เจาะกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ‘Porto Chino - Porto Go’ ดึงร้านอาหาร-เสริมบริการ

เจาะกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ‘Porto Chino - Porto Go’ ดึงร้านอาหาร-เสริมบริการ

เจาะแผน กลุ่มไลฟ์สไตล์มอลล์ 'พอร์โต้ ชิโน่ (PORTO CHINO)' 'พอร์โต้ โก (Porto Go') เสาหลักค้าปลีกของ 'ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้' ในครึ่งปีหลัง กับการเสริมแกร่งกลุ่มร้านค้าและบริการในครึ่งปีหลัง ดึงตลาดนักท่องเที่ยว คาดหวังลูกค้าโต 30-40%

สำรวจยุทธศาสตร์การปรับธุรกิจของภาคค้าปลีกในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะกลุ่มไลฟ์สไตล์มอลล์ ที่เป็นอีกตลาดที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศกับ แผนสร้างการเติบโตครั้งใหม่

บริษัท ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทผู้พัฒนาโครงการ ไลฟ์สไตล์มอลล์ พอร์โต้ ชิโน่ (PORTO CHINO) สาขาแรกที่เปิดให้บริการในปี 2555 ใช้งบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ต่อมาสาขาสองในปี 2560 กับพอร์โต้ โก (Porto Go) บางปะอินในปี 2560 งบลงทุน 400 ล้านบาท ต่อมาสาขาสาม พอร์โต้ โก ท่าจีนในปี 2562 ใช้งบลงทุนรวม 400 ล้านบาท

 

โดยกำหนดรูปแบบการบริการค้าปลีกในรูปแบบ “ไลฟ์สไตล์มอลล์” ที่รวบรวมทั้งสถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านฟาสต์ฟู้ด และร้านสะดวกซื้อ เพื่อเป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ของคนในพื้นที่จึงมีความแตกต่างจากจุดแวะพักการเดินทาง (RestArea) แห่งอื่นๆ ทั้งในด้านความหลากหลายของสินค้าและบริการ

อีกความแตกต่างการวางยุทธศาสตร์เปิดสาขา (Strategy location) ที่ยึดทำเลตามถนนสายหลักของเมืองท่องเที่ยว จึงมีฐานลูกค้าหลักเป็นตลาดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยสาขา พอร์โต้ ชิโน่ (PORTO CHINO) ตั้งอยู่ที่ ถ.พระราม 2 ทำเลสำคัญในการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงไปยัง สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง หัวหิน ชะอำ เพชรบุรี ส่วน พอร์โต้ โก (Porto Go) ได้กำหนดรูปแบบให้มีทั้งร้านอาหาร ร้านค้า และไดร์ฟทรู (Drive Thru) มาเปิดให้บริหารหลากหลายแบรนด์ ทั้ง สตาร์บัคส์ และแมคโดนัลด์ เป็นต้น มีฐานลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวเช่นกัน

เจาะกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ‘Porto Chino - Porto Go’ ดึงร้านอาหาร-เสริมบริการ

“สุเทพ ปัญญาสาคร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้บริหารโครงการไลฟ์สไตล์มอลล์แห่ง Porto Chino - Porto Go กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าในครึ่งปีหลังมีหลากหลายปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องตลาดนักท่องเที่ยวที่ยังกลับเข้ามาไม่เต็มที่ โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่เป็นชาวจีน รวมถึงติดตามภาพรวมสถานการณ์ในประเทศหลังเลือกตั้ง และสถานการณ์หนี้ครัวเรือน และโลกร้อนที่มีผลต่อภาคการเกษตรของไทย ทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนในหลายด้าน มีผลต่อเนื่องทำให้ภาคเอกชนที่จะมีการลงทุนใหม่ ต้องประเมินและติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมให้ความระมัดระวังตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น”

 

เจาะกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ‘Porto Chino - Porto Go’ ดึงร้านอาหาร-เสริมบริการ

สำหรับแผนการขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์มอลล์ โดย “Porto Chino” ได้วางตำแหน่งเป็น ศูนย์การค้าใกล้บ้าน (neighborhood mall) ที่เข้ามาเติมเต็มกลุ่มร้านอาหาร เข้ามาต่อจิ๊กซอร์การขยายพื้นที่ให้ครอบคลุม ทั้งการดึงร้านค้าใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สุกี้จินดา โดยเป็นแบรนด์ร้านสุกี้ยอดนิยมและกำลังมาแรง และร้านสามเสนวิลล่า พร้อมเพิ่มร้านค้าบริการใหม่ ทั้งร้านทำผม ร้านเสริมสวย ร้านทำเล็บ และร้านรวบรวมของตกแต่งบ้าน เป็นต้น ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มความถี่ของกลุ่มลูกค้าในการเข้ามาใช้บริการ และเพิ่มลูกค้าได้ประมาณ 30%

“เราได้ประเมินภาพรวมตลาดในสมุทรสาครในปีนี้พบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในพื้นที่และกำลังซื้อยังมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการส่งออก ทำให้ได้ต่อยอดดึงร้านอาหารชื่อดังมาเปิด เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในย่านนี้รัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตร ทำให้กลายเป็นจุดนัดพบของคนในพื้นที่เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน"

ขณะที่ Porto Go ที่มีสองสาขาได้แก่ บางปะอิน และ ท่าจีน ได้วางคอนเซปต์ให้เป็น Start trip จัดนัดพบของกลุ่มนักเดินทางที่จะท่องเที่ยวไปในพื้นที่ต่างๆ จึงมุ่งเพิ่มแม็กเน็ตใหม่ๆ เข้ามาเสริมการให้บริการ ทั้งการจัดทำพื้นที่สำหรับเด็ก (Kid Zone) และพื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ (Pet Zone) พร้อมขยายกลุ่มร้านอาหารยอดนิยมจากคนในพื้นที่ท้องถิ่นดึงเข้ามาเปิด ทั้งหมดเป็นการร่วมขยายฐานกลุ่มลูกค้าที่เป็น “ครอบครัว” และ “กลุ่มนักท่องเที่ยว”

“จากการทำไลฟ์สไตล์มอลล์มาหลายปี พบว่า ในแต่ละทำเลมีนักท่องเที่ยวแตกต่างกันอย่างชัดเจน อย่างใน Porto Chino จะมีนักท่องเที่ยวยุโรปเป็นหลัก ส่วนใน Porto Go มีนักท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น จากเอเชีย ประเทศจีน แต่ตลาดหลักยังเป็นกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวคนไทย ทำให้การวางร้านและบริการต่างๆ ต้องสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย”

ทั้งนี้การปรับพื้นที่ใหม่จึงเป็นการร่วมรับมือ ธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีหลัง ที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ที่มีฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญหลายงานและมีช่วงเวลาที่ต้องเฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งประเมินว่าในช่วงไฮซีซั่นยอดนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% จากช่วงปกติ โดยในปัจจุบัน ไลฟ์สไตล์มอลล์ สัดส่วนกลุ่มลูกค้าจะเป็น คนไทย 80% และชาวต่างชาติประมาณ 20%

แผนในการต่อยอดธุรกิจสู่การเปิดไลฟ์สไตล์มอลล์แห่งใหม่นั้น เป็นแผนระยะยาวที่บริษัทได้ศึกษาไว้ แต่ต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศอย่างรอบด้าน ดังนั้นมีโอกาสที่จะเห็นแผนนี้ได้ในปีต่อไป ซึ่งมีหลากหลายทำเลทองที่มีศักยภาพและเป็นโอกาสในการเปิดสาขาใหม่ของบริษัท เช่น พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ทำเลภาคใต้ เป็นต้น