‘ฮายัท กรุ๊ป’ ปักหมุดไทยลงทุนรง.กระดาษชำระ วางรากฐานรุกสินค้าอุปโภคบริโภค

‘ฮายัท กรุ๊ป’ ปักหมุดไทยลงทุนรง.กระดาษชำระ วางรากฐานรุกสินค้าอุปโภคบริโภค

ช่วงโควิด-19 ระบาด ทุนใหญ่จากตุรกีอย่าง “ฮายัท กรุ๊ป” เข้ามาขยายธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG)ในเอเชียแปซิฟิก รองรับตลาดใหญ่ การบริโภคเติบโต ประชากรอำนาจซื้อสูงและเศรษฐกิจ(จีดีพี)อยู่ช่วงขาขึ้น เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นในโลก เช่น ยุโรป ที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ 3 ประเทศที่ “ฮายัท กรุ๊ป” นำสินค้ามาทำตลาดได้แก่ เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย ที่สำคัญระดมเงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,600 ล้านบาท สร้างฐานผลิตผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กแบรนด์ “โมลฟิกซ์”(Molfix) ในเวียดนาม เพื่อป้อนประเทศในอาเซียน

ปลายปี 2564 “โมลฟิกซ์” เปิดตัวผ้าอ้อมเด็กเจาะตลาดประเทศไทย ผ่านไป 1 ปีครึ่ง สามารถก้าวเป็นเบอร์ 3 ของตลาด ด้วยส่วนแบ่งตลาด 6% และการรับรู้แบรนด์(Brand Awareness)ได้คะแนน 83%

สเต็ปต่อไปของ “ฮายัท กรุ๊ป” คือการเบ่งพอร์ตโฟลิโอสินค้าจำเป็นให้เติบโต พร้อม “ลงทุน” ต่อเนื่องด้วยงบก้อนโต ซึ่ง เอมเร่ เซน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮายัท ไฮจีนิค โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแนวทางขับเคลื่อนตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในอาเซียน เตรียมงบลงทุนอีก 150 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานการผลิตกระดาษชำระหรือทิชชู่ เบื้องต้นพิจารณา “ไทย” หรือ “เวียดนาม” เป็นฐานผลิต

โดยสัปดาห์นี้ จะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ นอกเหนือจากการพิจารณาต้นทุนพลังงาน ค่าแรงต่างๆ หากได้ข้อสรุปบริษัทเล็ง “ชลบุรี” เพื่อสร้างโรงงาน

‘ฮายัท กรุ๊ป’ ปักหมุดไทยลงทุนรง.กระดาษชำระ วางรากฐานรุกสินค้าอุปโภคบริโภค แบรนด์ผลิตภัณฑ์กระดาษชำระจาก ฮายัท กรุ๊ป

“ตอนเลือกลงทุนผลิตผ้าอ้อมเด็กที่เวียดนามเราพิจารณาความเหมาะสม ส่วนประเทศไทยมองว่าเหมาะกับการผลิตกระดาษชำระ ซึ่งเราจะมีการหารือกับบีโอไอ เพื่อประกอบการตัดสินใจภายในสิ้นปีนี้

“ฮายัท กรุ๊ป” มีสินค้าอุปโภคบริโภค 6 หมวด ได้แก่ ผ้าอ้อมสำหรับเด็ก ผ้าอนามัย สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน กระดาษชำระ และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งการบุกเอเชียแปซิฟิกมาจาก 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1.นโยบายบริษัท 2.ขนาดตลาด กำลังซื้อประชากร ส่งผลต่อการเติบโต และ 3.ความสามารถในการทำ “กำไร”

“ตลาดเอเชียแปซิฟิก มีการเติบโต ทั้งจีดีพี กำลังซื้อ โดยตลาดสินค้าจำเป็นโตเร็วเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นในโลก ขณะที่การทำตลาดผ้าอ้อมสำหรับเด็ก ไทยมีการเติบโตสูง และแนวโน้มตลาด FMCG ของไทยสดใสเมื่อเทียบกับเวียดนามและมาเลเซีย เพราะผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อสูง

