ศูนย์วิจัย SCB EIC คาดค้าปลีกพุ่ง 10% แตะ 3.7 ล้านล้านบาท ซูเปอร์มาร์เก็ตมาแรง

ศูนย์วิจัย SCB EIC คาดค้าปลีกพุ่ง 10% แตะ 3.7 ล้านล้านบาท ซูเปอร์มาร์เก็ตมาแรง

ศูนย์วิจัย SCB EIC ประเมินธุรกิจค้าปลีกปี 2566 กลับมาฟื้นเติบโต 10% มูลค่าทะลุ 3.7 ล้านล้านบาท ชี้กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มเฮลธ์แอนด์บิวตี้ ยังแข็งแกร่ง ด้านไฮเปอร์มาร์เก็ต สินค้าแฟชั่น ฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อ ต้องระวังเรื่องราคาสินค้า หนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ยขาขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) โดย "ชญานิศ สมสุข" นักวิเคราะห์ SCB EIC ได้มีการประเมินถึงภาพรวม ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยปี 2566 มีการขยายตัวอย่างโตต่อเนื่อง ได้รับปัจจัยบวกจากการกิจกรรมเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคที่กลับมาฟื้นตัว แต่ปัจจัยที่ต้องระวังทั้ง ราคาสินค้าและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง มีผลกระทบต่อกำลังซื้อ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อกลุ่มคนที่ต้องกู้ยืม และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลต่อสินค้านำเข้า

ทั้งนี้ประเมินว่าภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2566 จะขยายตัว 10% มีมูลค่าถึง 3.7 ล้านล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • Modern grocery กลุ่มที่เติบโตดีทั้ง ร้านสะดวกซื้อ (Convenience store:CVS) และ ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) กลับมาสร้างยอดขายมากกว่าก่อนเกิดโควิด โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตได้แรงหนุนจากกำลังซื้อของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง แต่ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางลงมา จึงอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่า เป็นผลมาจากกลุ่มผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่เปราะบางและอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ และความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งประเมินว่า Hypermarket อาจกลับมาสู่ภาวะปกติช่วงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568
  • Department store มีทิศทางฟื้นต่อเนื่อง จากการออกมาใช้ชีวิตปกติของผู้คนมากขึ้น ทำให้มียอดการเข้าห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทย ทั้งจากตลาดอาเซียนและนักท่องเที่ยวจีนเป็นผลดีช่วยเพิ่มยอดขาย ส่วนทิศทางราคาสินค้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายในสินค้าไม่จำเป็นมากขึ้น
  • Health & Beauty มาแรงต่อเนื่อง อานิสงค์สำคัญจากผู้บริโภคสนใจสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น ทั้งสร้างภูมิต้านทาน การดูแลโภชนาการ การฟื้นฟูความเสื่อมสภาพ ทำให้ยอดขายสินค้าเพื่อสุขภาพเติบโต ทั้งวิตามินและอาหารเสริม รวมถึงการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติจึงส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าหมวดความงามกลับมาขยายตัวดี
  • Home & Garden เป็นกลุ่มที่เติบโตดี มาจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่อยู่บ้านมากขึ้น และให้ความสนใจรีโนเวทที่อยู่อาศัย และการโอนที่อยู่อาศัยราคาสูงขยายตัวดี รวมถึงปรับปรุงร้านค้าเพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
  • Apparel & Footwear กลุ่มสินค้าแฟชั่นฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากหลังโควิด ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปไม่ได้มุ่งสินค้าแฟชั่นตามเทรนด์ แต่เน้นความสบายและนำกลับมาใส่ใหม่ได้หลายครั้ง ส่วนราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้กลุ่มผู้บริโภคลดใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย
  • สินค้าที่เกี่ยวข้องกับ ESG โดยมุ่งเน้นไปที่ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากคนหนุ่มสาว เช่น คนที่เกิดในยุค Millennial พร้อมจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อ Sustainable products ที่ยั่งยืน (Sustainable product

แต่ภาพรวมกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปมีปัจจัยกังวลเรื่องสินค้า ESG หลายด้านทั้ง เรื่องด้านราคาที่สูงเกินไป จึงไม่สามารถสนับสนุนความยั่งยืนในการค้าปลีกได้ สินค้าที่มีความยั่งยืนมีให้เลือกน้อย ด้านข้อมูลและความน่าเชื่อถือ ที่ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ Sustainability น้อยเกินไป ส่วนการหาซื้อสินค้าที่ยั่งยืน บางครั้งไม่ได้มีวางจำหน่ายทั่วไป ด้านคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคมองว่าสินค้าที่วางขายอาจมีบางขั้นตอนที่ไม่ได้ผลิตหรือจำหน่ายอย่างยั่งยืนทำให้ชะลอการซื้อสินค้า

ขณะที่ภาค E-commerce มีแนวโน้มโตต่อเนื่องแต่การแข่งขันรุนแรง แต่กลุ่มที่มาแรงจะเป็น Marketplace retailers ที่มีสินค้าที่หลากหลายจากผู้ขายหลายราย อีกด้านคือ Buy Now Pay Later (BNPL) หรือซื้อก่อนจ่ายทีหลัง จะมีมากขึ้นในกลุ่มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ทำให้ผู้ประกอบการ สามารถใช้ BNPL มาเป็นอีกหนึ่งช่องทางการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายของร้านค้า แต่ต้องระมัดระวังเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน