ภูมิใจที่สู้! ศาสตร์สำเร็จ “แบร์เฮาส์” ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ 'ซารต์-กานต์'

ภูมิใจที่สู้! ศาสตร์สำเร็จ “แบร์เฮาส์” ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ 'ซารต์-กานต์'

เมื่อ 2 ยูทูปเบอร์ดัง ขอลดบทบาทสร้างสรรค์คอนเทนต์เหลือ 10% เพื่อโฟกัสธุรกิจร้านชานมไข่มุก BEARHOUSE ให้เติบใหญ่สู่เวทีโลก จึงเดินหน้าทุ่มสรรพกำลังกับหน้าที่ "นักธุรกิจ" การบริหารเต็มที่ ส่อง 4 ปีแห่งความสำเร็จ เพื่อก้าวสู่สเต็ปถัดไป

ในหมู่คนรุ่นใหม่ นักธุรกิจรุ่นใหม่ และยูทูปเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ชื่อของ “ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช” หรือซารต์ และ “อรรถกร รัตนารมย์” หรือกานต์ 2 ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท 21ซันแพสชั่น จำกัด เป็นที่รักจักเป็นอย่างดี ทั้งมีชื่อติดทำเนียบผู้ที่ประสบความสำเร็จ จน Young Generation ต้องการเดินรอยตาม

“ซารต์-กานต์” ปลุกปั้นช่อง “Bearhug” เมื่อปี 2561 ตะลุยกินเที่ยว พร้อมสร้างสรรค์ให้กับแฟนๆ คนดูที่ติดตามรับชมกัน ซึ่งปัจจุบันบนแพลตฟอร์มยูทูป มีผู้ติดตามกว่า 3.86 ล้านราย และวิดีโอคอนเทนต์ 555 รายการ(ณ 5 ส.ค.66)

จุดเปลี่ยนนอกจากเป็นยูทูปเบอร์ ครีเอทคอนเทนต์จนประสบความสำเร็จ ความชื่นชอบและตระเวนกิน “ชานมไข่มุก” หลากหลายร้าน ถึงขั้นที่ทั้งคู่ระบุว่าลองชิมเยอะมาก โดยเฉพาะบินตรงไปไต้หวันหาร้านเด็ด ชิม ชิม ชม จนทำให้ฟันผุ! มาแล้ว เมื่อ Passion บริโภคชานมไข่มุกในสายเลือดถึงขั้น “กินแทนข้าวได้เลย” จึงต่อยอดนำเงินทุนจากความสำเร็จเป็นยูทูปเบอร์ สานฝันสู่การเป็น “เจ้าของธุรกิจ” ลุยเปิดร้านและสร้างแบรนด์ “แบร์เฮาส์”(BEARHOUSE) ขายชานมกันจริงจังไปเลย

เปิดร้านแรกที่สยามสแควร์ เมื่อปี 2562 แน่นอนว่าความดังของเจ้าของร้าน และชานมไข่มุกที่กำลังเป็นเทรนด์เติบโตร้อนแรง ทำให้คนเข้าคิวซื้อกันเป็นจำนวนมาก

ภูมิใจที่สู้! ศาสตร์สำเร็จ “แบร์เฮาส์” ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ \'ซารต์-กานต์\' Passion ของการชื่นชอบชานมไข่มุกสุดๆ

ผ่านไปครึ่งปีของการเปิดร้านแรก “ซารต์-กานต์” นำทัพแบร์เฮาส์โกยกำไร 6 แสนบาท ทว่า 4 ปีผ่านไป จากรายได้หลักล้าน ปี 2565 แบร์เฮาส์ทำเงินหรือสร้งยอดขายถึง 210 ล้านบาท ปัจจุบันมี 23 สาขา สิ้นปี 2566 มุ่งเป้าเปิดร้านแตะ 33 สาขา ผลักดันยอดขายโต 50%

การเติบโตต่อเนื่อง และความฝันใหม่ที่ใหญ่อยากพาแบรนด์ชานมไข่มุกสัญชาติไทย “แบร์เฮาส์” ก้าวสู่ตลาดโลก เป็นแบรนด์โลก(Global Brand) ทำให้ล่าสุด “ซารต์-กานต์” ขอลดบทบาทการเป็น “ยูทูปเบอร์” มาสวมบท “นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง” แบบเต็มตัว

“บทบาทยูทูปเบอร์ตอนนี้เหลือแค่ 10% ใข้เวลาส่วนใหญ่กับการเป็นผู้บริหาร ทำธุรกิจมากกว่า”

ทั้งนี้ การเป็นยูทูปเบอร์ถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือ safe zone ทำแล้ว “มีความสุข” หากไม่ทำตรงนั้น ก็จะเข้าออฟฟิศ เลิกงาน กลับบ้านนอน

การมุ่งเป็นนักธุรกิจเต็มตัว มีความท้าทายและต่างกันสิ้นเชิงกับยูทูปเบอร์เพราะตอนสร้างสรรค์คอนเทนต์บริหารทีมงานมากสุด 4 คน ตอนนี้ทีมใหญ่ราว 300 ชีวิต

“การเป็นนักธุรกิจ ผู้บริหารเป็นอีกการเรียนรู้ใหม่ๆของเรา”