‘ฮายัท กรุ๊ป’ ปักหมุดไทยลงทุนรง.กระดาษชำระ วางรากฐานรุกสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัท

ล่าสุด บริษัทเปิดตัวผ้าอนามัยแบรนด์ “โมลเพด”(molped) ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งจากประชากร 69 ล้านคน เป็นผู้หญิงอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี จำนวน 16 ล้านคน ขณะที่ช่วงเวลาการมีประจำเดือนเฉลี่ย 5-7 วัน จะใช้ผ้าอนามัยเฉลี่ย 3-10 ชิ้นต่อวัน ส่งผลต่อมูลค่าตลาดผ้าอนามัยอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ย 4%(ที่มา : นีลเส็น-ยูโรมอนิเตอร์)

จุดเด่นของผ้าอนามัย “โมลเพด” ผลิตเพื่อผู้หญิงไทยโดยเฉพาะ มุ่งแก้ปัญหาหรือ Pain Point รอบด้าน หลังศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึก(Insight) 1,500 คน พบว่าสิ่งที่เจอส่วนใหญ่คือปัญหากลิ่นอับ ความอับชื้น การแพ้ผ้าอนามัย จนเกิดผื่นคัน ปีกผ้าอนามัยไม่นุ่ม มีการระคายเคือง และเกิดการรั่วซึมด้านข้าง ส่วนแบบกลางคืนมีการซึมเปื้อนด้านหลัง พร้อมชูวัตถุดิบฝ้าย “ออร์แกนิก” เป็นต้น

ส่วนการตั้ง “ราคา” อยู่ในช่วงเดียวกับ “ผู้นำตลาด”(แบรนด์โซฟี) ขณะที่ตลาดผ้าอนามัยมีผู้เล่นสำคัญ ได้แก่ Wensday และ ira เซ็กเมนต์พรีเมียม, โมลเพด โซฟี เซ็กเมนต์พรีเมียมแมส และลอรีเอะ โมเดส แซนนิต้า และเอลิส เซ็กเมนต์ทั่วไปหรือแมส

‘ฮายัท กรุ๊ป’ ปักหมุดไทยลงทุนรง.กระดาษชำระ วางรากฐานรุกสินค้าอุปโภคบริโภค บุกตลาดผ้าอนามัย สินค้าหมวดที่ 2 ต่อจากผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็ก

แนวทางการทำตลาด บริษัททุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายผ่านสื่อ 360 องศา โดย 55 ล้านบาทหรือราว 35% ทุ่มให้การโฆษณาทางทีวี มีการแจกสินค้าตัวอย่าง ลุยกิจกรรมออนกราวด์ ออนไลน์ สร้างการรับรู้แบรนด์และสินค้า

จากแผนดังกล่าว บริษัทตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด 5% ในปีแรก และ 20% ใน 3 ปี และภายใน 5 ปี จะมีส่วนแบ่งตลาด 30% ขึ้นเป็น “เบอร์ 1” ในตลาดผ้าอนามัย

‘ฮายัท กรุ๊ป’ ปักหมุดไทยลงทุนรง.กระดาษชำระ วางรากฐานรุกสินค้าอุปโภคบริโภค น้องใหม่!โมลเพดท้าชิงตลาดผ้าอนามัย 6,000 ล้านบาท 

ฮายัท กรุ๊ป ถือเป็นทุนตุรกีรายที่ 4 มาบุกตลาดไทย บริษัทมี 46 แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ จากกลุ่มทั้งผลิตแผ่นไม้ การจัดการบริหารท่าเรือ และสินค้าอุปโภคบริโภค ฯ ปี 256 มีรายได้ 3,000 ล้านดอลลาร์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคทำรายได้ 2,200 ล้านดอลลาร์

“เราเป็นผู้ผลิตผ้าอ้อมสำหรับเด็กเบอร์ 1 ของโลก และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคครองเบอร์ 1 ในตุรกี ยุโรปตะวันออก ฯ การบุกตลาดเอเชียแปซิฟิกหวังจะเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตด้วย”