เปิดประวัติ “เพชร โอสถานุเคราะห์” เพียงชายคนนี้(ไม่ใช่ผู้วิเศษ)

เปิดประวัติ “เพชร โอสถานุเคราะห์” เพียงชายคนนี้(ไม่ใช่ผู้วิเศษ)

การสูญเสีย “เพชร โอสถานุเคราะห์” ในวัย 69 ปี สร้างความอาลัยให้กับแวดวงการศึกษา ศิลปะ และภาคธุรกิจไม่น้อย กรุงเทพธุรกิจ นำประวัติ เส้นทางการขับเคลื่อนธุรกิจ การสะสมผลงานศิลปะ การทุ่มเทให้กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอีกมากมายมาบอกเล่า

เมื่อบทเพลง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” ทำให้ชื่อของ “เพชร โอสถานุเคราะห์” กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการบันเทิง แต่อีกบทบาท เขาคือ “ทายาท” องค์กรร้อยปีอย่าง “โอสถสภา” หนึ่งในยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคของเมืองไทย ที่เคลื่อนธุรกิจส่งไม้ต่อมายังเจนเนอเรชั่น 4 ซึ่งบริษัทเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย

ไม่เพียงธุรกิจ แต่ “เพชร” ยังเป็นคนสำคัญในแวดวงการศึกษา เพราะทุ่มเทสรรพกำลังเต็มที่ให้กับ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” จนกลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความคิดสร้างสรรค์ ตามแบบฉบับของ “ผู้นำ” ที่มีจุดแข็งด้านครีเอทีฟสูงมาก

เพลง ธุรกิจ การศึกษา “เพชร” ยังเป็นบุคคลที่ชื่นชอบงานศิลปะอย่างยิ่ง ผลงานมากมายถูกซื้อมาสะสม และนำมาตกแต่งในสถานที่ทำงานด้วย หรือแม้กระทั่งเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา ยังมีการหยิบวลีเด็ดของ “Peggy Guggenheim” เศรษฐีชาวอเมริกันผู้ชื่นชอบงานศิลปะอย่างมาก มาใช้โพสต์เฟซบุ๊ก ใจความว่า.. “I am not an art collector, I am a museum!”

  • เส้นทาง “เพชร” สานต่อธุรกิจครอบครัว

กรุงเทพธุรกิจ เคยสัมภาษณ์ “เพชร” แบบเอ็กซ์คลูสีพ ถึงเส้นทางการนำทัพกิจการครอบครัว จุดเริ่มต้นของการทำงานเกิดขึ้นหลังจบการศึกษาปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐ ทั้งที่ส่วนตัว “ไม่ชอบเรียนบริหารเลย” เพราะขณะนั้นยังมองไม่เห็นประโยชน์จากสาขาดังกล่าว แต่ตัดสินใจเรียนตามคำสั่งของมารดา

เปิดประวัติ “เพชร โอสถานุเคราะห์” เพียงชายคนนี้(ไม่ใช่ผู้วิเศษ)

เพชร โอสถานุเคราะห์ กับผลงานศิลปะที่สะสมไว้ 

โดยทันทีที่จบการศึกษาได้กลับมาช่วยธุรกิจครอบในปี 2520 ขึ้นตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ขนาบข้างบิดาที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และเริ่มเห็นประโยชน์จากการเรียนบริหารธุรกิจมากขึ้น

แม้ทำงานใกล้ชิดบิดา แต่ด้วยบุคคลิกของพ่อที่พูดน้อย จึงสอนทายาทบริหารธุรกิจน้อยมาก ทำให้ต้องใช้วิชาครูพักลักจำอย่างแม่นยำ

“พ่อบอกว่าเวลาคิดให้คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก เพราะใช้เวลาเปิดสมองเท่ากัน คิดเรื่องเล็กทั้งวัน มันก็จะเล็ก เลยให้ Think Big รวมถึงการลงมือปฏิบัติ ซึ่งท่านไม่เคยหยุดนิ่ง คิดเรื่องธุรกิจตลอดเวลา ทำให้เห็นถึงการเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneur)จริงๆ”

การบริหารธุรกิจช่วงสั้นๆ “เพชร” ยังได้กุนซืออย่าง “มานิต รัตนสุวรรณ” มาลับคม ถ่ายทอดวิชาการทำธุรกิจการตลาดให้

ผ่านไป 5 ปี “เพชร” ตัดสินใจไปสร้างอาณาจักรธุรกิจโฆษณาเป็นของตัวเองภายใต้ชื่อ “สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง

  • ทายาทรุ่น 4 พลิกโอสถสภา

โอสถสภา ปัจจุบันคือองค์กร 132 ปี จากรุ่นแรกจวบจนวันนี้ ทายาทรุ่น 4 ทำหน้าที่สานต่อธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“เพชร” มีกัน 2 พี่น้องกับ “รัตน์ โอสถานุเคราะห์” หรือเรียกได้ว่าทั้งคู่เป็นทายาทโดยตรงของ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” ในเจนเนอเรชั่นที่ 3 นั่นเอง

ในการขับเคลื่อนธุรกิจช่วงเปลี่ยนผ่านเจนเนอเรชั่น “รัตน์” ผู้เป็นน้องรับบาทบาทดูแลกิจการเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ “เพชร” เลือกจะกุมบังเหียนธุรกิจการศึกษา ทว่า จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อ น้องชายสุขภาพไม่ดี และขอลดบทบาทในการเป็นผู้บริหาร ทำให้ “เพชร” ต้องเข้ามาคุมทัพธุรกิจเอง

การเปลี่ยนแปลงใหญ่ยังเกิดขึ้น เมื่อโอสถสภา ตัดสินใจทรานส์ฟอร์ม “ธุรกิจครอบครัว” นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พลิดโฉมเป็น “มหาชน” และเปิดพื้นที่ให้คนนอก “มืออาชีพ” มาทำหน้าที่บริหารธุรกิจแทน ซึ่งจังหวะเวลานี้เป็น “ความยาก” อย่างยิ่ง เพราะต้องจูงใจคนในครอบครัวให้เห็นพ้องต้องกัน รวมเวลาที่หารือภายในครอบครัวกินเวลาถึง 2 ปี

  • ล้างมืออ่างทองคำ

หลัง โอสถสภา เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มืออาชีพบริหารธุรกิจ เคลื่อนองค์กรเต็มสูบ ทำให้กลางปี 2563 การส่งสัญญาณถอย! จากเก้าอี้บริหารชัดขึ้น เมื่อ “เพชร" ลาออกจากตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อส่งไม้ต่อให้ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” หญิงแกร่งแห่งวงการธุรกิจ และ “ธนา ไชยประสิทธิ์” หนึ่งในทายาทรุ่น 4 ทำงานเคียงคู่องค์กรมานานกว่า 3 ทศวรรษดูแล

เปิดประวัติ “เพชร โอสถานุเคราะห์” เพียงชายคนนี้(ไม่ใช่ผู้วิเศษ)

ผลงานศิลปะ "แมวดำ" ที่ตั้งไว้ ณ อาคารหมายเลข ๕ โอสถสภา(ปี 62)

การเปลี่ยนแปลงยังเกิดต่อเนื่อง เมื่อ “เพชร” เทขายทิ้งพอร์ตหุ้นธุรกิจ เพื่อไปลุยทำในสิ่งที่ตนเองลุ่มหลง(Passion)แทน สะท้อนภาพการวางมือบริหารในอ่างทองคำ เพราะโอสถสภา ถือเป็นองค์กรหมื่นล้าน!

  • ซีอีโอสุดครีเอทีฟ

อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์ในครั้งนั้น “เพชร” ยังเล่าให้ กรุงเทพธุรกิจฟังว่ามุมหนึ่งของตนเองคือมนุษย์สายพันธุ์คิดสร้างสรรค์(Creative) เป็น “จุดแข็ง” ที่อยู่ในตัวของนักบริหารเช่นเขา รวมถึงการคิดกรอบนอกตลอดเวลา ทำให้สร้างแรงบันดาลใจ ผลักดัน สร้างความท้าทายให้ทีมงาน คิดเกมกลยุทธ์การทำตลาดแตกต่างจากคู่แข่ง

ในมุม “ศิลปิน” เขาขึ้นชื่อว่าเป็น Perfectionist จะมีการแต่งเพลงและออกอัลบั้มทุก 20 ปี นอกจากนี้ ยังมี “นิยาย” ที่ถูกแต่งทิ้งไว้อีกกว่า 10 เรื่อง เป็นนักสะสมผลงานศิลปะตัวยง มีผลงานเก็บไว้ร่วมร้อยชิ้น

“การสวมบทแม่ทัพโอสถสภา ทำให้ต้องลดความทะเยอทะยาน ปล่อยวางความชอบส่วนตัวในการเป็นศิลปิน นักแต่งเพลง นักเขียนไปมาก”

เนื่องจากทำหลายอย่าง ที่ผ่านมา “เพชร” เชื่อว่าตนเองเป็น CEO ที่ชิลล์ ที่สุดในประเทศไทย เพราะมี “ลูกน้องเก่ง” การมีแม่ทัพ นายกองเคลื่อนองค์กรร้อยปี เพื่อสานเป้าหมายใหญ่ให้โอสถสภาก้าวสู่ “ยักษ์ใหญ่คอนซูเมอร์ที่ดีสุดในภูมิภาคอาเซียน" และขยับไปเอเชียได้ (เป้าหมายธุรกิจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2562)