้านหรือ Dine-in ฟื้นตัวถ้วนหน้า โดยครึ่งปีแรกการนั่งทานในร้านสัดส่วน 85% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 77% ที่เหลือเป็นซื่อกลับบ้าน(Take-Away) 6% และเดลิเวอรี 9%

แม้ภาพรวมยอดขายและกำไรจะเติบโต แต่สิ่งที่ขยับขึ้นเป็นเงาตามตัวคือ “ต้นทุน” ซึ่งครึ่งปีแรกค่าใช้จ่ายต่างๆของบริษัทอยู่ที่ 4,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยค่าใช้จ่ายพนักงานสักส่วนมากสุด 51% ที่เหลือเป็นการหักค่าเสื่อมราคา ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค

สำรวจผลงานธุรกิจ “ร้านอาหาร”  บิ๊กแบรนด์ยกทัพฟื้นตัวคึกคัก!

  • “ไมเนอร์ ฟู้ด” ครึ่งปีอู้ฟู่กว่า 15,000 ล้านบาท

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) มีธุรกิจโรงแรมเป็นหัวใจสำคัญ แต่ภายใต้เครือยังมีธุรกิจอาหารสารพัดแบรนด์ดัง เช่น เดอะ พิซซ่า คัมปะนี, เบอร์เกอร์คิง, ซิซซ์เลอร์, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, เดอะ คอฟฟี่ คลับฯ ซึ่งมีร้านรวมแล้ว 2,581 สาขาให้บริการ แบ่งเป็นร้านที่ลงทุนเอง 1,300 สาขา หรือราว 50% และแฟรนไชส์ 1,281 สาขา ซึ่งในไทยยังมีร้านให้บริการสัดส่วนมากสุด 1,943 สาขา และต่างประเทศ 638 สาขา ครอบคลุมตลาด 22 ประเทศ ในเอเชีย โอเขียเนีย ตะวันออกลาง ยุโรป เม็กซิโก และประเทศแคนาดา

ธุรกิจอาหารถูกเคลื่อนผ่าน บริษัท  เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด และทำเงินสัดส่วน 21% ของทั้งกลุ่มไมเนอร์ ฯ(MINT) ซึ่งทำรายได้รวมครึ่งปี 2566 อยู่ที่ 73,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ธุรกิจอาหารมีรายได้รวมไตรมาส 2 อยู่ที่ 7,715 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และรายได้รวมครึ่งปีแรกอยู่ที่ 15,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อแบ่งเป็นยอดขายของร้านทุกสาขารวมกับแฟรนไชส์ ไตรมาส 2 ทำเงินเติบโต 17.5% โดยยอดขายจากร้านเดิม(Same-Store-Sales)เติบโต 8.1% ขณะที่ 6 เดือนแรก บริษัททำเงินเติบโต 18.7% และยอดขายร้านเดิมโต 6%

  • “ซีอาร์จี” ต้นทุนวัตถุดิบแพง-ค่าไฟพุ่ง ฉุดกำไร

อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารอย่าง บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดหรือซีอาร์จี ในเครือของโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ผลงานธุรกิจร้านอาหารเติบโตไม่แพ้ใคร ซึ่งไตรมาส 2 สร้างรายได้จากการขาย 3,166 ล้านบาท เติบโต 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 135 ล้านบาท หดตัวลง 2% ด้านยอดขายสาขาเดิมยังคงเติบโต 5% เพราะการนั่งทานที่ร้านฟื้นตัว ส่วนเดลิเวอรีแผ่วลงไม่แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น ส่วนกำไรที่ลดลง เพราะ “ต้นทุนวัตถุดิบ” เพิ่มขึ้น และค่าไฟฟ้าที่พุ่งแรงมาก

สำรวจผลงานธุรกิจ “ร้านอาหาร”  บิ๊กแบรนด์ยกทัพฟื้นตัวคึกคัก! ผ่าน 6 เดือนแรก ซีอาร์จี มีร้านอาหารเปิดให้บริการทั้งสิ้น 1,590 สาขา เพิ่มขึ้น 78 สาขาเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบรนด์หัวหอกที่เปิดสาขาเพิ่มคือ อาริกาโตะ 36 สาขา เคเอฟซี 19 สาขา อานตี้ แอนส์ 12 สาขา และมิสเตอร์ โดนัท 10%

สำหรับครึ่งปีแรก บริษัทสร้างรายได้จากการขาย 6,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิ 226 ล้านบาท หดตัว 7%