ภูมิใจที่สู้! ศาสตร์สำเร็จ “แบร์เฮาส์” ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ \'ซารต์-กานต์\' จาก Passion สู่การลงมือทำธุรกิจร้าน BEARHOUSE

แม้แบร์เฮาส์เพิ่งเข้า 4 ขวบปี หากถามกุญแจความสำเร็จ “ซารต์-กานต์” ยกให้การติดอาวุธการตลาด โดยใช้ซีนเนอร์ยีและพลังของ Bearhug มาช่วย เพราะไม่ว่าทำคอนเทนต์ใดมักจะมีแบรนด์ร้านแบร์เฮ้าส์เข้าไปเกี่ยวข้อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์(Social Media)เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และการสร้างตัวตนทั้งคู่ให้เป็นแบรนด์หรือ Personal Brand(เช่นเดียวกับ ตัน ภาสกรนที เจ้าพ่อชาเขียว, ต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ แห่งเถ้าแก่น้อย หนึ่งในต้นแบบอายุน้อยร้อยล้าน ฯ)

การใส่ใจลูกค้าสำคัญมาก เจ้าของร้านบริโภคแบบไหนลูกค้าต้องได้แบบนั้น

“เรากินทุกวัน เราใส่ใจกับโปรดักท์มากๆ การเปิดตัวไข่มุกโมจิ เราไม่ใส่สารกันบูด ต้มสดและต้องทิ้งทุก 2 ชั่วโมง จะมีลูกค้าหรือไม่ก็ต้องทิ้ง ทั้งที่เป็นต้นทุน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นหัวใจความสำเร็จ”

นอกจากนี้ บททดสอบการเป็นยูทูปเบอร์ ซึ่งต้องเจอ “ความเห็น” หรือ Comment ทั้งด้านดีและแย่ หากภูมิต้านทานทางใจต่ำ อาจสร้างมีผลกระทบได้

“เราเจอคอมเมนต์ที่โจ่งแจ้งมากมาย ทำให้ต้องล้างอีโก้(Ego)ทิ้ง เพื่ออยู่ในวงการ ส่วนการทำธุรกิจชานม การเจอคอมเมนต์ ตลอดจน Inbox ทำให้มองเรื่องเล็กๆ นำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆได้” เขาเล่าพร้อมยกตัวอย่าง ลูกค้าสั่งเครื่องดื่มเดลิเวอรีแล้วพนักงานลืมให้หลอดไปด้วย จึงนำไปสู่ระบบเทรนนิ่งเต็มไปหมด จนถึงการตรวจสอบย้อนกลับต่างๆ

“อีกคีย์ความสำเร็จหนึ่งคือการพัฒนาตัวเอง จากการรับฟังเสียง ความต้องการของลูกค้า”

เส้นทางธุรกิจไม่ได้มีแค่ความสำเร็จ แต่บททดสอบโหดหินมีตีคู่กันมา อย่างตอนเปิดร้านแบร์เฮ้าส์แล้วเจอวิกฤติโควิด-19 ร้านที่อยู่ในห้างค้าปลีก ซึ่งต้องปิดให้บริการตามมาตรการรัฐ แต่ “พนักงานต้องมีรายได้” จึงหาพื้นที่เปิดร้าน ใครที่รู้จักมีพื้นที่ไหนประสานติดต่อขอใช้หมด ไม่ว่าจะเป็นห้องครัวของโบสถ์คริสต์ ร้านรุ่นพี่ย่านทองหล่อที่จะทุบ ร้องขออย่าเพิ่งทุบ หรือหลังศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค มีผับจะปิดตัว ขอนำพื้นที่มาเป็นร้าน เป็นต้น

ภูมิใจที่สู้! ศาสตร์สำเร็จ “แบร์เฮาส์” ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ \'ซารต์-กานต์\'

ลดบทบาทยูทูปเบอร์ เพื่อสวมบทนักธุรกิจเต็มตัว

“ถือเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” อุปสรรคยังมีอีก อย่างการทำชานมกระะป๋องที่เจ๊ง! เป็นอดีตที่เจ็บปวดและให้บทเรียนบทเส้นทางธุรกิจ รวมถึงจุดสตาร์ททำร้านชานมไข่มุกที่อยากชวน “พันธมิตร” ไต้หวันมาลุยตลาดในไทยแต่ถูกปฏิเสธ จนต้องเก็บความอยากถึง 3 ปี เพื่อก่อร่างสร้างธุรกิจด้วย 2 มือ ของทั้งคู่

“4 ปี ภูมิใจกับธุรกิจร้านชานมไข่มุกแบร์เฮาส์ เพราะมันไม่สวยงามตั้งแต่วันแรก เราสู้กับมันมาตลอด มีเหตุการณ์รับมือหนักมากช่วงโควิด เพื่อให้พนักงานมีรายได้ คิดแค่นั้น เราทำชานมกระป๋องขาดทุน 10 กว่าล้านบาท เรื่องจริง..ไม่ไหวแล้ว อยากปิดบริษัท อยากขายมันทิ้ง แต่ปิดไม่ได้ ก็ขอบคุณตัวเองที่สู้ตั้งแต่วันนั้น ภูมิใจที่สู้!”