‘ยันฮี’ผนึก ‘โอสถสภา’ เสริมแกร่งการตลาด-กระจายสินค้า

‘ยันฮี’ผนึก ‘โอสถสภา’ เสริมแกร่งการตลาด-กระจายสินค้า

ปัจจุบันโรงพยาบาลมีการกระจายความเสี่ยง ด้วยการรุกธุรกิจที่ไม่ใช่โรงพยาบาลมากขึ้น แต่ละรายมีความแกร่ง หาจิ๊กซอว์ต่อยอดการเติบโตแตกต่างกันไป เช่น แตกไลน์สู่การผลิตยา ทำตลาดสมุนไพร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เป็นต้น

นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยายาลยันฮี และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โอสถสภา ยันฮี เบฟเวอเรจ จำกัด ฉายภาพ ธุรกิจโรงพยาบาลหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาด ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดี นอกจากคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการด้านความงาม รักษาโรคทั่วไป ด้านกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติ เริ่มกลับมาใช้บริการต่างๆของโรงพยาบาลมากขึ้น โดยเฉพาะด้านความงาม ซึ่ง 5 อันดับแรก ได้แก่ เมียนมา เวียดนาม ตะวันออกกลาง จีน และกัมพูชา อีกทั้งยังมีชาวอินโดนีเซีย ญี่ปุ่นเข้ามามากขึ้น

แม้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะเติบโตในทิศทางที่ดี ทว่าตลาดมีการปรับตัวเพื่อกระจายความเสี่ยง หลายโรงพยาบาลหันไปรุกธุรกิจที่ไม่ใช่โรงพยาบาลหรือนอน ฮอสปิทอลมากขึ้น เช่น ผลิตยาทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์) เครื่องดื่ม รวมถึงการแพทย์ทางเลือกหรือ Alternative Medicine และการให้บริการด้านสุขภาพหรือเวลเนส เป็นต้น

"หลายโรงพยาบาลหันมาสนใจสร้างรายได้จากธุรกิจนอนฮอสพิทัล มากขึ้น เพราะการพึ่งพารายได้ขาเดียวจากโรงพยาบาล หากเกิดวิกฤติเหมือนตอนโควิด-19 ระบาด กลายเป็นทางตัน เพราะคนไข้ไม่กล้าเข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาล เนื่องจากกลัวเชื้อไวรัส เราจึงต้องมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สกินแคร์ เครื่องสำอาง น้ำผสมวิตามินมาเสริมเพื่อบาลานซ์รายได้”

‘ยันฮี’ผนึก ‘โอสถสภา’ เสริมแกร่งการตลาด-กระจายสินค้า น้ำผสมวิตามิน แบรนด์ “ยันฮี วิตามิน วอเตอร์” ถือเป็นธุรกิจเครื่องดื่มที่ “ยันฮี” บุกเบิกตลาด และตอบโจทย์ผู้บริโภคมาราว 5 ปัจจุบันยังสร้างการเติบโตครองส่วนแบ่งตลาดท็อป 3 จากตลาดน้ำผสมวิตามินรวมมูลค่า 1,900 ล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อน และแนวโน้มลดความร้อนแรงลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่กังวลโรคโควิด-19 มากเหมือนช่วงระบาดหนัก ซึ่งขณะนั้นมีรายงานมูลค่าตลาดระดับกว่า 2,000 ล้านบาท

 “เราคือรายแรกที่คิดค้นและผลิตน้ำผสมวิตามินวางขายในตลาด และครองเบอร์ 1 ช่วง 5 ปีแรก ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นเข้ามาทำตลาดเพิ่มเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ตระหนักเรื่องสุขภาพ”

ต้นปี 2565 บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่ม ยังร่วมทุนกับ “โอสถสภา” เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยโอสถสภาถือหุ้น 55% และยันฮี ถือหุ้น 45% เพื่อผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนประุกอบของสมุนไพร ทำตลาด นำร่องน้ำกัญชายันฮี ล่าสุด เดินหน้าเปิดตัวเครื่องดื่ม “ยันฮี แคลเซียม วอเตอร์” เสริมพอร์ตโฟลิโอ

จุดเด่นยันฮี แคลเซียม วอเตอร์ ต้องการกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายตระหนักการบริโภค “แคลเซียม” มากขึ้น เนื่องจากการขาดแคลเซียม มีผลกระทบต่อสุขภาพ นำไปสู่ภาวะกระดูบาง และโรคกระดูกพรุน เป็นต้น ซึ่งปีนี้วางงบ 60 ล้านบาท เพื่อทำตลาด เช่น จัด “โครงการเสริมสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรง” หาอาสาสมัครอายุ 30-60 ปี มาทดลองสินค้าเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อหาวัดค่ามวลกระดูกก่อนและหลังบริโภค ยันฮี แคลเซียม วอเตอร์

ปลายปี 2566 บริษัทยังมีแผนออกเครื่องดื่มใหม่ 2 รายการบุกตลาดด้วย ซึ่งกันยายนนี้จะเห็น “ยันฮี แอลคาร์นิทีน วอเตอร์”

ปัจจุบันโรงงานผลิตเครื่องดื่มยันฮี ฯ มีกำลังการผลิตได้ถึง 300 ล้านขวดต่อปี เบื้องต้นผลิตราว 100 ล้านขวดต่อปี ขณะที่การผนึก “โอสถสภา” เป็นจิ๊กซอว์เสริม “กระดูกสันหลัง” หรือมุ่งกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทุกช่องทางจำหน่ายตั้งแต่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าทั่วไป และร้านโชว์ห่วยทั่วประเทศ

‘ยันฮี’ผนึก ‘โอสถสภา’ เสริมแกร่งการตลาด-กระจายสินค้า “ยันฮีเป็นแบรนด์ที่แกร่ง โดดเด่ยด้านความสวยงาม การบริการ จึงขยายต่อยอดสู่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และการจับมือกับโอสถสภา มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อพัฒนาสินค้าที่เสริมสุขภาพ การนำแบรนด์ยันฮีไปอยู่บนเครื่องดื่ม ถือเป็นการนำชื่อไปการันตีถึงคุณประโยชน์ ส่วนโอสถสภาเก่งการตลาด และแข็งแกร่งด้านการกระจายสินค้า เพราะมีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ”

ส่วนความแผนการขยายธุรกิจโรงพยายาล บริษัทเตรียมงบลงทุน 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงอาคารต่างๆของโรงพยาบาล เพราะบางส่วนให้บริการมาอย่างยาวนานสอดคล้องเส้นทางธุรกิจ “ยันฮี” อายุ 38 ปีแล้ว

“การลงทุน 100 ล้านบาท จะทยอยใช้เพื่อปรับปรุงโรงพยาบาลยันฮีภายใต้ระยะเวลา 3 ปี”

สำหรับปี 2565 โรงพยาบาลยันฮี มีรายได้ราว 2,000 ล้านบาท กลับมาเติบโตเกือบเท่าปี 2562 ก่อนช่วงโควิดระบาด โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจโรงพยาบาล และยังมีรายได้จากธุรกิจยา ธุรกิจเครื่องดื่ม และธุรกิจพลังงาน(โซลาร์ เซลล์)

“ในภาวะปกติโรงพยาบาลทำรายได้สูงสุด แต่เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น การชุมนุม(ปิดสนามบิน)รายได้แทบเป็นศูนย์ ธุรกิจยาและเครื่องดื่มมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนโซลาร์ เซลล์ ถือว่ามีเสถียรภาพ”