  • “เอสแอนด์พี” ทุบสถิติทำกำไร 6 เดือน สูงสุดรอบ 7 ปี

ยืนหนึ่งในตลาดอาหารและเบเกอรีมา 5 ทศวรรษ และยังเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อสำหรับบริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) ขณะที่ผลงานครึ่งปีแรกบริษัทสร้างยอดขาย 2,892 ล้านบาท เติบโต 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 194 ล้านบาท เติบโต 14% โดยกำไรครึ่งปีแรกยังทุบสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี เมื่อแบ่งยอดขาย การรับประทานที่ร้านไตรมาส 2 เติบโต 56% และครึ่งปีโตถึง 59% โดยเฉาะสาขาในห้างค้าปลีก และโรงพยาบาล ส่วนการซื้อกลับบ้านเติบโต 7% ด้านเดลิเวอรี่ค่อนข้างแผ่วและสัดส่วนการทำเงินลดลง

สำหรับโจทย์ท้าทายครึ่งปีหลัง ยังเป็น “ต้นทุน” โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น หากรัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ใช่แค่เอสแอนด์พีที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นภาคธุรกิจโดยรวมทั้งประเทศ

สำรวจผลงานธุรกิจ “ร้านอาหาร”  บิ๊กแบรนด์ยกทัพฟื้นตัวคึกคัก!

  • เดลิเวอรีแผ่ว ยอดขายหดตัว 32%

บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) มีร้านอาหารหลายแบรนด์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อากะ(AKA) เซ็น เรสเตอรองส์ ออน เดอะ เทเบิล และเขียง ฯ ซึ่งมีร้านให้บริการทั้งสิ้น 327 สาขา( มิ.ย.66)เป็นร้านที่บริษัทเป็นเจ้าของ 157 สาขา และแฟรนไชส์ 170 สาขา

ผลงานไตรมาส 2 บริษัทสร้างรายได้จากการขายและบริการ 961 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% และกำไรสุทธิ 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อรวมผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ทำรายได้จากการขายและบริการ 1,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิ 88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54%

เคลื่อนธุรกิจผ่านครึ่งทางของปี 2566 บริษัทมีการเปิดร้านอาหารใหม่ 15 สาขา ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภค กลับมาทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น รวมถึงบริษัทมีการปรับภาพลักษณ์แบรนด์และทำการตลาดต่างๆ ส่งผลให้รายได้จากการนั่งทานที่ร้าน 6 เดือนแรกเติบโตถึง 31% อีกด้านเดลิเวอรีแผ่วลงเห็นได้ชัด เพราะรายได้ “หดตัว” 32%

 เซ็นฯ เป็นอีกบริษัทที่แบกรับต้นทุนเพิ่ม ซึ่งภาพรวมค่าใช้จ่ายครึ่งปีขยับขึ้นเป็น 481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดยวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากทั้งค่าเช่าบริการ ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มตามจำนวนสาขาที่เปิด เป็นต้น

  • อาฟเตอร์ ยู เบ่งอาณาจักรขนมหวาน

ส่วนร้านขนมหวานพันล้านอย่าง บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด(มหาชน) ทำผลงานไตรมาส 2 ปี 2566 สร้างรายได้จากการขาย 299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 2566 สร้างรายได้จากการขาย 563 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สำรวจผลงานธุรกิจ “ร้านอาหาร”  บิ๊กแบรนด์ยกทัพฟื้นตัวคึกคัก! เส้นทาง 16 ปีของ “อาฟเตอร์ ยู” ยังเดินหน้าขยายอาณาจักรร้านขนมหวานและคาเฟ่ เพราะล่าสุด เมย์ กุลพัชร กนกวัฒนาวรรณ ควงพันธมิตรนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง ทั้งเจ้าของร้าน “โรงกลั่นเนื้อ” ร้านกาแฟ “PRIDI” มาลงขันเปิดร้านกาแฟแบรนด์ใหม่ “Song Wat Coffee Roaster” หรือ SCR ที่ยึดพื้นที่ย่าน “ทรงวาด” และอนาคตจะเห็นการเปิดร้านเพิ่มด้วย ส่วนแบรนด์อื่นๆในพอร์ตของ “เศรษฐีอายุน้อยพันล้าน” ยังขยายร้านอาฟเตอร์ ยูทั้งในและต่างประเทศ เปิดร้านผลไม้ลูกก๊อ ร้านกาแฟมิกก้า ผ่านแฟรนไชส์ตามแผน